วันพฤหัสบดีที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2555

จังหวัดพิษณุโลก


ประวัติศาสตร์จังหวัดพิษณุโลก

     พิษณุโลกเป็นเมืองที่มีประวัติอันยาวนานควบคู่มากับประวัติศาสตร์ของไทย โดยมีชื่อเรียกต่าง ๆ กันในศิลาจารึก ตำนาน นิทาน และพงศาวดาร เช่น สองแคว สระหลวง สองแควทวิสาขะ ไทยวนที อกแตก การเปลี่ยนชื่อเป็น “พิษณุโลก” มาเปลี่ยนในรัชสมัยของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ

สมัยก่อนกรุงสุโขทัย
     ก่อนที่ราชวงศ์พระร่วงซึ่งมีพ่อขุนศรีอินทราทิตย์เป็นต้นราชวงศ์ ขึ้นครองกรุงสุโขทัย เมื่อปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๘ นั้น ราชวงศ์ที่มีอำนาจครอบคลุมดินแดนแถบนี้ คือ ราชวงศ์ศรีนาวนำถม  พ่อขุนศรีนาวนำถมเสวยราชเมืองเชลียงตั้งแต่ราว พ.ศ. ๑๗๖๒ พระองค์มีพระโอรส ๒ พระองค์ คือ  พ่อขุนผาเมืองครองเมืองราด  และพระยาคำแหงพระราม  ครองเมืองพิษณุโลก  ภายหลังจากที่พ่อขุน-ศรีนาวนำถมสิ้นพระชนม์ ขอมสมาดโขลณลำพง เข้ายึดเมืองศรีสัชนาลัยสุโขทัยไว้ได้ พ่อขุนผาเมืองและพระสหาย คือพ่อขุนบางกลางหาว ร่วมกันปราบปรามจนได้ชัยชนะ พ่อขุนผาเมืองจึงยกเมืองสุโขทัยให้ขุนบางกลางหาว ตั้งราชวงศ์พระร่วงครองเมืองสุโขทัย  และได้เฉลิมพระนามเป็นพ่อขุนศรี-  อินทราทิตย์

สมัยกรุงสุโขทัย
     เมืองสองแคว (พิษณุโลก) อยู่ในอำนาจของราชวงศ์ผาเมืองจนกระทั่งในรัชกาลพ่อขุนราม-คำแหงมหาราช  จึงได้ยึดเป็นสองแคว  เดิมเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรสุโขทัย  ครั้นสมัยพระมหา-ธรรมราชาที่ ๑ (ลิไท) ได้เสด็จมาประทับที่เมืองสองแคว พระองค์ท่านได้เอาพระทัยใส่ทำนุบำรุงความเจริญ เป็นอย่างยิ่ง เช่น การสร้างเหมืองฝายสนับสนุนให้มีการขยายพื้นที่เพาะปลูก สร้างทางคมนาคมจากเมืองพิษณุโลก ไปสุโขทัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งได้มีการสร้างพระพุทธชินราช พระพุทธชินศรี พระศาสดา เพื่อประดิษฐานไว้ในพระวิหารพระศรีรัตนมหาธาตุ
     ความเจริญรุ่งเรืองของเมืองพิษณุโลก ในช่วงที่พระเจ้าลิไทเสด็จมาประทับเท่าที่หลักฐานเหลืออยู่ น่าจะชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของพิษณุโลกในช่วงนี้โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเป็นศูนย์กลางการติดต่อที่สำคัญของลุ่มแม่น้ำน่าน
     พิษณุโลกในช่วงรัชกาลพระเจ้าศรีสุริยวงศ์บรมปาลไม่พบหลักฐานว่าได้มีบทบาทนอกเหนือไปจากเมืองหลวงของรัฐกันชนเล็ก ๆ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่พระองค์ทรงสร้างไว้สำหรับเป็นอนุสาวรีย์ ซึ่งยังคงอยู่ทุกวันนี้ คือ การสร้างรอยพระพุทธบาทคู่พร้อมกับศิลาจารึก ไว้ที่เมืองพิษณุโลก เมื่อปี พ.ศ. ๑๙๗๐ พระองค์สิ้นพระชนม์ในปี พ.ศ. ๑๙๘๑ ที่เมืองพิษณุโลก พระยาอุธิษเฐียรโอรสของพระยารามได้ครองราชย์ที่เมืองพิษณุโลก ต่อมาระหว่าง พ.ศ. ๑๙๘๑ - ๑๙๙๔ จึงเอาใจออกห่างเป็นกบฏ พาพลเมืองไปร่วมกับพระเจ้าเชียงใหม่ ทางอยุธยาจึงส่งเจ้านายขึ้นมาปกครองเมืองพิษณุโลก แล้วผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรอยุธยา

สมัยกรุงศรีอยุธยา
     พิษณุโลกสมัยอยุธยามีความสำคัญยิ่งทางด้านการเมือง การปกครองยุทธศาสตร์ เศรษฐกิจ ศาสนาและศิลปวัฒนธรรม พิษณุโลกเป็นราชธานีในรัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๐๐๖–๒๐๓๑ รวมเวลา ๒๕ ปี นับว่าระยะนี้เป็นยุคทองของพิษณุโลก ในรัชสมัยของสมเด็จ-พระนเรศวรมหาราช ครั้งดำรงตำแหน่งพระมหาอุปราช ณ เมืองพิษณุโลก ระหว่าง พ.ศ. ๒๑๑๒–๒๑๓๓ ได้ทรงปลุกสำนึกให้ชาวพิษณุโลกเป็นนักรบกอบกู้เอกราชเพื่อชาติไทย ทรงสถาปนาพิษณุโลกเป็นเมืองเอก เป็นการสานต่อความเจริญรุ่งเรืองจากอดีตมาจนถึงปัจจุบัน
     ในด้านเศรษฐกิจ เนื่องจากพิษณุโลกตั้งอยู่บนเส้นทางระหว่างรัฐทางเหนือคือ ล้านนาและกรุงศรีอยุธยาทางใต้ ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐทั้งสองบางครั้งเป็นไมตรีกันบางครั้งขัดแย้งกันทำสงครามต่อกัน มีผลให้พิษณุโลกได้รับอิทธิพลทางวัฒนธรรมประเพณีจากทั้ง ๒ รัฐ โดยเฉพาะทางด้านเศรษฐกิจ พิษณุโลกเป็นเส้นทางผ่านสินค้าของป่า และผลิตผลทางเกษตร รวมทั้งเครื่องถ้วย โดยอาศัยการคมนาคมผ่านลำน้ำน่านสู่กรุงศรีอยุธยา ซึ่งขณะนั้นเป็นศูนย์กลางของการค้านานาชาติแห่งหนึ่ง ในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ในปัจจุบันที่พิษณุโลกมีหลักฐานชัดเจนว่าเป็นแหล่งผลิตเครื่องถ้วยคุณภาพดี ซึ่งมีอยู่ทั่วไปตามบริเวณฝั่งแม่น้ำน่านและแม่น้ำแควน้อย โดยเฉพาะที่วัดตาปะขาวหาย พบเตาเผาเครื่องถ้วยเป็นจำนวนมาก พร้อมทั้งเครื่องถ้วยจำพวกโอ่ง อ่าง ไห ฯลฯ เครื่องถ้วยเหล่านี้  นอกจากจะใช้ในท้องถิ่นแล้วยังเป็นสินค้าส่งออกไปขายต่างประเทศด้วย  วินิจฉัยว่าน่าจะเป็นแหล่ง   อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ นับว่าพิษณุโลกมีความสำคัญยิ่งทางเศรษฐกิจ คือ เป็นแหล่งทรัพยากรของกรุงศรีอยุธยา
     ด้านการปกครอง สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถปฏิรูปการปกครองครั้งใหญ่จัดระเบียบการปกครองที่เรียกว่า จตุสดมภ์ ได้แก่ เวียง วัง คลัง นา มีอัครเสนาบดีเป็นผู้ช่วยในการบริหารงาน  คือ สมุหกลาโหม และสมุหนายก แบ่งเขตการปกครองออกเป็น ๓ ฝ่าย คือ หัวเมืองฝ่ายเหนือ  อยู่ในความดูแลของสมุหนายก หัวเมืองฝ่ายใต้อยู่ในความดูแลของสมุหกลาโหม และหัวเมืองชายทะเลอยู่ในความดูแลของกรมท่า  ด้านศาสนานั้น แม้ว่าเมืองพิษณุโลก  จะเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญในสงครามระหว่างอาณาจักรล้านนา-อยุธยา และพม่า-กรุงศรีอยุธยา มาโดยตลอดแต่การพระศาสนาก็มิได้ถูกละเลย ดังปรากฏหลักฐานทางโบราณวัตถุสถาน ชี้ให้เห็นชัดเจนว่าพระพุทธรูป และวัดที่ปรากฏในปัจจุบัน เช่น พระพุทธชินราช พระพุทธชินศรี พระศรีศาสดา วัดพระรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร (วัดใหญ่) วัดจุฬามณี วัดอรัญญิก วัดนางพญา และวัดเจดีย์ยอดทอง เป็นต้น ล้วนแต่เป็นศิลปกรรมสมัยอยุธยา หรือมิฉะนั้นก็ได้มีการบูรณะปฏิสังขรณ์ของเดิมที่มีมาครั้งกรุงสุโขทัย แสดงว่าด้านพระศาสนาได้มีการทำนุบำรุงมาโดยตลอด
ในรัชกาลสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถได้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างอาคารวัดจุฬามณีขึ้นใน พ.ศ. ๒๐๐๗ และพระองค์ได้ทรงสละราชสมบัติออกผนวช ณ วัดจุฬามณี อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก เมื่อปี พ.ศ. ๒๐๐๘ เป็นเวลา ๘ เดือน ๑๕ วัน มีข้าราชบริพารตามเสด็จออกบวชถึง ๒,๓๔๘ รูป และในปี พ.ศ. ๒๐๒๕ ทรงมีพระบรมราชโองการให้บูรณะพระศรีรัตนมหาธาตุ ที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหา-วิหาร และให้มีการสมโภชน์ถึง ๑๕ วัน พร้อมกันนั้นก็โปรดฯ ให้นักปราชญ์ราชบัณฑิตแต่งมหาชาติคำหลวง จบ ๑๓ กัณฑ์บริบูรณ์ด้วย ต่อมาในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราชได้ทรงสร้าง รอยพระพุทธบาทจำลอง เมื่อ พ.ศ. ๒๒๒๒ และโปรดเกล้าฯ ให้ประดิษฐานไว้ ณ วัดจุฬามณี พร้อมทั้งจารึกเหตุกาณ์สำคัญทางศาสนาในสมัยพระบรมไตรโลกนาถไว้บนแผ่นศิลาด้วย
     ด้านวรรณกรรม หนังสือมหาชาติคำหลวง   ได้รับการยกย่องจากวงวรรณกรรมว่าเป็น   วรรณคดีโบราณชั้นเยี่ยม นอกจากนี้ยังมีวรรณคดีสำคัญที่นักปราชญ์เชื่อว่านิพนธ์ขึ้นใน รัชสมัยสมเด็จ-พระบรมไตรโลกนาถ เช่น ลิลิตยวนพ่าย ลิลิตพระลอ โคลงทวาทศมาศและกำศรวลศรีปราชญ์ เป็นต้น
เมืองพิษณุโลกในสมัยอยุธยาเคยเป็นทั้งเมืองราชธานี เมืองลูกหลวงและเมืองเอก ฉะนั้นจึงได้รับความอุปถัมภ์ทนุบำรุงในทุก ๆ ด้านสืบต่อกันมา นอกจากบางระยะเวลาที่พิษณุโลกอยู่ในภาวะสงคราม โดยเฉพาะสงครามเสียกรุงศรีอยุธยาทั้ง ๒ ครั้ง ความรุ่งเรืองที่เคยปรากฏก็ถดถอยลงบ้าง แต่ในที่สุดก็หล่อหลอมเป็นวัฒนธรรมของชาวไทยมาจนถึงปัจจุบันนี้

สมัยกรุงธนบุรี
     สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ทรงเห็นว่าพิษณุโลกเป็นเมืองยุทธศาสตร์ที่สำคัญควรมีผู้ที่เข้ม-แข็งที่มีความสามารถเป็นเจ้าเมืองจึงทรงแต่งตั้งพระยายมราช (กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท) เป็น “เจ้าพระยาสุรสีห์พิษณุวาธิราช” สำเร็จราชการเมืองพิษณุโลก โดยขึ้นต่อกรุงธนบุรี เมื่อได้ทรงแต่งตั้งผู้ปกครองหัวเมืองฝ่ายเหนือจนครบถ้วนแล้ว จึงเสด็จกลับไปยังกรุงธนบุรี
     พ.ศ. ๒๓๑๘ อะแซหวุ่นกี้แม่ทัพพม่าผู้ชำนาญการรบ ได้วางแผนยกทัพมาตีหัวเมืองฝ่ายเหนือของไทยตีได้เมืองตาก เมืองสวรรคโลก บ้านกงธานี และมาพักกองทัพอยู่ที่กรุงสุโขทัย ขณะนั้นเจ้าพระยาจักรีและเจ้าพระยาสุรสีห์ฯ กำลังยกกองทัพขึ้นไปตีเชียงแสน เมื่อทราบข่าวศึกจึงรีบยกทัพกลับมารับทัพพม่าที่เมืองพิษณุโลก ก่อนที่อะแซหวุ่นกี้ยกทัพมาตั้งค่ายรายล้อมเมืองพิษณุโลก กองทัพพม่าพยายามเข้าตีค่ายไทยหลายครั้ง แต่เจ้าพระยาจักรีและเจ้าพระยาสุรสีห์ ได้ช่วยป้องกันเมืองเป็นสามารถ ทั้ง ๆ ที่มีทหารน้อยกว่า แต่ไม่สามารถจะชนะกันได้ อะแซหวุ่นกี้ถึงกับยกย่องแม่ทัพฝ่ายไทยและขอให้ทั้งสองฝ่ายหยุดรบกัน ๑ วัน ทหารทั้งสองฝ่ายรับประทานอาหารร่วมกันด้วย เมื่อแม่ทัพไทยและแม่ทัพพม่ายืนม้าเจรจากันในสนามรบ อะแซหวุ่นกี้เห็นรูปร่างลักษณะของเจ้าพระยาจักรี แล้วจึงได้กล่าวสรรเสริญว่า “…ท่านนี้รูปงาม ฝีมือก็เข้มแข็ง อาจสู้รบกับเราผู้เป็นผู้เฒ่าได้ จงอุตส่าห์รักษาตัวไว้ภายหน้าจะได้เป็นกษัตริย์…” และบอกเจ้าพระยาจักรีว่า “…จงรักษาเมืองไว้ให้มั่นคงเถิดเราจะตีเอาเมืองพิษณุโลกให้จงได้ในครั้งนี้”
     สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี เมื่อทราบข่าวอะแซหวุ่นกี้ยกกองทัพใหญ่มาตีหัวเมืองฝ่ายเหนือของไทย พระองค์จึงยกทัพใหญ่ขึ้นไปช่วยหัวเมืองฝ่ายเหนือทันที
ฝ่ายอะแซหวุ่นกี้ ทราบว่ากองทัพไทยมาตั้งค่ายเพื่อช่วยเหลือเมืองพิษณุโลก จึงแบ่งกำลังพลไปตั้งมั่นที่วัดจุฬามณีทางฝั่งตะวันตก อะแซหวุ่นกี้เห็นว่าถ้าชักช้าไม่ทันการณ์ จึงสั่งให้ทัพพม่าที่กรุงสุโขทัยไปตีเมืองกำแพงเพชร กองทัพเมืองกำแพงเพชรยกไปตีเมืองนครสวรรค์ และสั่งให้กองทัพพม่าอีกกองหนึ่งยกไปตีกรุงธนบุรี การวางแผนของอะแซหวุ่นกี้เช่นนี้เป็นการตัดกำลังฝ่ายไทย ไม่ให้ช่วยเมืองพิษณุโลก และต้องการให้กองทัพไทยระส่ำระสาย
ในที่สุดสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงมีพระราชดำริ เห็นว่าไทยเสียเปรียบเพราะมีกำลังทหารน้อยกว่า จึงควรถอยทัพกลับไปตั้งมั่นรับทัพพม่าที่กรุงธนบุรี เจ้าพระยาจักรีเห็นว่าไทยขาดเสบียงอาหารและใกล้จะหมดทางสู้ จึงตัดสินใจพาไพร่พลและประชาชนชายหญิงทั้งหมด ตีหักค่ายพม่าออกจากเมืองพิษณุโลกไปทางทิศตะวันออกได้สำเร็จพาทัพผ่านบ้านมุง บ้านดงชมพู ข้ามเขาบรรทัด ไปตั้งรวมรี้พลอยู่ที่เมืองเพชรบูรณ์  พม่าล้อมเมืองพิษณุโลกอยู่นานถึง ๔ เดือน เมื่อเข้าเมืองได้ก็พบแต่เมืองร้าง อะแซหวุ่นกี้จึงสั่งเผาผลาญทำลายบ้านเมืองพิษณุโลกพินาศจนหมดสิ้น คงเหลือเฉพาะวัดพระศรีรัตนมหาธาตุเท่านั้น

สมัยกรุงรัตนโกสินทร์
     สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้นนั้น ตั้งแต่ช่วงของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกจนถึงก่อนการปฏิรูปการปกครองในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ยังคงจัดระเบียบการปกครองออกเป็นจตุสดมภ์ แต่ในส่วนภูมิภาค มีการแบ่งเขตการปกครองเป็นหัวเมืองชั้นใน       หัวเมืองชั้นนอก และเมืองประเทศราช
     เมืองพิษณุโลกมีฐานะเป็นเมืองเอก ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในหัวเมืองฝ่ายเหนือของประเทศไทย มีประชากรทั้งสิ้นประมาณ ๑๕,๐๐๐ คน ซึ่งเป็นชาวจีนประมาณ ๑,๑๑๒ คน และมีเมืองต่าง ๆ อยู่ในอำนาจการปกครองดูแลหลายหัวเมืองด้วยกันคือ เมืองนครไทย ไทยบุรี ศรีภิรมย์ พรหมพิราม ชุมสอนสำแดง ชุมแสงสงครามพิบูล พิพัฒน์ นครชุม ทศการ นครพามาก เมืองการ เมืองคำ ประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพสำคัญ คือ ทำนา ทำไร่ หาของป่า ทำไม้ และการเกณฑ์แรงงานไพร่ พ.ศ. ๒๔๐๙ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระอุตสาหะเสด็จประพาสเมืองเหนืออีกครั้งหนึ่ง โดยเสด็จทางเรือพระทั่นั่งอรรคราชวรเดชและพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะนั้นกำลังทรงผนวชเป็นสามเณรก็ได้ตามเสด็จมาด้วย เมื่อเสด็จถึงเมืองพิษณุโลกได้ทรงประทับและทรงสมโภชพระพุทธชินราชอยู่ ๒ วัน จึงเสด็จกลับ ต่อมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๔ รัชกาลที่ ๕ และรัชกาลที่ ๖ (เมื่อครั้งยังดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช) ได้เสด็จประพาสเมืองพิษณุโลก ทุกพระองค์ได้ทรงพระราชนิพนธ์เรื่องราวต่าง ๆ ที่พระองค์ได้เสด็จไปทอดพระเนตรในระหว่างเสด็จ-ประพาส เช่น เรื่องเที่ยวเมืองพระร่วง พระราชปรารภเรื่องพระพุทธชินราช และเรื่องลิลิตพายัพ เป็นต้น เอกสารดังกล่าวนี้ ปัจจุบันมีคุณค่าอย่างยิ่งทางด้านประวัติศาสตร์ ส่วนรัชกาลที่ ๕ นั้นพระองค์ทรงประทับใจในความศักดิ์สิทธิ์และความสวยงามขององค์พระพุทธชินราช ถึงกับโปรดให้จำลองพระพุทธรูปพระพุทธชินราชไปเป็นประธานในพระอุโบสถวัดเบญจมบพิตร ซึ่งพระองค์ทรงสร้างขึ้นในสมัยนั้น


*************************************************************************************************************************************************
     ประวัติการบริหารการปกครองจังหวัดพิษณุโลก . พิษณุโลก : สำนักงานจังหวัดพิษณุโลก, ๒๕๓๗ .

จังหวัดแพร่


ประวัติศาสตร์จังหวัดแพร่


     เมืองแพร่เป็นเมืองโบราณสร้างมาช้านานแล้วตั้งแต่อดีตกาล แต่ยังไม่ปรากฏหลักฐาน    แน่ชัดว่าสร้างขึ้นในสมัยใดและใครเป็นผู้สร้าง
     เมืองแพร่เป็นเมืองที่ไม่มีประวัติของตนเองจารึกไว้ในที่ใดๆ โดยเฉพาะ นอกจากปรากฏในตำนาน พงศาวดาร และจารึกของเมืองอื่นๆ บ้างเพียงเล็กน้อย ดังจะกล่าวรายละเอียดในตอนต่อไป
จากการศึกษาค้นคว้าและตรวจสอบหลักฐานจากตำนานเมืองเหนือ พงศาวดารโยนก และศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง เมืองแพร่น่าจะสร้างยุคเดียวกันกับกรุงสุโขทัย เชียงใหม่ ลำพูน พะเยา น่าน ซึ่งบ้านเมืองของเมืองแพร่ในยุคนั้นคงไม่กว้างขวางและมีผู้คนมากมายเหมือนปัจจุบัน
เมืองแพร่มีชื่อเรียกกันหลายอย่าง ตำนานเมืองเหนือเรียกว่า “พลนคร” หรือ “เมืองพล”
ดังปรากฏในตำนานสร้างพระธาตุลำปางหลวงว่า
     “เบื้องหน้าแต่นั้นนานมา ยังมีพระยาสามนตราชองค์หนึ่ง เสวยราชสมบัติในพลรัฐนคร อันมีในที่ใกล้กันกับลัมภกัปปะนคร (ลำปาง) นี่ ทราบว่าสรีรพระธาตุพระพุทธเจ้ามีในลัมภกัปปะนคร
ก็ปรารถนาจะใคร่ได้”
     ในสมัยขอมเรืองอำนาจ ราว พ.ศ. ๑๔๗๐ - ๑๕๔๐ นั้น พระนางจามเทวีได้แผ่อำนาจเข้าครอบครองดินแดนในเขตลานนา ได้เปลี่ยนชื่อเมืองในเขตลานนาเป็นภาษาเขมร เช่น ลำพูนเป็น      หริภุญไชย น่านเป็นนันทบุรี เมืองแพร่เป็นโกศัยนคร หรือนครโกศัย
ชื่อที่ปรากฏในศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง เรียกว่า “เมืองพล” และได้กลายเสียงตามหลักภาษาศาสตร์เป็น “แพร่” ชาวเมืองนิยมออกเสียงว่า “แป้”

เมืองแพร่สมัยก่อนกรุงสุโขทัย
     จุลศักราช ๔๒๑-๔๘๐ (พ.ศ. ๑๖๕๔-พ.ศ. ๑๗๗๓) พงศาวดารโยนก กล่าวถึงเมืองแพร่ว่า
“จุลศักราช ๔๖๑ (พ.ศ. ๑๖๕๔) ขุนจอมธรรมผู้ครองเมืองพะเยา เมื่อครองเมืองพะเยาได้ ๓ ปี ก็เกิดโอรสองค์หนึ่ง ขนานนามว่า เจื๋อง ต่อมาได้เป็น ขุนเจื๋อง”
พอขุนเจื๋องอายุได้ ๑๖ ปี ไปคล้องช้าง ณ เมืองน่าน พระยาน่านตนชื่อว่า “พละเทวะ” ยกราชธิดาผู้ชื่อว่า นางจันทร์เทวีให้เป็นภรรยาขุนเจื๋อง แล้วขุนเจื๋องก็ไปคล้องช้าง ณ เมืองแพร่ พระยาแพร่คนชื่อ พรหมวงศ์ ยกราชธิดาผู้ชื่อว่า นางแก้วกษัตรีย์ให้ขุนเจื๋อง  พงศาวดารเมืองเงินยางเชียงแสนกล่าวถึงความตอนนี้ว่า เมื่อตติยศักราช ๔๒๑ ขุนเจียงประสูติ ครั้นอายุได้ ๑๗ ปี ไปคล้องช้างที่เมืองแพร่ พญาแพร่ชื่อ พรหมวังโส ยกลูกสาวชื่อ นางแก้วอิสัตรีให้ขุนเจียงพร้อมกับช้างอีก ๕๐ เชือก
แทรกกล่าว จากพงศาวดารทั้ง ๒ ฉบับดังกล่าว จะเห็นได้ว่าเมืองแพร่เป็นเมืองที่สร้างขึ้นแล้วในระหว่างจุลศักราช ๔๒๑ - ๔๖๑ (พ.ศ. ๑๖๑๔ - ๑๖๕๔) แต่คงเป็นเมืองขนาดเล็กและจะต้องเล็กกว่าเมืองพะเยาด้วย
     อนึ่ง ในระหว่างจุลศักราช ๔๖๒ - ๔๘๐ (พ.ศ. ๑๖๕๕ - พ.ศ. ๑๗๗๓) เมืองแพร่อยู่ในอำนาจการปกครองของขอมเพราะในระยะเวลาดังกล่าว ขอมเรืองอำนาจอยู่ในอาณาจักรลานนาไทย
มีข้อน่าสังเกตว่าในระยะที่ขอมเรืองอำนาจได้เปลี่ยนชื่อเมืองแพร่เป็นโกศัยนคร (โกศัยหมายถึงผ้าแพรเนื้อดี) แต่ไม่มีเหตุการณ์สำคัญอะไรปรากฏให้เห็น


     เมืองแพร่สมัยกรุงสุโขทัย (จุลศักราช ๔๘๐ - ๖๒๙ พ.ศ. ๑๗๗๓ - พ.ศ. ๑๙๒๒)
จุลศักราช ๔๘๐ พ.ศ. ๑๗๗๓ เมื่อขอมเสื่อมอำนาจลง พ่อขุนบางกลางท่าวและขุนผาเมืองได้รวมกันลงเข้าด้วยกันยกเข้าตีกรุงสุโขทัย ซึ่งตอนนั้นเป็นเมืองหน้าด่านของขอม
จุลศักราช ๕๐๗ พ.ศ. ๑๘๐๐ ฝ่ายไทย คือ พ่อขุนบางกลางท่าวมีชัยชนะแก่พวกขอม พ่อขุนบางกลางท่าวประกาศตนเป็นอิสระ ยกเมืองสุโขทัยเป็นราชธานีของเมืองไทย
หัวเมืองต่างๆ ในเขตลานนา ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน พะเยา ลำปาง แพร่ น่าน จึงต่างเป็นอิสระไม่ยอมขึ้นแก่ใคร
     จุลศักราช ๕๒๗ พ.ศ. ๑๘๒๐ พ่อขุนรามคำแหงได้ขยายอาณาเขตออกไปอย่าง       กว้างขวางดังปรากฏในศิลาจารึก กล่าวว่า
“๐ …. เบ๋อง (  ตนนวนรอด    เมองแพล  เมองม่าน    เมองน ….   เมองพลาว ….)”
หอสมุดแห่งชาติถอดความได้ว่า     “เบื้องตีนนอนรอดเมืองแพล เมืองม่าน เมืองน่าน เมืองพลัว”
แทรกกล่าว เมื่อพิจารณาตามสภาพภูมิศาสตร์ “เมืองแพล” ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของกรุงสุโขทัย และเมืองที่อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเมืองแพร่ คือ เมืองน่าน
ดังนั้น จึงกล่าวได้ว่า “เมืองแพล” ที่ปรากฏในศิลาจารึกก็คือ “เมืองแพร่” นั่นเอง
จุลศักราช ๖๒๙ พ.ศ. ๑๙๒๒ แผ่นดินสมัยพระเจ้าไสยลือไท สมเด็จพระบรมราชาธิราช (พะงั่ว) กษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยาได้ยกทัพขึ้นมาตีกรุงสุโขทัยและได้ชัยชนะ กรุงสุโขทัยจึงตกอยู่ใต้อำนาจของกรุงศรีอยุธยา เมืองแพร่จึงตั้งตนเป็นอิสระอีกครั้งหนึ่ง

พงศาวดารเมืองน่าน กล่าวถึงเมืองแพร่ว่า
     จุลศักราช ๖๕๒ พ.ศ. ๑๙๕๔ สมัยเจ้าศรีจันต๊ะครองเมืองน่านได้ ๑ ปี ก็มีพระยาแพร่สองคนพี่น้อง คนพี่ชื่อพระยาเถร คนน้องชื่อพระยาอุ่นเมือง ยกกองทัพไปตีเมืองน่าน จับตัวเจ้าศรีจันต๊ะฆ่าเสียแล้วพระยาเถรก็ขึ้นครองเมืองน่านแทน
     ฝ่ายอนุชาของเจ้าศรีจันต๊ะ ชื่อเจ้าหุง หนีไปพึ่งพระยาชะเลียงที่เมืองชะเลียง (ซึ่งขณะนั้นเมืองชะเลียงขึ้นต่อพระเจ้าไสยฤาไท แห่งกรุงสุโขทัย)
พระยาเถร ครองเมืองน่านได้ ๖ เดือนกับ ๙ วัน ก็ล้มป่วยเป็นไข้โลหิตออกจากรูขุมขนถึงแก่กรรม พระยาอุ่นเมืองผู้น้องจึงครองเมืองน่านแทน  พระยาอุ่นเมือง ครองเมืองน่านได้เพียง ๑ ปี เจ้าหุงอนุชาของเจ้าศรีจันต๊ะก็คุมพลชาวชะเลียงยกมารบพุ่งชิงเอาเมืองคืน เจ้าหุงจับตัวพระยาอุ่นเมืองได้นำไปถวายพระยาใต้และถูกกักตัวไว้ที่เมืองชะเลียงเป็นเวลาถึง ๑๐ ปี และถึงแก่กรรมที่นั่นด้วย
ตำนานเมืองเหนือ กล่าวว่า
     ในสมัยพระเจ้าติโลกราช จุลศักราช ๘๐๕ พ.ศ. ๑๙๘๖ กษัตริย์เมืองเชียงใหม่ยก     กองทัพไปตีเมืองน่านและได้ชัยชนะ พญาอินต๊ะแก่น เจ้าเมืองน่านหนีไปเมืองชะเลียง
     ขณะที่พระองค์กำลังตีเมืองน่านอยู่นั้น ได้แต่งกองทัพให้พระมหาเทวีผู้มารดายกไปตีเมืองแพร่ พระมหาเทวียกกองทัพไปถึงเมืองแพร่ก็ให้ทหารล้อมไว้
     ฝ่ายท้าวแม่คุณ เจ้าเมืองแพร่ เห็นกำลังทหารของกองทัพเชียงใหม่เข้มแข็งกว่าจึงออกไปอ่อนน้อมต่อพระมหาเทวี และพระมหาเทวีก็ให้ท้าวแม่คุณครองเมืองแพร่ดังเดิม
พงศาวดารโยนก กล่าวถึงความตอนนี้และแตกต่างไปจากตำนานเมืองเหนือว่า  จุลศักราช ๘๐๕ พ.ศ. ๑๙๘๖ พระเจ้าติโลกราชแห่งนครเชียงใหม่ได้ทรงทราบว่าเจ้ามืองน่านได้กระทำเหตุหลอกลวงพระองค์ ดังนั้นก็ทรงพระพิโรธ จึงเสด็จยกทัพหลวงไปตีเมืองน่าน กองทัพยกออกจากเมืองเชียงใหม่ในวันขึ้น ๑๓ ค่ำ เดือนยี่ ปีกุน เบญจศก แล้วแบ่งกองทัพให้พระมหาเทวีผู้เป็นชนนียกไปตีเมืองแพร่อีกทัพหนึ่ง
กองทัพพระมหาเทวียกมาถึงเมืองแพร่ ก็แต่งทหารเข้าล้อมเมืองแพร่ไว้ มีหนังสือแจ้งเข้าไปให้เจ้าเมืองแพร่ออกมาถวายบังคม
     ฝ่ายท้าวแม่คุณ ผู้ครองเมืองแพร่ก็แต่งพลรักษาเมืองมั่นไว้ไม่ออกไปถวายบังคมและไม่ออกต่อรบกองทัพเชียงใหม่จะหักเอาเมืองแพร่ก็มิได้ นายทัพนายกองทั้งหลายจึงคิดทำปืนปู่เจ้ายิงเข้าไปในเมืองแพร่ นัดแรกกระสุนต้องต้นตาลใหญ่ในเมืองแพร่หักเพียงคอ นัดที่สองถูกกลางต้นตาลหักโค่นลง ท้าวแม่คุณเห็นดังนั้นก็ตกใจกลัว จึงออกไปถวายบังคมต่อพระมหาเทวี พระมหาเทวีจึงให้ท้าวแม่คุณครองเมืองแพร่ดังเก่า แล้วเลิกทัพกลับเชียงใหม่

เมืองแพร่สมัยกรุงศรีอยุธยา (จุลศักราช ๘๒๒ พ.ศ. ๒๐๐๓)
สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ยกทัพหลวงจากกรุงศรีอยุธยาขึ้นมาตีเมืองแพร่ทางเขาพึง
หมื่นด้งนคร รักษาเมืองเชียงใหม่แทนพระเจ้าติโลกราช ซึ่งเสด็จไปตีเมืองพง ยกกองทัพไปตั้งรับไว้
พอพระเจ้าติโลกราชทรงทราบข่าว จึงเสด็จยกทัพหลวงลงไปช่วยหมื่นด้งนคร สมเด็จ    พระเจ้าบรมไตรโลกนาถ จึงล่าถอยทัพกลับกรุงศรีอยุธยา หนังสือสังคมศึกษา เขตการศึกษา ๘ กล่าวถึงความตอนนี้ว่า
     ปี พ.ศ. ๒๐๐๓ สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถให้ราชโอรสพระนามว่าพระอินทราชาเป็น    แม่ทัพหน้ายกไปตีเมืองเชียงใหม่ ตีเมืองรายทางถึงลำปาง พระอินทราชาเข้าชนช้างกับแม่ทัพข้าศึกต้องปืนสิ้นพระชนม์ในที่รบ กองทัพพระอินทราชาและกองทัพสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถจำต้องยกกลับ ขณะนั้นเมืองแพร่อยู่ในอาณาเขตของเชียงใหม่
     พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับสมเด็จพระนพรัตนวัดพระเชตุพนกล่าวถึงตอนนี้ว่า ศักราช ๘๐๙ ปีเถาะ นพศก พระยาเชลียงนำมหาราชมาเอาเมืองพระพิษณุโลกเข้าปล้นเมืองเป็นสามารถเอามิได้ จึงยกทัพไปเอาเมืองกำแพงเพชร เข้าปล้นเมืองถึงเจ็ดวันมิได้ สมเด็จพระบรม      ไตรโลกนาถเจ้า และสมเด็จพระอินทราชาเสด็จขึ้นไปช่วยเมืองกำแพงเพชรทันและสมเด็จพระอินท-ราชาตีทัพพระยาเกียรติแตก ทัพท่านมาปะทะทัพหมื่นนครได้ชนช้างด้วยหมื่นนคร และข้าศึกลาวทั้งสี่เข้ารุมเอาช้างพระที่นั่งข้างเดียว ครั้งนั้นพระอินทราชาเจ้าต้องปืน ณ พระพักตร์ ทัพมหาราชนั้นเลิกทัพคืนไป
จุลศักราช ๘๖๘ พ.ศ. ๒๐๔๙
     แผ่นดินสมัยพระเมืองแก้วครองเมืองเชียงใหม่ ท้าวเมืองคำข่าย นำบริวารหมู่จุมมาเป็นข้า พระเมืองแก้วจึงให้ไปกินเมืองแพร่ (กิน = ครอง)
     จุลศักราช ๘๗๐ พ.ศ. ๒๐๕๑ แม่ทัพกรุงใต้ (กรุงศรีอยุธยา) ชื่อพระยากลาโหมยกเอา    รี้พลมารบเมืองแพร่ หมื่นจิตรเจ้าเมืองน่านยกทัพมาช่วยต่อสู้ด้วยจนได้ชัยชนะ
     จุลศักราช ๘๗๒ พ.ศ. ๒๐๕๓
แม่ทัพกรุงใต้ชื่อ ขราโห (เพี้ยนมาจากคำว่า “กลาโหม”) ยกทัพมารบเมืองแพร่อีก หมื่นคำคาย เจ้าเมืองละกอน (ลำปาง) ยกทัพไปช่วยเมืองแพร่ รบกันจนทัพเมืองใต้แตกพ่ายหนีกลับไป
ในปีเดียวกัน คือ จุลศักราช ๘๗๒ พ.ศ. ๒๐๕๓
     พระเมืองแก้วให้เจ้าเมืองแพร่สร้อยไปกินเมืองน่าน แทนท้าวเมืองคำข่าย (หมื่นสามล้าน)
ครั้นจุลศักราช ๘๗๘ พ.ศ. ๒๐๕๙ พระเมืองแก้วให้เจ้าเมืองแพร่คำยอดฟ้าไปครองเมืองน่าน และทรงย้ายเจ้าเมืองน่านไปครองเมืองพะเยา
     พระยาแพร่ยอดคำฟ้าครองเมืองน่าน (พ.ศ. ๒๐๕๙, พ.ศ. ๒๐๖๒, พ.ศ. ๒๐๖๙) ต่อมายกทัพไปรบศึกที่เชียงใหม่ป่วยเป็นฝีเนื้อร้ายจนถึงแก่กรรม
จุลศักราช ๙๘๕ พ.ศ. ๒๐๖๖
     ขณะที่พม่าเข้าครอบครองลานนาไทย เจ้าอุ่นเฮือนผู้ครองเมืองน่านได้รบกับพม่า สู้พม่า  ไม่ได้หนีไปพึ่งเมืองชะเลียง
     พอถึงจุลศักราช ๙๘๖ พ.ศ. ๒๐๖๗ เจ้าอุ่นเฮือนก็คุมพวกเข้าหักเอาเมืองน่าน ไล่ข้าศึกหนีจากเมืองน่านไปอยู่เมืองแพร่
     จุลศักราช ๙๐๗ พ.ศ. ๒๐๘๘
เมืองเชียงใหม่เกิดจลาจล ทางกรุงศรีอยุธยาแผ่นดินสมเด็จพระไชยราชาได้ยกกองทัพขึ้นมาตีเมืองเชียงใหม่
     พระนางจิระประภา ราชธิดาเจ้าเมืองเชียงใหม่ได้นำเอาเครื่องราชบรรณาการไปถวาย   พระไชยราชาจึงยกกองทัพกลับ เมืองแพร่จึงตกอยู่ใต้อำนาจของกรุงศรีอยุธยาไปด้วย
จุลศักราช ๙๑๒ พ.ศ. ๒๐๙๓
พระยาแพร่ เป็นที่พระยาสามล้านเชียงใหม่ได้ร่วมกันคบคิดจะเป็นใหญ่ในนครพิงค์กับ  พระยาล้านช้าง พระยาหัวเวียงล้านช้างรวบรวมไพร่พลยกกำลังเข้าไปถึงนครพิงค์จักกระทำร้ายแก่เมือง ครั้นกระทำมิได้ก็ออกหนีไป
     ฝ่ายเจ้าขุนทั้งหลายในนครพิงค์ต่างก็แต่งทหารออกรบ พระยาสามล้าน (พระยาแพร่) และพวกก็แตกพ่ายหนีไปเมืองแพร่
     จุลศักราช ๙๒๐ พ.ศ. ๒๑๐๑
     พระเจ้าบุเรงนองกษัตริย์พม่ายกกองทัพมาตีเมืองเชียงใหม่ ทหารเมืองเชียงใหม่มีน้อยกว่าพม่า อีกทั้งกองทัพพระเจ้าบุเรงนองเข้มแข็งชาญศึกสงครามกว่าพม่าจึงได้ชัยชนะ
เชียงใหม่ตกเป็นประเทศราชของพม่า เมืองแพร่จึงตกอยู่ใต้อำนาจของพม่าด้วย
พม่าปกครองประเทศราชในอาณาจักรลานนาไทย อันได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง ลำพูน พะเยา แพร่ น่าน ด้วยการให้ขุนนางของพม่าพร้อมด้วยทหารจำนวนหนึ่งอยู่เป็นข้าหลวงอยู่กำกับเมือง
จุลศักราช ๙๓๑ พ.ศ. ๒๑๑๑
     อาณาจักรลานนาไทยถูกพม่าเกณฑ์ให้ยกกองทัพไปช่วยรบกรุงศรีอยุธยา เมืองแพร่ก็ยกกองทัพร่วมไปกับพม่าครั้งนี้ด้วย
     และในที่สุด จุลศักราช ๙๓๒ พ.ศ. ๒๑๑๒ กรุงศรีอยุธยาก็แตก ตกเป็นเมืองขึ้นของพม่า อาณาจักรลานนาไทยจึงตกอยู่ใต้อำนาจของพม่าดังเดิม
     จุลศักราช ๙๘๓ พ.ศ. ๒๑๖๓
แผ่นดินสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม กรุงศรีอยุธยามีกองทัพไม่ค่อยเข้มแข็งเกรียงไกร      อาณาจักรลานนาจึงตั้งตนเป็นอิสระไม่ขึ้นต่อกรุงศรีอยุธยา
     จุลศักราช ๙๙๗ พ.ศ. ๒๑๗๗
     พระเจ้าสุทโธธรรมราชา กษัตริย์พม่าได้ยกกองทัพมาตีเมืองเชียงใหม่และจับกุมเอาตัว   พระเจ้าเชียงใหม่ไปคุมขังไว้ที่เมืองหงสาวดี
เมื่อจัดการปกครองในเมืองเชียงใหม่เรียบร้อยแล้ว พระเจ้าสุทโธธรรมราชายกทัพไปปราบเมืองต่างๆ ในเขตลานนาไทยยึดเมืองทุกเมืองไว้ในอำนาจ เมืองแพร่จึงตกอยู่ในอำนาจของพม่าอีกครั้ง
     จุลศักราช ๑๐๒๔ พ.ศ. ๒๒๐๕
แผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราชโปรดให้ยกกองทัพขึ้นไปตีเมืองเชียงใหม่ พระองค์ทรงเป็นจอมทัพตีหัวเมืองรายทางตั้งแต่ลำปาง แพร่ ลำพูน จนถึงเมืองเชียงใหม่ โปรดให้เจ้าพระยาโกษาเหล็กถมดินทำเป็นเชิงเทินตั้งปืนใหญ่ ยิงกราดเข้าไปในเมืองเชียงใหม่ เชียงใหม่ก็แตก
ฝ่ายกองทัพพม่ายกมาแต่เมืองอังวะเพื่อช่วยเหลือเมืองเชียงใหม่ (เพราะพม่าปกครองเมืองเชียงใหม่) ก็ถูกทัพไทยซุ่มโจมตีกระหนาบแตกพ่ายยับเยินไป  ดังนั้น อาณาจักรลานนาจึงตกอยู่ใต้อำนาจของกรุงศรีอยุธยา  แทรกกล่าว มีข้อน่าสังเกตว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาเมืองแพร่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ขณะใดที่กองทัพเมืองเชียงใหม่เข้มแข็ง เมืองแพร่ก็จะขึ้นอยู่กับเชียงใหม่ หากขณะใดที่  กองทัพกรุงศรีอยุธยาเข้มแข็ง เมืองแพร่ก็จะขึ้นอยู่กับกรุงศรีอยุธยา ระยะเวลาใดที่ทั้งสองฝ่ายอ่อนแอหรือเกิดจลาจล เมืองแพร่ก็จะตั้งตนเป็นอิสระทันที
     จุลศักราช ๑๑๐๓ พ.ศ. ๒๒๘๓ พระเจ้าอังวะ กษัตริย์พม่าให้โปทัพพะการมังดีเป็นแม่ทัพยกกำลังหนึ่งหมื่นคนมาตีเมืองเทิน เมืองแพร่ เมืองน่าน กวาดต้อนผู้คนในเมืองดังกล่าวไปไว้ที่เมืองเชียงแสน
     ในปีต่อมา จุลศักราช ๑๑๐๔ พ.ศ. ๒๒๘๔ พระยาแพร่พร้อมกับเจ้าเมืองฝ่ายเหนือ มีพระยายองเป็นต้น ต่างรวบรวมไพร่พล ยกเข้ารบพุ่งฆ่าฟันพม่าที่ปกครองเมืองเชียงแสน พม่าทราบข่าวจึงส่งกองทัพใหญ่ลงมาช่วย พระนครลำปางจึงกวาดต้อนผู้คนของตนไปไว้ที่เมืองเทิง
ส่วนพระยายองและพระยาแพร่ ได้นำผู้คนของตนไปไว้ที่เมืองภูคา (อำเภอปัว จ.น่าน) แต่ก็ถูกพม่าตามตีแตกพ่ายจนต้องหนีเข้าไปในเมืองน่าน
     จุลศักราช ๑๑๐๕ พ.ศ. ๒๒๘๕ เจ้าเมืองแพร่ และเจ้าเมืองน่านพร้อมด้วยเจ้าเมืองฝ่ายลานนา มีพระยายองเป็นหัวหน้า ต่างรวมกำลังไพร่พลยกไปรบพม่าที่ปกครองเมืองเชียงแสนแล้วตั้งตนเป็นอิสระนครอีกครั้งหนึ่ง
     จุลศักราช ๑๑๒๑ พ.ศ. ๒๓๐๒ เจ้าชายแก้ว โอรสพระยาสุละวะฤาไชยสงคราม (ทิพช้าง) เจ้าเมืองละกอน (ลำปาง) พาครอบครัวญาติพี่น้องและบริวารหนีท้าวลิ้นก่านไปซ่องสุมผู้คนอยู่เมืองแพร่ แล้วยกกองทัพไปรบกับท้าวลิ้นก่านที่เมืองลำปางแต่สู้ไม่ได้จึงหนีไปพึ่งพม่า
     จุลศักราช ๑๑๒๓ พ.ศ. ๒๓๐๔ กองทัพพม่ายกมาตีเมืองเชียงใหม่ ครั้นแล้วก็ยกกองทัพเข้าตีเมืองลำปาง (เจ้าชายแก้วซึ่งหนีไปพีงพม่าเมื่อคราวก่อนร่วมมากับกองทัพพม่าด้วย) พม่ายึดเมืองลำปางได้  เจ้าชายแก้วจึงจับท้าวลิ้นก่านประหารชีวิตเสียกองทัพพม่ายกมายึดครองเมืองแพร่ เมืองน่าน และลานนาไทยเกือบทั้งหมด ครั้นปีต่อมาพม่าจำต้องยกกองทัพกลับเพราะเกิดจลาจลในเมืองอังวะ
จุลศักราช ๑๑๒๙ พ.ศ. ๒๓๑๐ พวกชาวลานนาไทย ถูกพม่าข่มเหงรังแกเบียดเบียน  บ่อยครั้งจึงคิดจะกอบกู้อิสรภาพ พระเจ้ามังระกษัตริย์พม่าทราบข่าวได้นำกองทัพใหญ่ลงมาปราบ อาณาจักรลานนาไว้ได้ทั้งหมด
     หลังจากปราบปรามหัวเมืองฝ่ายเหนือแล้ว พระเจ้ามังระก็กรีฑาทัพเข้าตีกรุงศรีอยุธยา และในที่สุดกรุงศรีอยุธยาก็เสียอิสรภาพแก่พม่า
เมืองแพร่จึงตกอยู่ใต้อำนาจของพม่าอีกครั้งหนึ่ง จนถึงจุลศักราช พ.ศ. ๑๑๓๑ พ.ศ. ๒๓๑๒

เมืองแพร่สมัยกรุงธนบุรี
     จุลศักราช ๑๑๓๑ พ.ศ. ๒๓๑๒ พงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับหอสมุดแห่งชาติกล่าวว่า  หลังจากกรุงศรีอยุธยาแตกเพียงปีเดียว สมเด็จพระเจ้าตากสินก็ได้รวบรวมกำลังไพร่พล ต่อสู้กับพม่าที่ค่ายโพธิ์สามต้น กรุงศรีอยุธยา พิษณุโลก พิชัย สวรรคโลกจนข้าศึกแตกพ่ายหนีไป
     จุลศักราช ๑๑๓๒ พ.ศ. ๒๓๑๓ สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงเห็นว่าอาณาจักรลานนายังมีพม่ายึดครองอยู่มาก จึงโปรดให้ยกกองทัพขึ้นไปตีพม่าที่ครองเมืองเชียงใหม่
ขณะเดินทางเรือมาถึงเมืองพิชัยก็มีเจ้ามังชัย ผู้ปกครองเมืองแพร่พาขุนนางกรมการเมือง และไพร่พลเข้าเฝ้าถวายบังคมขอเป็นเมืองในขอบขัณฑสีมา
     สมเด็จพระเจ้าตากสินจึงโปรดแต่งตั้งให้เป็น “พระยาศรีสุริยวงศ์” แล้วให้เข้าร่วมขบวนทัพ ยกทัพไปตีเมืองเชียงใหม่  พระราชพงศาวดารฉบับหอสมุดแห่งชาติกล่าวถึงความตอนนี้ว่า “พระยาแพร่ ผู้ชื่อว่า มังไชย พม่าจับตัวไปครั้งทัพอะแซหวุ่นกี้มาตีเมืองพิษณุโลกมากับกองทัพครั้งนี้ด้วย พระยาแพร่มีจิตคิดสวามิภักดิ์ในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกรุงเทพฯ จึงคิดอ่านชักชวนพระยายองยกกองทัพไปตีเมืองเชียงแสน เจ้าเมืองเชียงแสนสู้ไม่ได้จึงหนีไปหาพระยาเชียงราย พระยาแพร่ และพระยายอง ก็ยกทัพติดตามไปที่เชียงราย
     พระยาเชียงรายเห็นว่า พระยาแพร่และพระยายองเป็นชนชาติเชื้อลาวด้วยกัน จึงจับตัว  เจ้าเมืองเชียงแสนชื่อ อาปรกามณี เป็นชาวพม่าส่งให้พระยาแพร่และพระยายอง”  พระราชพงศาวดารเมืองเหนือ กล่าวถึงความตอนนี้ว่า
     จุลศักราช ๑๑๓๓ พ.ศ. ๒๓๑๔ เมื่อพระเจ้ากรุงธนบุรียกทัพไปตีเชียงใหม่, มังไชยะ     เจ้าเมืองแพร่มาสวามิภักดิ์จึงโปรดตั้งให้เป็นพระยาศรีสุริยวงศ์แล้วเกณฑ์ไปตีเมืองเชียงใหม่ด้วย ปีกุน เอกศก จุลศักราช ๑๑๔๑ เจ้าพระยาจักรี และเจ้าพระยาสุรสีห์ได้แต่งกองทัพหลวง ๓๐๐ คน ให้มาตรวจราชการทางเมืองแพร่ เมืองน่าน ตลอดไปจนถึงเมืองนครลำปาง กองข้าหลวงดังกล่าวได้ทำโจรกรรมแย่งชิงทรัพย์สินของราษฎร ฉุดคร่าบุตรภรรยาของ     ชาวบ้านไปทำอนาจารต่างๆ ราษฎรได้นำความเข้าร้องทุกข์ต่อพระยากาวิละ เจ้าเมืองนครลำปาง    พระยากาวิละขัดใจก็ยกพวกไพร่พลออกไปขับไล่ฆ่าฟันข้าหลวงที่อยู่บ้านวังเกิง ล้มตายไปเป็นจำนวนมาก
     สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงทราบข่าวจึงให้มีตราหาตัวพระยากาวิละลงไปกรุงเทพฯ แต่พระยากาวิละก็ขัดตราเสียหาไปไม่ พระยากาวิละคิดจะทำความชอบแก้โทษที่ทำผิดจึงยกกองทัพไปตีเมืองลอ เมืองเทิง กวาดต้อนผู้คนไปเป็นเชลยจำนวนมากแล้วจึงลงไปเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ณ กรุงธนบุรี แต่พระยากาวิละยังถูกลงโทษอีกนั่นเองคือทรงให้เฆี่ยน ๑๐๐ ที แล้วให้จำคุกไว้
     พระยากาวิละได้ร้องขออาสาไปตีเมืองเชียงแสนแก้โทษ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรง    พระกรุณาโปรดพระราชทานให้ถอดออกจากคุกและให้ไปทำราชการตามเดิม  พระยากาวิละไปถึงเมืองป่าช้าง จึงแต่งให้พระยาอุปราชคุมพลร้อยเศษไปเกลี้ยกล่อม นาขวา เมืองเชียงแสน เพราะเวลานั้นกองทัพพม่าเลิกไปหมดแล้ว ให้นาขวารักษาเมืองไว้พร้อมด้วยทหารพม่าจำนวนหนึ่ง
     นาขวาปลงใจด้วยกับพระยาอุปราช พระยากาวิละจึงได้ตัวพระยาแพร่ พระยาเถินคืนจากพม่า  จุลศักราช ๑๑๔๒ พ.ศ. ๒๓๒๓ เดือน ๖ ขึ้น ๖ ค่ำ พงศาวดารเมืองน่านฉบับหอสมุดแห่งชาติกล่าวว่า พญาจ่าบ้าน พญาละกอน พญาแพร่ และชาวเมืองหลวงพระบางได้ร่วมกันคบคิดยกทัพไปพร้อมกันที่สมกก เพื่อไปตีเมืองเชียงแสน และในที่สุดก็ตีเมืองเชียงแสนได้เมื่อเดือน ๗ ขึ้น ๙ ค่ำ วันจันทร์ยามเช้า
จุลศักราช ๑๑๔๔ พ.ศ. ๒๓๒๕ พงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับหอสมุดแห่งชาติกล่าวว่าสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ได้รับความร่วมมือร่วมใจจากบุคคลสำคัญของอาณาจักรลานนาไทย เช่น พระยา    จ่าบ้าน เจ้ากาวิละทำการขับไล่ฆ่าฟันพม่าที่ยึดครองเมืองเชียงใหม่จนพวกพม่าแตกพ่ายหนีไป       หลังจากนั้นได้เข้าตีหัวเมืองอื่นๆ เช่น ลำปาง ลำพูน เชียงราย แพร่ น่าน ขับไล่พม่าไปจนหมดสิ้น
เมืองแพร่และเมืองอื่นๆ ดังกล่าวจึงอยู่ใต้อำนาจของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีอีกครั้งหนึ่ง

เมืองแพร่สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น
     ระหว่างจุลศักราช ๑๑๔๗ - จุลศักราช ๑๒๒๙ (พ.ศ. ๒๓๒๘ - พ.ศ. ๒๔๑๐)
จุลศักราช ๑๑๔๗ พ.ศ. ๒๓๒๘ พงศาวดารเมืองเงินยางเชียงแสนกล่าวว่ากษัตริย์พม่าแต่งให้กาละมังดีเป็นแม่ทัพมีกำลังหมื่นหนึ่ง ยกมาตีอาณาจักรลานนาแวะถึงเมืองเชียงแสนในเดือน ๔ ขึ้น ๑๑ ค่ำวันเสาร์ เข้ายึดเมืองเชียงแสนได้แล้วยกทัพเข้าตีเมืองเทิง
     ฝ่ายเมืองเชียงใหม่และละกอนลำปาง ต่างพร้อมใจกันรวบรวมไพร่พลต่อสู้กับพม่าและ   ป้องกันเมืองเอาไว้ได้  ฝ่ายพญาแพร่ พญาน่าน เห็นว่ากองทัพพม่าใหญ่หลวงนักเกรงจะสู้ไม่ได้ จึงบ่สู้บ่รบ ยอมอ่อนน้อมเป็นข้าของพม่าแต่โดยดี  แม่ทัพพม่าคือ กาละมังดี จึงให้พญาแพร่ พญาน่าน ยกกองทัพไปแวดล้อมเมืองละกอนไว้ เมื่อพม่าไม่สามารถตีเอาเมืองใดได้ จึงล่าถอยทัพกลับไป  จุลศักราช ๑๑๔๘ พ.ศ. ๒๓๒๙ เดือน ๕ เพ็ญ พญาแพร่พร้อมกับเจ้าเมืองฝ่ายเหนือ คิดกอบกู้เอกราชคืนจากพม่า จึงยกทัพไปตีเมืองเชียงแสน มวยหวาน ซึ่งปกครองเมืองเชียงแสนหนีพ่ายไปเชียงราย  พญาเชียงรายจับตัวได้ส่งไปยังเมืองละกอนลำปาง พญาละกอนส่งตัวมวยหวานไปยังกรุงเทพฯ  ฝ่ายพญาละกอน เมื่อส่งมวยหวานไปกรุงเทพฯ แล้ว ก็ยกกองทัพไปเมืองเชียงแสนจับตัว พญาแพร่ใส่คา จองจำส่งตัวลงกรุงเทพฯ
จุลศักราช ๑๑๖๘ พ.ศ. ๒๓๒๘ พม่าส่งกองทัพมาตีหัวเมืองอาณาจักรลานนา แต่เวลานั้นทางเมืองเชียงใหม่ยังร้างอยู่ไม่มีใครปกครอง จึงเลยลงไปตีเมืองลำปาง เจ้าเมืองลำปางคือพระยา     กาวิละได้ต่อสู้ต้านทานทัพพม่า สามารถรักษาเมืองไว้ได้ พม่าจึงแต่งกองทัพให้ล้อมเมืองไว้ก่อน พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงทราบข่าวศึก จึงโปรดให้กรมหลวงเจษฎายกกองทัพขึ้นมาช่วย
ฝ่ายพระยากาวิละ รู้ว่ากองทัพในกรุงขึ้นมาช่วยก็มีกำลังห้าวหาญยกกองทัพตีฝ่าวงล้อมของพม่าออกจากเมือง ได้สู้รบกันตั้งแต่เช้าจนเที่ยง กองทัพพม่าจึงแตกพ่ายไป
     เมื่อกองทัพพม่าถูกไล่ออกจากอาณาจักรลานนาแล้ว พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ได้โปรดพระราชทานบำเหน็จให้แก่เจ้านายฝ่ายเหนือโดยให้พระยากาวิละเจ้าเมืองลำปางขึ้นไปครองเมืองเชียงใหม่
     ส่วนพระยามังชัย เจ้าเมืองแพร่ พระองค์ทรงเห็นว่าถ้าจะให้ไปครองเมืองแพร่ก็ยังไม่ไว้วางพระราชหฤทัย เพราะพระยามังชัยเคยอยู่กับพม่ามานาน จึงโปรดให้ไปช่วยราชการอยู่ที่เมืองลำปางก่อน
จุลศักราช ๑๑๗๑ พ.ศ. ๒๓๓๑ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ ทรงโปรดให้  เจ้าเมืองฝ่ายเหนือยกกองทัพไปตีเมืองเชียงตุง พระยามังชัย เจ้าเมืองแพร่ ซึ่งขณะนั้นอยู่ที่เมืองลำปางได้ร่วมไปกับกองทัพด้วย พระยามังชัยได้แสดงความห้าวหาญชาญศึกอาสาเป็นนายกองหน้าเข้าตีเมืองเชียงตุง และสามารถตีเมืองเชียงตุงจนได้ชัยชนะ
     พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ ทรงเห็นความดีและความสามารถจึงโปรดให้กลับไปครองเมืองแพร่ดังเดิม  หลังจากรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชแล้ว ประวัติศาสตร์เกี่ยวกับเมืองแพร่ไม่มีกล่าวถึงจนกระทั่งรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

เมืองแพร่สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนกลาง
     ระหว่างจุลศักราช ๑๒๕๓ - จุลศักราช ๑๒๙๖ (พ.ศ. ๒๔๓๔ - พ.ศ. ๒๔๗๗)
จุลศักราช ๑๒๕๓ พ.ศ. ๒๔๓๔ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเปลี่ยนระบอบการปกครองประเทศ เป็นแบบมณฑลเทศาภิบาล มีข้าหลวงเทศาภิบาลสำเร็จราชการมณฑลลดอำนาจเจ้าผู้ครองเมืองให้น้อยลงกว่าเดิม
     เมืองแพร่ พระองค์ได้โปรดเกล้าฯ ให้พระยาไชยบูรณ์ (ทองอยู่  สุวรรณบาตร) ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งปลัดมณฑลพิษณุโลก มาเป็นข้าหลวงกำกับการปกครองเมืองแพร่เป็นคนแรกในปี พ.ศ. ๒๕๔๐
หนังสือการปฏิรูปการปกครองมณฑลพายัพ พ.ศ. ๒๔๓๖ - พ.ศ. ๒๔๗๖ กล่าวถึงตอนนี้ว่า
เมืองแพร่จัดการปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาลหลังจากพระยาทรงสุรเดช ได้ไปตรวจ ราชการในเมืองแพร่เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๗ กล่าวคือ
     เมื่อพระยาทรงสุรเดชไปถึงเมืองแพร่ “พระยาพิริยวิไชย” เจ้าเมืองแพร่ได้ให้การต้อนรับพระยาทรงสุรเดชเป็นอย่างดี พร้อมกับแสดงความจำนงให้พระยาทรงสุรเดชทราบว่าต้องการให้จัด  ราชการ ๖ ตำแหน่งขึ้นในเมืองแพร่ให้เหมือนกับแบบแผนราชการเมืองเชียงใหม่ เหตุที่พระพิริยวิไชยเสนอเช่นนั้นก็ประสงค์จะขอพระราชทานเลื่อนยศขึ้นเป็น “เจ้า”

พระยาทรงสุรเดชเห็นว่างานราชการทั้งหมดของเมืองแพร่ตกอยู่ในอำนาจของพระยา  พิริยวิไชยทั้งสิ้น ดังนั้น เพื่อให้การปกครองของเมืองแพร่เรียบร้อย จึงให้ทำการทดลองจัดราชการ ๖ ตำแหน่งขึ้นในเมืองแพร่
     พระยาทรงสุรเดชได้มอบหมายให้ นายราชาภักดิ์ ข้าหลวงเมืองแพร่ ทำหน้าที่เป็น       ที่ปรึกษาของพระยาพิริยวิไชย จัดการราชการงานในเมืองแพร่ร่วมกัน
แทรกกล่าว มีข้อน่าสังเกตว่า
     ประวัติศาสตร์เมืองเหนือของ ตรี   อมาตยกุล กล่าวว่า “โปรดเกล้าฯ ให้พระยาไชยบูรณ์ไปเป็นข้าหลวงกำกับการปกครองเมืองแพร่เป็นคนแรกปี พ.ศ. ๒๔๔๐” ส่วนปริญญานิพนธ์ของสรัสวดี  ประยูรเสถียร ข้างต้นนี้กล่าวว่า พระยาทรงสุรเดชได้   มอบหมายให้ นายราชาภักดิ์ ข้าหลวงเมืองแพร่ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาของพระยาพิริยวิไชย จัดการ  ราชการงานในเมืองแพร่ร่วมกัน จึงทำให้เป็นที่น่าสงสัยว่า นายราชาภักดิ์ หรือพระยาไชยบูรณ์เป็นข้าหลวงเมืองแพร่     คนแรกกันแน่

กบฏเงี้ยวเมืองแพร่
จุลศักราช ๑๒๖๔ พ.ศ. ๒๔๔๕
     ในขณะที่พระยาไชยบูรณ์เป็นข้าหลวงกำกับการปกครองเมืองแพร่อยู่นั้น ปรากฏว่ามีพวกเงี้ยวหรือไทยใหญ่ได้คบคิดกันก่อการจลาจลขึ้นในเมืองแพร่ซึ่งมีรายละเอียดดังต่อไปนี้  วันศุกร์ที่ ๒๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๔๕ เวลาประมาณ ๗ นาฬิกา พวกไทยใหญ่นำโดย   พะกาหม่องและสะลาโปไชย หัวหน้าพวกโจรเงี้ยวนำกองโจรประมาณ ๔๐ - ๕๐ คน บุกเข้าเมืองแพร่ทางด้านประตูชัย จู่โจมสถานีตำรวจเป็นจุดแรก
     ขณะนั้นสถานีตำรวจเมืองแพร่มีประมาณ ๑๒ คน จึงไม่สามารถต้านทานได้ กองโจรเงี้ยวเข้ายึดอาวุธตำรวจแล้วพากันเข้าโจมตีที่ทำการไปรษณีย์โทรเลข โจรเงี้ยวได้ตัดสายโทรเลขและทำลายอุปกรณ์สื่อสารต่างๆ เพื่อตัดปัญหาการสื่อสาร ครั้นแล้วก็มุ่งหน้าสู่บ้านพักข้าหลวงประจำเมืองแพร่ แต่ก่อนที่กองโจรเงี้ยวจะไปถึงบ้านพักข้าหลวงนั้น พระยาไชยบูรณ์ (ทองอยู่  สุวรรณบาตร) ได้พา     ครอบครัวพร้อมด้วยคุณหญิงเยื้อน ภริยาหลบหนีออกจากบ้านพักไปก่อนแล้ว
     พวกโจรเงี้ยวไปถึงบ้านพักไม่พบพระยาไชยบูรณ์จึงบุกเข้าปล้นทรัพย์สินภายในบ้านพักข้าหลวง และสังหารคนใช้ที่หลงเหลืออยู่จนหมดสิ้น
     จากนั้นจึงยกกำลังเข้ายึดที่ทำการเค้าสนามหลวง ทำลายคลังหลวงและกวาดเงินสดไปทั้งหมด ๔๖,๙๑๐ บาท ๓๗ อัฐ
หลังจากนั้นพวกโจรเงี้ยวก็มุ่งตรงไปยังเรือนจำเพื่อปล่อยนักโทษให้เป็นอิสระพร้อมกับ   แจกจ่ายอาวุธให้แก่นักโทษเหล่านั้น ทำให้พวกกองโจรเงี้ยวได้กำลังสนับสนุนเพิ่มขึ้นอีกจนภายหลังมีกำลังถึง ๓๐๐ คน
     ในระหว่างที่กองโจรเงี้ยวเข้าโจมตีสถานที่ราชการต่างๆ อยู่นั้น ราษฎรเมืองแพร่ตื่นตกใจกันมาก บางส่วนได้อพยพหลบออกไปอยู่นอกเมืองทันที กองโจรเงี้ยวจึงประกาศให้ราษฎรอยู่ในความสงบ เพราะพวกตนจะไม่ทำร้ายชาวเมืองจะฆ่าเฉพาะคนไทยภาคกลางที่มาปกครองเมืองแพร่เท่านั้น ราษฎรจึงค่อยคลายความตกใจลง และบางส่วนได้เข้าร่วมกับพวกกองโจรเงี้ยวก็มี ทำให้กองโจรเงี้ยวทำงานคล่องตัวและมีกำลังเข้มแข็งขึ้น
     ขณะเดียวกันพระยาไชยบูรณ์ซึ่งพาภริยา คือ คุณหญิงเยื้อนหลบหนีออกจากบ้านพักตรงไปยังคุ้มเจ้าหลวงเมืองแพร่ หวังขอพึ่งกำลังเจ้าเมืองแพร่หรือเจ้าหลวงเมืองแพร่ คือ พระยาพิริยวิไชย  เมื่อไปถึงคุ้มเจ้าหลวง เจ้าหลวงเมืองแพร่กล่าวว่า “จะช่วยอย่างไรกัน ปืนก็ไม่มี ฉันก็จะหนีเหมือนกัน”
     พระยาไชยบูรณ์ตัดสินใจพาภริยาและหญิงรับใช้หนีออกจากเมืองแพร่ไปทางบ้านมหาโพธิ์เพื่อหวังไปขอกำลังจากเมืองอื่นมาปราบ  ส่วนเจ้าเมืองแพร่นั้นหาได้หลบหนีไปตามคำอ้างไม่ ยังคงอยู่ในคุ้มตามเดิม  ตอนสายของวันที่ ๒๕ กรกฎาคม เมื่อกองโจรเงี้ยวสามารถยึดเมืองแพร่ได้แล้ว พะกาหม่องและสะลาโปไชยก็ไปที่คุ้มเจ้าหลวง เพื่อเชิญให้เจ้าเมืองแพร่ปกครองบ้านเมืองตามเดิม
ก่อนจะปกครองเมือง พะกาหม่องได้ให้เจ้าเมืองแพร่และเจ้านายบุตรหลานทำพิธีถือ      น้ำสาบานก่อน โดยมีพระยาพิริยวิไชยเป็นประธานร่วมด้วยเจ้าราชบุตร เจ้าไชยสงครามและเจ้านายบุตรหลานอื่นๆ รวม ๙ คน
     ในพิธีนี้มีการตกลงร่วมกันว่าจะร่วมกันต่อต้านกองทัพของรัฐบาลโดยพวกกองโจรเงี้ยวเป็นกองหน้าออกสู้รบเอง ส่วนเจ้าเมืองและคนอื่นๆ เป็นกองหลังคอยส่งอาหารและอาวุธตลอดทั้งกำลังคน
วันที่ ๒๖ กรกฎาคม พวกกองโจรเงี้ยวเริ่มลงมือตามล่าฆ่าข้าราชการไทยและคนไทย    ภาคกลางทุกคน ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือสตรีที่หลบหนีไปโดยประกาศให้รางวัลนำจับ เฉพาะค่าหัวพระยาไชยบูรณ์และพระเสนามาตย์ยกบัตรเมืองแพร่ คนละ ๕ ชั่ง หรือ ๔๐๐ บาท นอกนั้นลดหลั่นลงตามลำดับความสำคัญ แต่อย่างต่ำจะได้ค่าหัวคนละ ๔๐ บาท
     วันที่ ๒๗ กรกฎาคม พระยาไชยบูรณ์ซึ่งอดอาหารมาเป็นเวลา ๓ วัน กับ ๒ คืน โดยหลบซ่อนอยู่บนต้นข่อยกลางทุ่งนาใกล้ๆ กับหมู่บ้านร่องกาด ได้ออกจากที่ซ่อนเพื่อขออาหารจากชาวบ้านร่องกาด
ราษฎรคนหนึ่งในบ้านร่องกาดชื่อหนานวงศ์ จึงนำความไปแจ้งต่อพะกาหม่องเพื่อจะเอาเงินรางวัล
พะกาหม่องนำกำลังไปล้อมจับพระยาไชยบูรณ์ทันที จับตัวได้ก็ควบคุมตัวกลับเข้าเมืองแพร่ และได้บังคับขู่เข็ญพระยาไชยบูรณ์ตลอดทาง
     พระยาไชยบูรณ์จึงท้าทายให้พวกโจรเงี้ยวฆ่าตนเสียดีกว่า ดังนั้นพอมาถึงทางระหว่างร่องกวางเคา (ปัจจุบันเรียกว่าร่องคาว) โจรเงี้ยวคนหนึ่งชื่อ จองเซิน จึงคิดฆ่าพระยาไชยบูรณ์ทันที
นอกจากพระยาไชยบูรณ์แล้ว พวกโจรเงี้ยวยังได้จับข้าราชการไทยอีกหลายคนฆ่า ที่สำคัญได้แก่
พระเสนามาตย์ ยกกระบัตรศาล
          หลวงวิมล          ข้าหลวงผู้ช่วย
          ขุนพิพิธ             ข้าหลวงคลัง
          นายเฟื่อง          ผู้พิพากษา
          นายแม้น          อัยการ
     นายอำเภอ ปลัดอำเภอ และสมุห์บัญชีอำเภอต่างๆ อีกเป็นจำนวนมาก นับเป็นการเข่นฆ่าข้าราชการไทยครั้งยิ่งใหญ่จริงๆ ในภาคเหนือ
     ทางรัฐบาลไทยได้ส่งกองทัพจากเมืองใกล้เคียง เช่น พิชัย สวรรคโลก สุโขทัย ตาก น่าน และเชียงใหม่ เข้ามาปราบปรามพวกกองโจรเงี้ยวอย่างรีบด่วน โดยกำหนดให้ทุกเมืองระดมกำลังเข้าปราบปราม พวกกองโจรเงี้ยวในเมืองแพร่พร้อมกันทุกด้าน และยังได้มอบหมายให้เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม  แสงชูโต) นำกองทัพหลวงขึ้นมาปราบปรามพร้อมทั้งให้ดำเนินการสอบสวนสาเหตุการปล้นครั้งนี้ด้วยและให้ถือว่าเป็น “กบฏ” ด้วย ดังนั้นจึงเรียกว่า กบฏเงี้ยวเมืองแพร่
     ส่วนพวกกองโจรเงี้ยวเมื่อสามารถก่อการกบฏได้สำเร็จก็ไม่ได้ตระเตรียมกำลังป้องกันแต่อย่างใด
จนกระทั่งวันที่ ๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๔๕ เมื่อทราบข่าวว่ากองทัพรัฐบาลจะมาปราบปรามจึงได้แบ่งกำลังออกเป็น ๒ กอง กองหนึ่งนำโดยสะลาโปไชย ยกกำลังไปทางด้านใต้เพื่อขัดตาทัพ     รัฐบาลที่ส่งมา อีกกองหนึ่งนำโดยพะกาหม่อง ยกกำลังไปทางด้านตะวันตกเพื่อโจมตีนครลำปางหวังยึดเมืองเป็นฐานกำลังอีกแห่งหนึ่ง
     การโจมตีนครลำปางนั้น พวกกองโจรเงี้ยวต้องประสบกับความผิดหวัง เพราะนครลำปางรู้เหตุการณ์และเตรียมกำลังไว้ต่อสู้อย่างรวดเร็ว
     เมื่อพวกเงี้ยวไปถึงนครลำปางในวันที่ ๓ สิงหาคม จึงถูกฝายนครลำปางตีโต้กลับทำให้  กองโจรเงี้ยวแตกพ่ายหนีกระจัดกระจายไป ตัวผู้นำคือ พะกาหม่องต้องสูญเสียชีวิตเพราะถูกยิงในระหว่างการต่อสู้
ส่วนพวกกองโจรเงี้ยวที่นำโดยสะลาโปไชยนั้น ในระยะแรกสามารถสกัดทัพเมืองพิชัยไว้ได้ชั่วคราว แต่ก็ไม่สามารถต้านทานทัพเมืองสวรรคโลกและสุโขทัยได้ จึงถอยกลับไปตั้งหลักที่เมืองแพร่ตั้งแต่วันที่ ๑๑ สิงหาคม
     แต่ในที่สุดพวกโจรเงี้ยวก็หนีกระจัดกระจายไปเพราะต่อสู้ไม่ไหว  ดังนั้น ในวันที่ ๑๔ สิงหาคม พระยาศรีสุริยราชวรานุวัตร (โพ  เนติโพธิ์) ผู้ว่าราชการเมืองพิชัย จึงนำกองกำลังตำรวจภูธรและทหารจำนวนหนึ่งบุกเข้าเมืองแพร่ได้สำเร็จ
     วันที่ ๒๐ สิงหาคม เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม  แสงชูโต) ก็นำทัพหลวงถึงเมืองแพร่ หลังจากเหตุการณ์สงบลงหลายวันแล้ว เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรีจึงทำการสอบสวนความผิดผู้ เกี่ยวข้องทันที
     ขั้นแรก ได้สั่งจับชาวเมืองแพร่ ราษฎรบ้านร่องกาด คือ หนานวงค์ ที่หวังเงินรางวัลนำจับพระยาไชยบูรณ์มาประหารชีวิตเป็นเยี่ยงอย่างก่อน
ขั้นที่สอง สั่งให้จับตัว พญายอด ผู้นำจับหลวงวิมลมาประหารชีวิตอีกคนหนึ่ง
     จากนั้นเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรีได้สอบสวนพยานหลายคน โดยยึดถือตามแนวนโยบายที่กรมหลวงดำรงราชานุภาพทรงกำชับไว้ คือ ไม่ให้ตั้งข้อสงสัย หรือกล่าวหาเจ้าเมืองแพร่และเจ้านายบุตรหลานล่วงหน้า
     เมื่อสอบสวนพยานเสร็จไปหลายคน ก็พบหลักฐานต่างๆ ผูกมัดเจ้าเมืองแพร่และ     เจ้านายบุตรหลานบางคน เช่น เจ้าราชบุตร เจ้าไชยสงครามอย่างแน่นหนาว่ามีส่วนรู้เห็นเป็นใจกับกบฎครั้งนี้ ดังคำให้การของพระยาเขื่อนขัณฑ์อดีตนายแคว้น (กำนัน) เมืองสอง เป็นคนที่เจ้าเมืองแพร่ไว้วางใจ ได้กล่าวให้การไว้ตอนหนึ่งว่า
     “เจ้าแพร่พูดว่า เมืองแพร่ต่อไปจะเป็นของไทยนานเท่าใด จะต้องเป็นเมืองของเงี้ยว      เจ้าแพร่จะคิดให้พะกาหม่อง สะลาโปไชย ซึ่งเป็นหัวหน้าเงี้ยวบ่อแก้วเข้ามาตีปล้นเมืองแพร่ พวกเงี้ยวจะจับคนไทยฆ่าเสียให้หมด แต่พะกาหม่องและสะลาโปไชยจะยกเข้าตีเมืองแพร่เมื่อใดยังไม่มีกำหนด
     ถ้าจะให้พะกาหม่องและสะลาโปไชยยกเข้าตีเมืองแพร่วันใด จะได้มีหนังสือไปนัดพะกาหม่องและสะลาโปไชยทราบ เจ้าแพร่ได้สั่งข้าพเจ้าว่า เมื่อออกนอกราชการแล้ว อย่ามาเที่ยวเกะกะ     วุ่นวายทำราชการกับไทย เมื่อเงี้ยวมันเข้าตีบางทีจะถูกปืนตายเสียเปล่า ผู้ที่ร่วมคิดให้เงี้ยวเข้าปล้นเมืองแพร่คราวนี้ เจ้าหลวงบอกข้าพเจ้าว่า พระยาราชบุตร พระไชยสงคราม เป็นผู้ร่วมคิดด้วย”
     นอกจากนั้น ก่อนที่พวกโจรเงี้ยวเข้าปล้นเมืองแพร่ก็ได้ส่งข่าวมาบอกเจ้าเมืองแพร่ไว้แล้ว ดังคำให้การของหลวงจิตรจำนงค์ เจ้าของสัมปทานป่าไม้มีความว่า
     “พระไชยสงครามไปที่บ้านข้าพเจ้าว่า วันที่ ๒๔ กรกฎาคม เวลากลางคืนประมาณ ๓ ทุ่มเศษ พวกเงี้ยวมีหนังสือมาบอกเจ้าแพร่ว่าถ้าในกลางคืนนี้ไม่ทัน ก็จะยกเข้าปล้นเวลาเช้ามืด”
     เจ้าเมืองแพร่รู้เหตุการณ์ล่วงหน้าจึงได้ป้องกันภัยแก่ญาติและคนสนิท ดังนายส่างกราบ ผู้  ดูแลคุ้มหลวงได้ให้การไว้ตอนหนึ่งว่า
     “ครั้นข้าพเจ้าเข้านอนเฝ้าคุ้มหลวงได้ ๖ คืน เจ้าหลวงก็บอกข้าพเจ้าว่า พวกเงี้ยวจะพากันเข้ามาปล้นเมืองแพร่วันพรุ่งนี้รู้หรือเปล่า ข้าพเจ้าก็บอกว่าไม่รู้  เจ้าหลวงจึงบอกข้าพเจ้าไปเอาปืน ๑๒ นัดที่บ้านพระไชยสงครามมาป้องกันตัวไว้ ๑ กระบอก”
     ในวันที่ ๒๔ กรกฎาคมนั้น เจ้าเมืองแพร่ก็ได้เรียกตัว เจ้าพลอยแก้ว หลานสาวซึ่งไป   คลุกคลีอยู่ในบ้านพักข้าหลวงกับคุณหญิงเยื้อน ภริยาของพระยาไชยบูรณ์ให้กลับคุ้มด่วน เพราะเกรงอันตรายจากพวกเงี้ยวจะเกิดแก่เจ้าพลอยแก้ว
     เมื่อพวกกองโจรเงี้ยวปล้นเมืองแพร่สำเร็จแล้ว เจ้าเมืองแพร่ได้แสดงตัวเป็นผู้สนับสนุนพวกโจรเงี้ยวอย่างเด่นชัด โดยเกณฑ์ข้าวสารชาวบ้านหลังคาละ ๒ ทะนาน อาวุธปืน กระสุนดินดำ เงิน และกองกำลัง จำนวน ๕๐ คน ส่งไปช่วย พะกาหม่องต่อสู้กับฝ่ายรัฐบาล
จากหลักฐานต่างๆ ที่กล่าวมาทำให้เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรีเข้าใจว่า เจ้าเมืองแพร่ เจ้า   ราชบุตร เจ้าไชยสงคราม มีส่วนสนับสนุนให้กองโจรเงี้ยวก่อการกบฏขึ้นอย่างแน่นอน และเชื่อว่าต้องมีการตระเตรียมการล่วงหน้ามาช้านานพอสมควร
     ก่อนที่เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรีจะได้ชำระความผิดผู้ใด เจ้าราชวงษ์และภริยาก็ตกใจกลัวความผิดดื่มยาพิษฆ่าตัวตายเสียก่อน เพราะได้ข่าวลือว่ารัฐบาลจะประหารชีวิตผู้เกี่ยวข้องกับกบฏเงี้ยว   ทุกคน
เมื่อเกิดอัตวินิบาตกรรมขึ้นเช่นนี้ เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรีเกรงว่าจะเป็นการสร้างความ   เข้าใจผิดกันว่ารัฐบาลกระทำการรุนแรงต่อเจ้านายเมืองแพร่ ครั้นจะสืบหาพยานต่อไปอีกหลักฐานก็จะผูกมัดเจ้าเมืองแพร่ และเจ้านายบุตรหลานที่เกี่ยวข้องยิ่งขึ้น จนในที่สุดจะต้องถูกตัดสินประหารชีวิตในข้อหากบฏอย่างแน่นอน หากคดีจบในรูปนั้นย่อมกระทบกระเทือนใจเจ้านายฝ่ายเมืองเหนือทุกเมือง เพราะต่างเกี่ยวพันฉันท์ญาติผู้สืบสายราชวงศ์เจ้าเจ็ดตนด้วยกัน ทั้งยังสร้างความสะเทือนใจแก่ราษฎรทั้งหลายในลานนาไทย
     ดังนั้นเจ้าพระยาสุรศักศ์มนตรี จึงพยายามคิดหาวิธีที่ละมุนละม่อมตามนโยบายรัฐบาล ซึ่งต้องการใช้วิธีผ่อนปรนต่อเจ้านายเมืองแพร่ ขณะเดียวกันก็พยายามไม่ให้เจ้านายเมืองแพร่ตื่นตกใจหนีเข้าพึ่งอิทธิพลอังกฤษ อันอาจจะก่อให้เกิดปัญหาระหว่างประเทศได้
     ในที่สุด เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรีก็ใช้วิธีปล่อยข่าวว่าจะมีการจับกุมตัวเจ้าเมืองแพร่และ    เจ้าราชบุตร ข่าวลือนี้ได้ผล เพราะตอนดึกคืนนั้น เจ้าเมืองแพร่พร้อมด้วยคนสนิทอีกสองคนก็หลบหนีออกจากเมืองแพร่ทันที
     อย่างไรก็ดี การหลบหนีของเจ้าเมืองแพร่ในคืนนั้นได้รับการสนับสนุนจากเจ้าพระยา      สุรศักดิ์มนตรี โดยมีคำสั่งลับมิให้กองทหารที่ตั้งสกัดอยู่รอบเมืองแพร่ขัดขวาง ทำให้การหลบหนีของ   เจ้าเมืองแพร่เป็นไปอย่างสะดวกจนถึงหลวงพระบางอย่างปลอดภัย
     เมื่อเจ้าเมืองแพร่หนีไปได้ ๑๕ วัน ถือว่าเป็นการละทิ้งหน้าที่ราชการ จึงเป็นโอกาสให้เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรีสามารถออกคำสั่งถอดเจ้าพิริยเทพวงศ์ออกจากตำแหน่งเจ้าเมืองแพร่ทันที พร้อมกับสั่งอายัดทรัพย์เพื่อชดใช้หนี้หลวงที่เจ้าเมืองแพร่ค้างกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ สำหรับคดีความผิดฐานร่วมก่อการกบฏก็เป็นอันต้องระงับโดยปริยาย ไม่มีการรื้อฟื้นขึ้นอีก
     เจ้าพิริยเทพวงศ์ เจ้าเมืองแพร่คนสุดท้ายได้ใช้ชีวิตในบั้นปลายที่เมืองหลวงพระบางจนถึงแก่พิราลัย
สำหรับเจ้าราชบุตร ผู้เป็นบุตรเขยเจ้าเมืองแพร่นั้น มีพยานหลักฐานและพฤติการณ์บ่งชัดว่าได้รู้เห็นเป็นใจกับพวกเงี้ยวเพราะโดยหน้าที่ เจ้าราชบุตรเป็นร้อยตำรวจเอกจะต้องนำกำลังออกต่อสู้ต้านทานพวกโจรเงี้ยว แต่ปรากฏว่าเจ้าราชบุตรไม่ได้ทำหน้าที่อันควรกระทำ กลับไปทำสิ่งตรงกันข้ามคือ เป็นผู้เกณฑ์กำลังออกไปสนับสนุนพวกโจรเงี้ยว ทั้งยังส่งกระสุนดินดำพร้อมเสบียงอาหารให้พวกเงี้ยว พฤติการณ์ดังกล่าวเป็นความผิดขั้นรุนแรงมีโทษถึงประหารชีวิต แต่เนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายหลีกเลี่ยงการประหารชีวิต เพราะไม่ประสงค์จะให้กระทบกระเทือนใจเจ้านายเมืองเหนือ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เจ้าราชบุตรเป็นบุตรชายของเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช เจ้าเมืองน่าน หากกระทำตามกฎเกณฑ์ก็จะกระทบกระเทือนใจเจ้าเมืองน่าน ดังนั้น เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรีจึงสั่งให้ร้อยตำรวจเอกเจ้าราชบุตรนำกองกำลังตามขึ้นไปตีพวกโจรเงี้ยวที่แตกไปอยู่ตำบลสะเอียบ อันเป็นวิธีสร้างความดีลบล้างความผิด ซึ่งร้อยตำรวจเอกเจ้าราชบุตรก็สามารถกระทำงานที่มอบหมายสำเร็จคือตีพวกกองโจรเงี้ยวจนแตกพ่ายไป ได้ริบทรัพย์จับเชลยกลับมาเป็นจำนวนมาก
     ในปีต่อมา พ.ศ. ๒๔๔๖ เจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช เจ้าเมืองน่าน ได้ขอย้ายเจ้าราชบุตรไปรับราชการที่เมืองน่าน และขอรับพระราชทานสัญญาบัตรเป็นเจ้าราชดนัย อันเป็นตำแหน่งใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ทรงเห็นชอบด้วย

เมื่อพิจารณา สาเหตุกบฏเงี้ยวเมืองแพร่ อาจแบ่งได้เป็น ๒ ประการ คือ
     ประการแรก เกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองภายในเมืองแพร่นับตั้งแต่ช่วงจัดการ    ปกครองแบบเทศาภิบาล ซึ่งเป็นตอนที่รัฐบาลยุบเลิกฐานะเมืองประเทศราชและรวมอำนาจเข้าสู่     ส่วนกลาง ดังจะเห็นได้ว่าฐานะทางการเมืองนั้น เจ้าเมืองมีแต่เกียรติยศ ไม่มีอำนาจอย่างแท้จริง เพราะอำนาจสิทธิขาดตกเป็นของข้าหลวง ซึ่งเป็นข้าราชการที่ส่งมาจากส่วนกลาง
     ในทางด้านเศรษฐกิจก็ถูกตัดทอนผลประโยชน์ลงสร้างความไม่พอใจแก่เจ้าเมือง และ     เจ้านายบุตรหลานทั้งหลายในแต่ละเมือง จึงปรากฏปฏิกิริยาออกมาในลักษณะต่างๆ กัน เช่นที่เชียงใหม่เจ้านายบุตรหลานไม่พอใจเรื่องลดผลประโยชน์เป็นอันมาก เมืองแพร่ตกอยู่ในสภาพลำบาก เนื่องจากในช่วงที่พระยาศรีสหเทพ (เส็ง  วิรยศิริ) ปฏิรูปการปกครอง พ.ศ. ๒๔๔๒ ได้จัดการอย่าง    รุนแรงและบีบบังคับยิ่งกว่าเมืองอื่นๆ โดยไม่คำนึงถึงว่าเมืองแพร่เพิ่งจะจัดการปกครองเป็นครั้งแรก พ.ศ. ๒๔๓๗
ในครั้งนั้น ด้านการคลังพระยาทรงสุรเดชยังผ่อนปรน ไม่ได้แบ่งเงินผลประโยชน์ของ     เจ้าเมืองออกจากเงินแผ่นดิน ดังนั้น เจ้าพิริยเทพวงศ์จึงเก็บรักษาเงินปนกันหมด และนำเงินหลวงมาจ่ายในกิจการป่าไม้ของตนก่อน โดยเข้าใจว่าเป็นเงินของตน เมื่อพระยาศรีสหเทพตรวจสอบการเงินก็พบว่าเงินหลวงขาดไป จึงสั่งกักขังเจ้าเมืองแพร่ไว้จนกว่าจะหาเงินมาชดใช้ให้ครบภายใน ๒๔ ชั่วโมง เจ้านายบุตรหลานต้องหาเงินมาชดใช้จนครบ เจ้าเมืองแพร่จึงได้รับการปล่อยตัว
นับเป็นการกระทำที่บีบคั้นจิตใจและไม่ให้เกียรติกัน นอกจากนั้นยังกำหนดอัตราการใช้จ่ายเงินของเจ้าเมืองแพร่ไม่ให้จ่ายฟุ่มเฟือย เพราะฐานะทางเศรษฐกิจตกต่ำ จนกระทั่งกำหนดให้ใช้เงินเพียงเดือนละ ๒,๐๐๐.- บาท และจะต้องขอยืมจากท้องพระคลังก่อน
     ประการที่สอง เนื่องจากเงี้ยวชาวเมืองและราษฎรพื้นเมืองให้การสนับสนุนกองโจรเงี้ยว การโจมตีเมืองแพร่ มิใช่มีแต่บรรดาเจ้านายเมืองแพร่เท่านั้นที่สนับสนุนพวกโจรเงี้ยว ชาวเมืองก็จับอาวุธขึ้นช่วยพวกกองโจรเงี้ยวด้วย ทั้งนี้ มีสาเหตุสืบเนื่องมาจากชาวเงี้ยวซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยจาก     รัฐฉานเข้ามาอาศัยกระจัดกระจายอยู่ทั่วไปในมณฑลพายัพเป็นเวลานานแล้ว พวกเงี้ยวส่วนใหญ่มักเป็นผู้ทำมาหากินตามปกติและปะปนอยู่กับชาวบ้านเมืองแพร่ ทำให้มีความสนิทสนมกันเป็นอันดี เมื่อเกิดความทุกข์ยากลำบากใจจึงร่วมมือสนับสนุนทันที

การจัดรูปการปกครองเมืองแพร่ตามระบอบมณฑลเทศาภิบาลของเมืองแพร่
     ปี พ.ศ. ๒๔๕๘ ทางราชการได้ประกาศให้รวมหัวเมืองฝ่ายเหนือขึ้นเป็นมณฑล โดยจัดให้เมืองแพร่ เมืองน่าน เมืองลำปาง รวมเป็นมณฑลเรียกว่ามณฑลมหาราษฎร์และให้ตั้งที่ว่าการมณฑลขึ้นที่จังหวัดลำปาง
ผู้สำเร็จราชการมณฑล ๓ ท่าน คือ
     - มหาเสวกตรี พระยาเพชรรัตนราชสงคราม (เลื่อง  ภูมิรัตน)
     - จางวางตรี พระยาไกรเพชรรัตนสงคราม (ชม  โชติกะพุกกะณะ)
     - มหาเสวกโท พระยาเดชานุชิต (หนา  บุนนาค)
     ปี พ.ศ. ๒๔๖๙ ทางราชการได้สั่งให้รวมมณฑลมหาราษฎร์กับมณฑลพายัพดังเดิม มีที่ว่าการมณฑลตั้งอยู่ที่เมืองเชียงใหม่
     ปี พ.ศ. ๒๔๗๖ ทางราชการยกเลิกการปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาล ประกาศใช้     พระราชบัญญัติจัดระเบียบบริหารราชการแผ่นดินใหม่ โดยแบ่งเป็นภาคๆ เมืองแพร่จัดอยู่ในภาคที่ ๕ ที่ทำการภาคตั้งอยู่ที่จังหวัดลำปาง ขึ้นกับกระทรวงมหาดไทย
ต่อมาปี พ.ศ. ๒๕๐๐ ทางราชการได้ประกาศยกเลิกการปกครองแบบภาค ให้ทุกจังหวัดขึ้นตรงรัฐบาลกลางที่กรุงเทพมหานคร จนกระทั่งถึงปัจจุบัน

ส่วนท้องถิ่น แบ่งออกเป็น
     องค์การบริหารส่วนจังหวัด          ๑  แห่ง
     เทศบาลเมืองแพร่                      ๑  แห่ง
     สุขาภิบาล                                ๙  แห่ง
     สภาตำบล                               ๖๓ แห่ง



*************************************************************************************************************************************************
     ประวัติมหาดไทยส่วนภูมิภาค จังหวัดแพร่. ปทุมธานี. โรงพิมพ์สถานสงเคราะห์หญิงปากเกร็ด, ๒๕๒๘

จังหวัดสุโขทัย


ประวัติศาสตร์จังหวัดสุโขทัย

     จากการศึกษาร่องรอยทางโบราณคดีและโบราณวัตถุ ศิลาจารึก และตำนานพงศาวดารท้องถิ่นหลายฉบับ ทำให้เข้าใจว่า ระยะก่อนปี พ.ศ. ๑๖๗๑ นั้น ปรากฏว่าอำนาจของอาณาจักรเขมร  รุ่งเรืองมากในดินแดนสุวรรณภูมิ โดยเฉพาะตั้งแต่ประมาณปี พ.ศ. ๑๖๐๐ เป็นต้นมา จนถึงสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ อาณาจักรเขมรมีศูนย์กลางอำนาจทางลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาอยู่ที่เมืองละโว้ (ลพบุรี) อาณาจักรเขมรมีการปกครองแบบราชาธิปไตย กษัตริย์จะส่งขุนนางมาปกครองเมืองบริวาร โดยเมืองบริวารจะต้องส่งส่วยเป็นเครื่องราชบรรณาการให้แก่นครหลวง ขณะเดียวกับบางท้องถิ่นอาจเป็นอิสระมีอำนาจปกครองตนเอง กลุ่มชนมีขนาดไม่ใหญ่โต ผู้ปกครองเป็นผู้ที่ได้รับรับการยกย่องจากกลุ่มชนให้เป็นผู้ ปกครอง ไม่มีความซับซ้อนในการปกครองเพราะประชาชนยังมีน้อย บริเวณที่มีความสำคัญในบริเวณภาคเหนือตอนล่าง คือ
     ๑. บริเวณเมืองศรีเทพ ลุ่มแม่น้ำป่าสัก ซึ่งมีซากโบราณสถานเป็นปรางค์ที่สร้างด้วยศิลาแลงและอิฐ รวมทั้งเทวรูปศิลาหลายองค์ ที่เห็นได้ชัดว่าเป็นศิลปกรรมแบบเขมร
     ๒. บริเวณเมืองสองแคว (พิษณุโลก) ซึ่งปรากฏมีโบราณสถานเป็นศิลปกรรมแบบเขมร   ได้แก่ พระปรางค์วัดจุฬามณี ซึ่งก่อสร้างด้วยศิลาแลง
     ๓. บริเวณเมืองสุโขทัย และเมืองศรีสัชนาลัย ซึ่งเป็นโบราณสถานที่เป็นศิลปกรรมแบบเขมร คือ พระปรางค์วัดเจ้าจันทร์ พระปรางค์ ๓ องค์วัดพระพายหลวง ศาลตาผาแดงและฐาน        พระปรางค์วัดศรีสวาย เมืองเก่าสุโขทัย เป็นต้น
     สุโขทัยในฐานะที่เป็นแคว้นทางการปกครองอย่างเป็นเอกเทศ ได้ปรากฏรูปร่างขึ้นมาเมื่อพุทธศตวรรษที่ ๑๘ เมื่อวีรบุรุษไทย ๒ คน คือ พ่อขุนผาเมือง เจ้าเมืองราด และพ่อขุนบางกลางหาว เจ้าเมืองบางยาง สหายทั้ง ๒ ท่าน ได้ร่วมมือกันยึดเมืองสุโขทัยและศรีสัชนาลัยคืนมาจากข้าศึกที่ชื่อว่า “ขอมสบาดโขลญลำพง”
    เมืองสุโขทัยเดิม พญาศรีนาวนำถม เป็นเจ้าเมืองครองอยู่ แต่ครั้นเมื่อพญาศรีนาวนำถมถึงแก่กรรมลง ได้เกิดเรื่องยุ่งยากขึ้น โดยต้องตกอยู่ในอำนาจปกครองของขอมสบาดโขลญลำพง ดังนั้นพ่อขุนผาเมืองผู้เป็นโอรส จึงได้ร่วมกับพ่อขุนบางกลางหาวยึดอำนาจคืน สำหรับพ่อขุนผาเมืองนั้นนอกจากเป็นโอรสของเจ้าเมืองสุโขทัยเก่า และเป็นเจ้าเมืองราดแล้ว ยังดำรงฐานะเป็นราชบุตรเขยของกษัตริย์เขมรและได้รับมอบนามเกียรติยศ คือ “ศรีอินทราบดินทราทิตย์” กับพระขรรค์ชัยศรีจากกษัตริย์เขมรด้วย
เมื่อทั้งสองยึดเมืองศรีสัชนาลัยกับสุโขทัยได้แล้ว พ่อขุนผาเมืองจึงได้มอบเมืองสุโขทัยให้สหายตนครอบครอง พร้อมทั้งนามเกียรติยศตนให้แก่สหาย ส่วนตัวเองกลับไปครองเมืองราดเช่นเดิม ด้วยเหตุนี้ พ่อขุนบางกลางหาวจึงได้เป็นที่รู้จักกันภายหลังในนามว่า “ศรีอินทราบดินทราทิตย์” หรือ “ศรีอินทราทิตย์”
     พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ครอบครองสุโขทัยเป็นศูนย์กลางมีอำนาจอยู่แถบบริเวณลุ่มแม่น้ำยมและแม่น้ำปิงตอนล่าง ทรงมีโอรสที่ปรากฏนามอยู่สองพระองค์ คือ พ่อขุนบานเมืองผู้พี่และพ่อขุน    รามราชผู้น้อง
     ในขณะนั้นบ้านเมืองยังอยู่ในความไม่สงบ ยังมีผู้นำของกลุ่มชนอิสระอยู่อีกหลายกลุ่มที่คิดจะตั้งตัวเป็นใหญ่ ดังนั้น ในการรวบรวมกลุ่มชนต่างๆ เหล่านั้นเข้าด้วยกันจึงต้องมีการทำสงครามต่อสู้กัน ดังเช่นครั้งหนึ่งเมื่อพ่อขุนรามราช อายุได้ ๑๙ ปี ประมาณปี พ.ศ. ๑๘๐๐ ขุนสามชนเจ้าเมืองฉอดมาตีเมืองตาก ซึ่งเป็นเมืองอยู่ในอาณาเขตปกครองของพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ ครั้งนั้นพ่อขุนรามราชได้ช่วยพระราชบิดาออกสู้รบด้วย และสามารถชนช้างชนะขุนสามชนได้ พ่อขุนศรอินทราทิตย์จึงให้นาม พ่อขุนรามราชว่า “พระรามคำแหง”
     เมื่อขุนศรีอินทราทิตย์สิ้นพระชนม์ พ่อขุนบานเมือง ได้ขึ้นครองราชย์ต่อมา แต่อยู่ในช่วงระยะสั้นๆ ไม่ปรากฏเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ เมื่อพ่อขุนบานเมืองสิ้นพระชนม์ในปี พ.ศ. ๑๘๒๒ พ่อขุนรามคำแหง จึงได้ครองราชย์ต่อมาและได้ทรงเป็นมหาราชย์พระองค์แรกของชาติไทย ในสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราชถือได้ว่าเป็นยุคทองของสุโขทัย อาณาจักรสุโขทัยมีความเจริญรุ่งเรืองกว่าในรัชกาลใดๆ ในราชวงศ์พระร่วง ราชอาณาจักรแผ่ขยายไปอย่างกว้างขวาง
ทิศเหนือ อาณาเขตถึงเมืองหลวงพระบาง โดยมีเมืองต่างๆ คือ เมืองแพร่ เมืองน่าน   เมืองปัว
ทิศใต้ อาณาเขตถึงฝั่งทะเลสุดเขตมาลายู โดยมีเมืองต่างๆ คือ เมืองคนที เมืองพระบาง เมืองแพรก เมืองสุพรรณภูมิ เมืองเพชรบุรี และเมืองนครศรีธรรมราช
     ทิศตะวันออก อาณาเขตถึงเมืองเวียงจันทน์ และเมืองเวียงคำ โดยมีเมืองสระหลวง เมืองสองแคว เมืองลุมบาจาย และเมืองสคา
     ทิศตะวันตก อาณาเขตถึงเมืองฉอดและเมืองหงสาวดี
ในรัชสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช บ้านเมืองอยู่อย่างสงบ มีความร่มเย็นเป็นสุขดังที่ปรากฏในศิลาจารึกว่า “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว” การพาณิชย์เจริญก้าวหน้า พระองค์ได้ทรงวางระเบียบปกครองบ้านเมือง ทั้งยังประดิษฐ์อักษรไทยขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๑๘๒๖ กับทั้งทรงดูแลการเพิ่มผลผลิตของประชากรเพื่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจของอาณาจักร
     พระราชโอรสพระองค์หนึ่งของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช คือ พญาเลอไท ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นพระมหาอุปราชครองเมืองศรีสัชนาลัย ในขณะที่พ่อขุนรามคำแหงมหาราชครองราชสมบัติอยู่ เมื่อพ่อขุนรามคำแหงมหาราชสวรรคตในราว พ.ศ. ๑๘๔๒ เมืองต่างๆ ที่เคยอยู่ในอำนาจของอาณาจักรสุโขทัย ได้แตกแยกกันออกเป็นอิสระ ทำให้เสถียรภาพของอาณาจักรสุโขทัยอยู่ในฐานะที่คับขัน กษัตริย์ที่ครองราชสมบัติสืบต่อจากพ่อขุนรามคำแหง คือ พญาไสสงคราม การที่เมืองต่างๆ พยายามแยกตัวออกเป็นอิสระ รวมทั้งเมืองที่อยู่ใกล้กับเมืองหลวงพยายามแยกตัวออกไป แสดงให้เห็นว่าถ้าไม่เกิดความยุ่งยากในราชวงศ์ก็ขึ้นอยู่กับการปกครองเป็นสำคัญ เพราะการปกครองในสมัยนั้นเป็นแบบนครรัฐ คือแต่ละเมืองก็มีผู้ปกครองนครเป็นอิสระ เข้ามารวมกันได้ก็เพราะศรัทธากษัตริย์องค์เดียวกันเท่านั้น
     หลังจากรัชกาลของพญาไสสงครามแล้ว พญาเลอไทได้ครองราชสมบัติต่อมาราว พ.ศ. ๑๘๖๖ ซึ่งน่าจะต้องดำเนินนโยบายในการพยายามรวบรวมอาณาจักรเข้ามาอีกครั้งหนึ่ง ตลอดระยะเวลา ๑๘ ปี ที่พระองค์ครองราชสมบัติอยู่นั้นไม่มีรายละเอียดปรากฏอยู่มากนัก พระองค์สวรรคตราวปี พ.ศ. ๑๘๘๔
ต่อมารัชกาลพญาเลอไท มีกษัทตริย์ที่ออกพระนามในศิลาจารึกพระองค์หนึ่งคือ พญางัว-นำถม  ในฐานะพระอนุชาแต่เป็นโอรสของพ่อขุนบานเมือง ได้ขึ้นครองเมืองสุโขทัยและได้โปรดให้พญา   ลิไท ผู้เป็นโอรสของพญาเลอไทไปครองเมืองศรีสัชนาลัย ในฐานะอุปราชครองเมืองลูกหลวง เมื่อ    พญางัวนำถมสวรรคตในราว พ.ศ. ๑๘๙๐ เกิดความเปลี่ยนแปลงภายในราชสำนักกรุงสุโขทัยที่ไม่ชอบตามขนบธรรมเนียม บรรดาหัวเมืองต่างๆ แสดงตัวอย่างเปิดเผยถึงการดำรงอยู่อย่างอิสระ ไม่ยอมขึ้นกับส่วนกลาง พญาลิไทจึงลอบเสด็จยกทัพจากเมืองศรีสัชนาลัยใช้กำลังเข้ายึดเมืองไว้ได้ แล้วปราบดาภิเษกเป็นกษัตริย์กรุงสุโขทัย ทรงพระนามว่า “ศรีสุริพงศ์รามมหาธรรมราชาธิราช” เมื่อครอง    กรุงสุโขทัยแล้วทรงปราบปรามเจ้าเมืองต่างๆ ภายในแคว้น แล้วแต่งตั้งพระบรมวงศานุวงศ์ที่ไว้วาง พระราชหฤทัย ไปปกครองรวมอำนาจไว้ที่ศูนย์กลาง คือ กรุงสุโขทัย บ้านเมืองจึงอยู่ด้วยความสงบเรียบร้อยอีกครั้งหนึ่ง
     ความพยายามของพระมหาธรรมราชชาลิไท ภายหลังขึ้นครองราชสมบัติแล้ว คือ ความ  มุ่งหวังที่จะรวบรวมเมืองต่างๆ ที่แตกแยกกันออกไปให้กลับเข้ามารวมในอาณาจักรเดียวกันอีกและมีความหวังว่าจะให้มีอาณาเขตใหญ่โตเท่ากับสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราชจนถึงกับเสด็จไปยังเมืองต่างๆ เพื่อเผยแพร่และกระทำกิจทางศาสนา ซึ่งขณะเดียวกันก็แสดงให้เมืองต่างๆ ที่พระองค์เสด็จไปเห็นว่า พระองค์มีแสนยานุภาพและมีพระราชอำนาจเต็มในกิจการต่างๆ ทั่วราชอาณาจักรของพระองค์ เช่นในปี พ.ศ. ๑๙๐๒ พระองค์เสด็จยกทัพไปตีเมืองแพร่ กวาดต้อนครัวเรือนมาเป็นข้าพระที่วัดป่าแดง      ศรีสัชนาลัย และในปีนั้นก็ได้ประดิษฐ์รอยพระพุทธบาทจำลองที่เขาสุมนกูฎ เมืองสุโขทัย
     ในฐานะผู้ครอบครองแคว้นสุโขทัย พระมหาธรรมราชาลิไท ทรงพยายามดำเนินรอยตามเบื้องพระยุคลบาท พ่อขุนรามคำแหงมหาราช คือ เป็นทั้งนักปราชญ์ผู้สนพระทัยในทางศาสนาโดยให้ความอุปถัมภ์พระพุทธศาสนา ส่งสมณทูตไปเผยแพร่พระพุทธศาสนายังที่ต่างๆ ที่พระองค์ต้องการเป็นพันธมิตรด้วย เช่น เมืองน่าน หลวงพระบาง และกรุงศรีอยุธยา แต่ขณะเดียวกันก็ได้แสดงบทบาทของการเป็นนักรบที่พยายามขยายอำนาจของแคว้นสุโขทัยให้กว้างขวางยิ่งขึ้น ในสมัยของพระองค์     นอกจากจะได้ยกทัพไปตีเมืองแพร่ทางทิศเหนือแล้ว ทางทิศตะวันออก ได้พยายามขยายขอบเขตออกไปถึงเมืองลุ่มแม่น้ำป่าสัก จากบทบาทการเป็นนักรบของพระองค์ที่ขยายพระราชอำนาจไปยังเมือง   ลุ่มน้ำป่าสักนี้เอง ทำให้กระทบกระทั่งกับกรุงศรีอยุธยา ที่มีความเกี่ยวข้องกับบ้านเมืองแถบนั้น สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ (พระเจ้าอู่ทอง) จึงเสด็จลอบยกทัพมายึดเมืองสองแควไว้ได้ และได้โปรดให้ขุนหลวงพ่องั่ว พระเชษฐาของพระมเหสี ซึ่งขณะนั้นครองเมืองสุพรรณบุรี มาปกครองเมืองสองแคว ทำให้พระมหาธรรมราชาลิไท ต้องถวายบรรณาการเป็นอันมาก ในที่สุดสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ จึงทรงมอบเมืองสองแควคืน และโปรดให้ขุนหลวงพ่องั่วไปครองเมืองสุพรรณบุรีดังเดิม
     ในการคืนเมืองสองแควนั้น สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ ทรงตั้งเงื่อนไขว่าพระมหาธรรมราชา  ลิไท ต้องเสด็จไปประทับที่เมืองสองแคว จึงเป็นเหตุให้แคว้นสุโขทัยที่เริ่มจะรวมตัวกันได้ต้องสั่นคลอน เมื่อพระมหาธรรมราชาลิไทเสด็จไปประทับอยู่เมืองสองแควได้โปรดให้พระอนุชาปกครองเมืองสุโขทัยแทน
ในปี พ.ศ. ๑๙๑๒ สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ สวรรตค สมเด็จพระราเมศวรขึ้นครองราชสมบัติ เมื่อพระมหาธรรมราชาลิไททรงทราบ จึงคาดสถานการณ์ว่า ทางกรุงศรีอยุธยาคงต้องมีเหตุไม่เรียบร้อยขึ้นแน่ พระองค์จึงรวบรวมพลจากเมืองต่างๆ ในแคว้นสุโขทัยที่เจ้าเมืองยังคงจงรักภักดีต่อพระองค์ เสด็จยกพลมายังกรุงสุโขทัย การเสด็จกลับคืนสุโขทัยในครั้งนี้ หลังจากที่ต้องทรงประทับอยู่ที่สองแควถึง ๗ ปี จึงเป็นการเตรียมการที่จะใช้ตำแหน่งของเจ้าเมืองสุโขทัยอันเป็นบัลลังก์ที่บรรพบุรุษของพระองค์ได้สั่งสมอำนาจไว้นั้น เพื่อเป็นศูนย์กลางในการระดมกำลังก่อตั้งอาณาจักรสุโขทัยให้มีฐานะมั่นคงสืบไป พระองค์ทรงเริ่มบทบาทโดยการเป็นพันธมิตรกับแคว้นล้านนาซึ่งขณะนั้นมีเจ้ากือนา เป็นกษัตริย์ปกครอง โดยพระองค์ได้ส่งตระสุมนะเถระเป็นสมณะทูตขึ้นไปเผยแพร่พระพุทธศาสนาที่เมืองเชียงใหม่
ในปี พ.ศ. ๑๙๑๓ ขุนหลวงพ่องั่วซึ่งขึ้นครองเมืองสุพรรณบุรี ได้เห็นความเคลื่อนไหวของพระมหาธรรมราชาลิไทที่กรุงสุโขทัย พระองค์จึงเข้ายึดอำนาจกรุงศรีอยุธยาด้วยความยินยอมของสมเด็จพระราเมศวร ซึ่งได้ทรงกลับไปครองเมืองลพบุรีตามเดิม  ขุนหลวงพ่องั่วเสด็จขึ้นครองราชย์ทรงพระนามว่า "สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๑"
     พระมหาธรรมราชาลิไท เสด็จสวรรคตเมื่อปีใดไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด แต่สันนิษฐานว่าอยู่ในระหว่าง พ.ศ. ๑๙๑๓-๑๙๑๖ หลังจากนั้นอาณาจักรสุโขทัยเกิดความแตกแยก เนื่องจากขาดผู้นำอาณาจักรที่เป็นที่ยอมรับของญาติพี่น้องครองเมืองต่างๆ สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๑ จึงเสด็จขึ้นมายึดอาณาจักรสุโขทัยได้ทั้งหมด หากแต่ยังโปรดให้เชื้อพระวงศ์ทางสุโขทัยปกครองตนเอง โดยขึ้นตรงกับอาณาจักรอยุธยา คือ พระมหาธรรมราชาที่ ๒ ซึ่งในสมัยของพระองค์ อาณาจักรสุโขทัยอยู่ในฐานะเป็นรัฐกันชนระหว่างอาณาจักรเชียงใหม่กับอาณาจักรอยุธยา ซึ่งต่างก็แสดงความเคลื่อนไหวในการที่จะผนวกเอาดินแดนของอาณาจักรสุโขทัยตลอดเวลา   ฝ่ายกรุงศรีอยุธยาพระบรมราชาธิราชที่ ๑      (ขุนหลวงพ่องั่ว)  พระองค์ทรงเกรงว่าอาณาจักรสุโขทัยจะมีไมตรีกับอาณาจักรเชียงใหม่ เพราะหากทั้งสองอาณาจักรร่วมมือกันแล้วจะทำให้อาณาจักรอยุธยาอยู่ในฐานะลำบาก จึงทรงยกทัพมาปราบปรามหัวเมืองชายแดนที่ติดต่อกับอาณาเขตของสุโขทัย และหาเหตุเข้าโจมตีเมือง ในอาณาจักรสุโขทัยด้วย ตามพงศาวดารอยุธยากล่าวว่า
          พ.ศ. ๑๙๑๔ สมเด็จพระบรมราชาธิราช (ขุนหลวงพ่องั่ว) มีชัยชนะต่อหัวเมืองเหนือทั้งปวง
          พ.ศ. ๑๙๑๕ อยุธยายกทัพไปตีเมืองนครพังคา และเมืองแสงเชรา
          พ.ศ. ๑๙๑๖ อยุธยายกทัพไปตีเมืองชากังราว พญาไสแก้ว กับ พญาคำแหง สู้รบป้องกันเมืองจนพญาไสแก้วเสียชีวิตในที่รบ พญาคำแหงถอยทัพกลับเข้าเมืองได้
          พ.ศ. ๑๙๑๘ อยุธยายกทัพไปตีเมืองพิษณุโลก ขุนสามแก้ว เจ้าเมืองพิษณุโลกถูกจับได้  ทัพอยุธยาได้เมืองและกวาดต้อนผู้คนจากเมืองพิษณุโลกกลับมามาก
          พ.ศ. ๑๙๑๙  อยุธยายกกองทัพไปตีเมืองชากังราว ครั้งที่สอง คราวนี้กองทัพพญาผากองเจ้าเมืองน่านมาช่วยรบร่วมกับพญาคำแหงด้วย แต่ก็ไม่สามารถสู้กองทัพอยุธยาได้ พญาผากองยกกองทัพหนีไป กองทัพอยุธยาตามจับตัวแม่ทัพนายกองได้มาก
          พ.ศ. ๑๙๒๑ อยุธยายกกองทัพไปตีเมืองชากังราว เป็นครั้งที่ ๓ พระมหาธรรมราชา      ยกกองทัพออกมาป้องกันเมืองด้วยพระองค์เอง แต่ก็ต้องยอมพ่ายแพ้แก่กองทัพอยุธยาจนถึงกับต้องยอมถวายบังคมอ่อนน้อมต่ออาณาจักรอยุธยา
     เมื่อพระมหาธรรมราชาที่ ๒ ยอมถวายบังคมต่อสมเด็จพระบรมราชาธิราชแห่งอยุธยาแล้ว เสถียรภาพทางการเมืองของสุโขทัยยิ่งลดน้อยลงตามลำดับ ทั้งนี้เพราะถูกอาณาจักรอยุธยาจำกัดอำนาจลง  กับรวมทั้งการที่กษัตริย์สุโขทัยย้ายที่ประทับอยู่ที่เมืองสองแควด้วย
พระมหาธรรมราชาที่ ๒ สวรรคตราว พ.ศ. ๑๙๔๒ และพญาไสลือไทขึ้นครองราชสมบัติ ต่อมาทรงพระนามว่า "พระมหาธรรมราชาที่ ๓" อาจกล่าวได้ว่าภายหลังที่ทางอาณาจักรอยุธยาตัดกำลังหัวเมืองต่างๆ ของสุโขทัยลงแล้ว เสถียรภาพทางการเมืองของอาณาจักรสุโขทัยก็ทรุดลงและยากที่จะแก้ไขให้มั่นคงขึ้นได้ เนื่องจากอาณาจักรอยุธยาสามารถขยายตัวออกไปได้อย่างกว้างขวาง แต่ถึงกระนั้น พระมหาธรรมราชาที่ ๓ ก็ได้ทรงกู้เสถียรภาพทางการเมืองของสุโขทัย โดยได้ยกกองทัพออกไปปราบปรามหัวเมืองต่างๆ ให้อยู่ในอำนาจแม้จะไม่ได้มากเท่ากับครั้งพญาลิไทก็ตาม แต่พระองค์ก็ได้ทำสงครามหลายครั้งรวมทั้งเคยยกทัพไปตีเมืองเชียงใหม่ เมื่อ พ.ศ. ๑๙๔๕ ด้วย ซึ่งแม้จะไม่ได้ผลทางชัยชนะเลยก็ตาม แต่เป็นการแสดงถึงความพยายามในการสร้างอาณาจักรให้มีเสถียรภาพมากยิ่งขึ้นกว่าการเป็นรัฐกันชนขนาดเล็กที่อาจถูกผนวกเข้าไปอยู่กับดินแดนของอาณาจักรหนึ่งได้
พญาไสลือไท ทรงมีพระราชโอรสสองพระองค์ คือ พญาบาล และพญาราม หลังจากที่พญาไสลือไทเสด็จสวรรคต ในปี พ.ศ. ๑๙๖๒ ก็เกิดจลาจลแย่งชิงราชสมบัติ สมเด็จพระนครินทราชาธิราช (พระอินทราชาธิราช) กษัตริย์อยุธยาต้องยกทัพมาปราบจลาจลโดยยกทัพไปถึงพระบาง (นครสวรรค์) พญาบาล และพญาราม ต้องออกมากราบบังคมต่อสมเด็จพระนครินทราชาธิราช  สมเด็จพระนครินทราชาธิราชจึงโปรดให้สถาปนาพญาบาลครองเมืองพิษณุโลก ทรงพระนามว่าพระเจ้าศรีสุริยวงศ์บรม-ปาลมหาธรรมราชาธิราช และพญาราม โปรดเกล้าให้ครองเมืองสุโขทัย
     พระเจ้าศรีสุริยวงศ์บรมปาลครองราชสมบัติอยู่ ๑๙ ปี  จึงเสด็จสวรรคตในปี พ.ศ. ๑๙๘๑ การสวรรคตของพระเจ้าศรีสุริยวงศ์บรมปาล (พระมหาธรรมราชาที่ ๔) นักประวัติศาสตร์ถือว่าเป็นการสิ้นสุดยุคอาณาจักรสุโขทัยด้วย
     เมื่อพระเจ้าศรีสุริยวงศ์บรมปาล สวรรคต สมเด็จพระบรมราชาที่ ๒ (เจ้าสามพระยา) จึงโปรดให้สถาปนาพระราเมศวรราชโอรส ซึ่งประสูตรจากเจ้าหญิงสุโขทัยพระองค์หนึ่ง ซึ่งขณะนั้นมี   พระชนมายุเพียง ๗ พรรษา เป็นพระมหาอุปราชครองเมืองสองแคว ทั้งนี้เพราะทรงเห็นว่าเป็นพระราชโอรสที่มีเชื้อสายทางเจ้านายฝ่ายสุโขทัย คงจะเข้ากับทางราชวงศ์สุโขทัยได้ดีและเท่ากับเป็นการผนวกดินแดนของอาณาจักรสุโขทัยในตัวไปด้วย
     สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๒ (เจ้าสามพระยา) เสด็จสวรรคตเมื่อปี ๑๙๙๑ พระราเมศวร-อุปราช จึงเสด็จจากเมืองสองแควไปครองกรุงศรีอยุธยา ทรงพระนามว่า สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ส่วนที่เมืองสองแควโปรดให้พระยุษธิฐิระ โอรสของพญารามเป็นเจ้าเมือง แต่ก็ทรงรวมอำนาจจากการบริหารราชการแผ่นดินเข้าสู่ส่วนกลางที่กรุงศรีอยุธยา ฝ่ายพระยุษธิฐิระ ไม่พอใจอย่างมากที่เป็นเพียงเจ้าเมืองสองแคว จึงหันไปผูกมิตรกับพระเจ้าติโลกราช เมืองเชียงใหม่ ทำให้เกิดการสู้รบยืดเยื้อระหว่างอาณาจักรอยุธยาและอาณาจักรเชียงใหม่ ตลอดรัชกาลของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ และเพื่อแก้ปัญหาเกี่ยวกับกลุ่มหัวเมืองเหนือ สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ จึงเสด็จขึ้นครองเมืองสองแคว และโปรดให้พระอินทราชาครองกรุงศรีอยุธยาแทนพระองค์ ในรัชสมัยของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ได้ทรงเปลี่ยนแปลงฐานะของเมืองต่างๆ ที่อยู่ในอาณาจักรสุโขทัยเดิมเสียใหม่ คือ
          ๑.  เมืองที่อยู่ในฐานะหัวเมืองชั้นเอก คือ เมืองสองแคว
          ๒. เมืองที่อยู่ในฐานะหัวเมืองชั้นโท คือ เมืองศรีสัชนาลัย เมืองสุโขทัย เมืองชากังราว และเมืองเพชรบูรณ์
          ๓.  เมืองที่อยู่ในฐานะหัวเมืองชั้นตรี ได้แก่ เมืองพิชัย เมืองสระหลวง และเมืองพระบาง
จะเห็นได้ว่าในบรรดาหัวเมืองในอาณาจักรสุโขทัยเดิม เมืองสองแควนับว่าเป็นเมืองสำคัญที่สุด ขณะเดียวกันเมืองสุโขทัย เมืองศรีสัชนาลัย อยู่ในฐานะหัวเมืองชั้นโทได้ลดความสำคัญลง
เมืองสุโขทัยคงมีประชาชนอาศัยอยู่สืบมา จนกระทั่งในสมัยรัชกาลสมเด็จพระมหาธรรม-ราชา แต่อยู่ในฐานะที่ต้องส่งส่วยอากรและผลผลิตให้แก่อยุธยาบ้าง เก็บผลประโยชน์ให้พม่าบ้าง ตามเหตุการณ์ของสงคราม จวบจนกระทั่งสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงประกาศอิสรภาพไม่ยอมอยู่ภายใต้การปกครองของพม่าที่เมืองแครง ในปี พ.ศ. ๒๑๒๗ พระองค์ได้โปรดให้กวาดต้อนคนจากหัวเมืองเหนือลงไปไว้เมืองอยุธยาทั้งหมด เนื่องจากกรุงศรีอยุธยามีกำลังน้อย และเพื่อเป็นการป้องกันมิให้พม่าใช้กำลังจากหัวเมืองเหนือเป็นฐานในการสนับสนุนส่งกำลังบำรุง ทำให้สุโขทัยต้องกลายเป็นเมืองอ่อนกำลังลง
การที่สุโขทัยอ่อนกำลังลงเช่นนี้ เป็นผลให้บรรดาสิ่งก่อสร้าง ปราสาทราชวัง วัดวาอาราม  คูเมือง กำแพงเมือง และระบบชลประทานต่างๆ ถูกภัยธรรมชาติทำลายให้เสียหาย พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงเห็นว่าศิลปโบราณวัตถุทางศาสนา เช่น  เทวรูป และพุทธรูปที่งดงามถูกทอดทิ้ง จึงโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายประติมากรรมล้ำค่าเหล่านั้น ไปประดิษฐานตามวัดวาอารามต่างๆ ในกรุงเทพมหานคร ศิลปกรรมของเมืองสุโขทัยส่วนหนึ่ง จึงเก็บรักษาอยู่ในกรุงเทพมหานครสืบมาจนกระทั่งบัดนี้ สิ่งที่เหลือเป็นอนุสรณ์ของความยิ่งใหญ่ของเมืองในอดีตมีเพียงแต่ซากของสถาปัตยกรรมที่ปรักหักพังเพียงอย่างเดียวเท่านั้น

การปกครองตั้งแต่อดีต-ปัจจุบัน
สภาพการปกครองของสุโขทัยแบ่งออกเป็นระยะที่สำคัญ ดังนี้.-
     ระยะที่ ๑ ยุคก่อนอาณาจักรสุโขทัย (ก่อนปี พ.ศ. ๑๗๖๑)
ในระยะก่อนปี พ.ศ. ๑๗๖๑ อำนาจของอาณาจักรเขมรรุ่งเรืองมากในดินแดนสุวรรณภูมิ โดยมีศูนย์กลางอำนาจทางลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาอยู่ที่เมืองละโว้ (ลพบุรี) เขมรมีการปกครองแบบราชา -ธิปไตย กษัตริย์จะส่งขุนนางมาปกครองเมืองบริวาร  โดยเมืองบริวารจะส่งส่วยเป็นบรรณาการให้แก่พระนครหลวง ขณะเดียวกันบางท้องถิ่นอาจเป็นอิสระมีอำนาจปกครองตัวเองแบบนครรัฐ กลุ่มชนคงไม่ใหญ่โต ผู้ปกครองเป็นผู้ที่ได้รับการยกย่องจากกลุ่มชนให้เป็นผู้ปกครอง บริเวณที่มีความสำคัญได้แก่ เมืองศรีเทพ บริเวณวัดจุฬามณี และบริเวณเมืองสุโขทัย และเมืองศรีสัชนาลัย
     ระยะที่ ๒ ยุคอาณาจักรสุโขทัยตอนต้น (พ.ศ. ๑๗๖๑–๑๙๒๑)
การปกครองในยุคนี้วางรากฐานลงแบบการปกครองครัวเรือน จุดเริ่มต้นเริ่มที่ “พ่อครัว” ทำหน้าที่ปกครอง ครอบครัวหลายๆ ครอบครัวรวมกันเป็น “เรือน” หัวหน้าก็คือ “พ่อเรือน” หลายๆ เรือนรวมกันเป็นหมู่บ้าน มีหัวหน้าเรียกว่า “พ่อบ้าน” หลายๆ หมู่บ้านรวมกันเรียกว่า “เมือง” หัวหน้าคือ  “พ่อเมือง” และพ่อขุน คือ ผู้ปกครองประเทศ หรือผู้ปกครองทุกเมืองนั่นเอง
แม้ว่าอำนาจสูงสุดและเด็ดขาดจะรวมอยู่ที่พ่อขุนเพียงคนเดียว แต่ด้วยการจำลองลักษณะครอบครัวมาใช้ในการปกครอง พ่อขุนจึงปกครองประชาชนในลักษณะบิดาปกครองบุตร คือ ถือตนเป็นพ่อของราษฎร พ่อขุนเกือบทุกพระองค์ใช้อำนาจในลักษณะให้ความเมตตาและเสรีภาพแก่ราษฎรตามสมควร
อาณาเขตของสุโขทัย ในแผ่นดินสุโขทัยกว้างขวางใหญ่โตมาก
ศิลาจารึกหลักที่ ๑ กล่าวไว้ว่า "… มีเมืองกว้างช้างหลาย ปราบเบื้องตะวันออกรอด      สระหลวง สองแคว ลุมบาจาย สคาเท้าฝั่งของเถิงเวียงจันทน์ เวียงคำ เป็นที่แล้ว เบื้องหัวนอนรอดคนที พระบาง แพรก สุพรรณภูมิ ราชบุรี เพชรบุรี ศรีธรรมราช ฝั่งทะเลเป็นที่แล้ว เบื้องตะวันตกรอด     เมืองฉอด เมืองหงสาวดี สมุทรหาเป็นแดน เบื้องตีนนอนรอดเมืองแพร่ เมืองมาน เมืองพลัว พ้นฝั่งของ  เมืองชวา…" นักประวัติศาสตร์ทั่วไปเชื่อว่า สุโขทัย เป็นราชธานีแห่งแรกของชาวไทยในแหลมอินโดจีนตอนกลาง และลักษณะการปกครองหัวเมืองในสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราชแบ่งออกเป็น ๓ ประเภท คือ
          ๑. หัวเมืองชั้นใน ได้แก่ เมืองหน้าด่านหรือเมืองลูกหลวง ล้อมรอบธานี ทั้ง ๔ ด้าน คือ    ศรีสัชนาลัย (ด้านหน้า) สองแคว (ด้านตะวันออก) สระหลวง (ด้านใต้) และชากังลาว (ด้านตะวันตก) การปกครองหัวเมืองชั้นในนั้นขึ้นอยู่กับสุโขทัยโดยตรง
          ๒. หัวเมืองชั้นนอก ได้แก่ เมืองท้าวพระยามหานคร ที่มีผู้ดูแลโดยตรงแต่ขึ้นอยู่กับสุโขทัยในรูปลักษณะของการสวามิภักดิ์ในฐานะเป็นเมืองขึ้นหรือเมืองออก หัวเมืองชั้นนอกมี แพรก อู่ทอง ราชบุรี ตะนาวศรี แพร่ หล่มสัก เพชรบูรณ์ และศรีเทพ
          ๓. เมืองประเทศราช ได้แก่เมืองที่เป็นชาวต่างภาษา มีกษัตริย์ปกครองขึ้นกับสุโขทัย ในฐานะประเทศราช มี นครศรีธรรมราช มะละกา ยะโฮร์ ทะวาย เมาะตะมะ หงสาวดี น่าน เซ่า             เวียงจันทน์และเวียงคำ
     ระยะที่ ๓ ยุคอาณาจักรสุโขทัยตอนปลาย (พ.ศ. ๑๙๒๑–๑๙๘๑)
ในปี พ.ศ. ๑๙๒๑ ซึ่งตรงกับสมัยของพระมหาธรรมราชาที่ ๒ ของอาณาจักรสุโขทัย ได้ยอมอยู่ใต้อำนาจการปกครองของอยุธยา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการรบที่เมืองชากังราวที่พระมหาธรรมราชาออกถวายบังคมต่อพระบรมราชาธิราชที่ ๑ แห่งอาณาจักรอยุธยา การเปลี่ยนแปลงในท้องถิ่นครั้งนี้ที่สำคัญคือ การที่อยุธยาพยายามทำลายศูนย์กลางของอาณาจักรสุโขทัย คือ แบ่งแยกอาณาจักรสุโขทัยเป็น ๒ ส่วนคือ.-
          ๑. บริเวณลุ่มแม่น้ำยม แม่น้ำน่าน ให้มีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองสองแคว ให้กษัตริย์ของสุโขทัยปกครองต่อไป และอยู่ในอำนาจของอยุธยาในฐานะประเทศราช
          ๒. บริเวณลุ่มแม่น้ำปิง ให้มีศูนย์กลางที่เมืองชากังราว และขึ้นตรงต่ออยุธยา
ขณะเดียวกันอยุธยาก็พยายามผนวกอาณาจักรสุโขทัยเข้าเป็นส่วนหนึ่งของอยุธยาและประสบความสำเร็จในสมัยพระบรมราชาธิราชที่ ๒ (เจ้าสามพระยา) สำหรับลักษณะการปกครองที่ปรากฏในระยะนี้ เป็นแบบผสมระหว่างสุโขทัย และรับอิทธิพลการปกครองแบบราชาธิปไตยของอยุธยาเข้าไปใช้ด้วย ในระยะนี้นับว่าเมืองสองแควมีความสำคัญที่สุดขณะเดียวกันเมืองสุโขทัยเก่าก็ค่อยๆ ลดความสำคัญลง
     ระยะที่ ๔ ยุคกรุงศรีอยุธยาจนถึงสมัยรัชกาลที่ ๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ (พ.ศ. ๑๙๘๑–๒๔๓๗)
ในยุคนี้ แนวความคิดเกี่ยวกับกษัตริย์เปลี่ยนแปลงไปตามคติพราหมณ์ ซึ่งพวกเขมรเป็น  ผู้นำมาโดยถือว่ากษัตริย์เป็นผู้ได้รับอำนาจจากสวรรค์ หรือเป็นพระเจ้าบนมนุษย์โลก ลักษณะการ     ปกครองจึงเป็นแบบนายปกครองบ่าว หรือเจ้าปกครองข้า
ในสมัยพระบรมรามาธิบดีที่ ๑ ทรงวางระบบการปกครองส่วนกลางแบบ “จตุสดมภ์” ตามแบบของขอม มีกษัตริย์เป็นผู้ปกครองสูงสุด และมีเสนาบดี ๔ คน คือ ขุนเมือง ขุนวัง ขุนคลังและขุนนา เป็นผู้ช่วยดำเนินการมีหน้าที่ดังนี้.-
          ๑. เมือง รับผิดชอบด้านการรักษาความสงบเรียบร้อย และปราบปรามโจรผู้ร้าย
          ๒. วัง มีหน้าที่เกี่ยวกับราชสำนัก และตัดสินคดีความต่างๆ
          ๓. คลัง มีหน้าที่เกี่ยวกับด้านคลัง การค้าและภาษีอากรประเภทต่างๆ
          ๔. นา มีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับด้านการเกษตร
สำหรับการปกครองส่วนภูมิภาคหรือหัวเมืองต่างๆ ในระยะแรกพระรามาธิบดีที่ ๑ ทรงเลียนแบบการปกครองของสุโขทัย คือ มีหัวเมืองชั้นใน ชั้นนอก และหัวเมืองประเทศราช แต่ต่อมาในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ได้ทำการปฏิรูปการปกครองหัวเมือง ให้มีลักษณะการรวมอำนาจไว้ที่ศูนย์กลาง คือ เมืองหลวงมากขึ้น โดยขยายอาณาเขตให้หัวเมืองชั้นในกว้างขวางขึ้นกว่าเดิม หัวเมืองชั้นนอกกำหนดเป็นหัวเมืองชั้นเอก โท ตรี ตามลำดับ ตามขนาดและความสำคัญของเมือง โดยทางส่วนกลางจะส่งขุนนาง หรือพระราชวงศ์ไปทำการปกครองแต่สำหรับเมืองประเทศราชยังปล่อยให้มีอิสระในการปกครองเช่นเดิม นอกจากนี้สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ได้ทรงปรับปรุงระบบบริหารขึ้นใหม่ โดยแยกการบริหารออกเป็นฝ่ายพลเรือนและฝ่ายทหาร มีสมุหนายกเป็นผู้รับผิดชอบด้านพลเรือน บริหาร     กิจการเกี่ยวกับ เมือง วัง คลัง และนา  และมีสมุหกลาโหมรับผิดชอบด้านการทหารและการป้องกันประเทศ แต่ภายหลังในสมัยสมเด็จพระเพทราชา ราว พ.ศ. ๒๒๓๔ ทั้งสมุหนายกและสมุหกลาโหม  ต้องทำงานทั้งด้านทหารและพลเรือนพร้อมกัน โดยสมุหกลาโหมปกครองทั้งฝ่ายพลเรือนและทหารในหัวเมืองด้านใต้ และสมุหนายก ปกครองทั้งฝ่ายพลเรือนและทหารในหัวเมืองด้านเหนือ
ตั้งแต่สมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเป็นต้นมา ถึงสมัยรัชกาลที่ ๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ (พ.ศ. ๑๙๘๑–๒๔๓๗) ฐานะของเมืองต่างๆ ในอาณาจักรสุโขทัย เดิมต้องเปลี่ยนแปลงไปตามขนาดและความสำคัญของเมือง คือ.-
          ๑. หัวเมืองชั้นเอก  ได้แก่ เมืองสองแคว
          ๒. หัวเมืองชั้นโท ได้แก่ เมืองสวรรคโลก (ในสมัยสุโขทัยเรียกว่า “เมืองศรีสัชนาลัย”) เมืองสุโขทัย เมืองชากังราว และเมืองเพชรบูรณ์
          ๓. หัวเมืองชั้นตรี  ได้แก่  เมืองพิชัย เมืองสระหลวง (พิจิตร) เมืองพระบาง (นครสวรรค์)
ระยะที่ ๕  ยุคการปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาล (พ.ศ. ๒๔๓๗–๒๔๗๖)
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน โดยได้ทรงยกเลิกตำแหน่งอัครมหาเสนาบดี ๒ ตำแหน่ง คือ สมุหนายก และสมุหกลาโหม รวมทั้งจตุสดมภ์ด้วย ได้จัดระเบียบบริหารราชการออกเป็นกระทรวง ตามแบบอารยประเทศ และให้มีเสนาบดี เป็นผู้ว่าการแต่ละกระทรวง กระทรวงที่ตั้งขึ้นมีทั้งหมด ๑๒ กระทรวง
     หลังจากจัดหน่วยบริหารส่วนกลางโดยมีกระทรวงมหาดไทยในฐานะเป็นส่วนราชการที่เป็นศูนย์กลางอำนวยการปกครองประเทศ และคุมหัวเมืองทั่วประเทศแล้ว การจัดระเบียบการปกครองต่อมาก็จัดตั้งหน่วยราชการบริหารส่วนภูมิภาค ซึ่งมีสภาพและฐานะเป็นตัวแทนหรือหน่วยงานประจำ  ท้องที่ของกระทรวงมหาดไทยขึ้น อันได้แก่การจัดการปกครองแบบเทศาภิบาล ซึ่งถือได้ว่าเป็นการ  ปกครองอันสำคัญยิ่ง ที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงนำมาใช้ปรับปรุงระเบียบบริหารราชการแผ่นดินส่วนภูมิภาคในสมัยนั้นการปกครองแบบเทศาภิบาลเป็นการปกครองส่วนภูมิภาคชนิดหนึ่ง ที่ส่วนกลางจัดส่งข้าราชการส่วนกลางออกไป บริหารราชการในท้องที่ต่างๆ โดยได้แบ่งการปกครองประเทศ เป็นขนาดลดหลั่นกันเป็นขั้นอันดับไป คือ เป็นมณฑล มีข้าหลวงเทศาภิบาลเป็นผู้ปกครอง ถัดจากมณฑล คือ เมือง (สมัยรัชกาลที่ ๖ เรียกว่าจังหวัด) มีเจ้าเมือง       (ผู้ว่าราชการจังหวัด) เป็นผู้ปกครอง เมืองแบ่งออกเป็นอำเภอ มีนายอำเภอ เป็นผู้ปกครอง  ทั้งสามส่วนนี้ปกครองโดยข้าราชการที่ได้รับแต่งตั้งจากกระทรวงมหาดไทย อำเภอนั้นแบ่งออกเป็นตำบล      มีกำนัน ซึ่งเป็นผู้ที่ผู้ใหญ่บ้านเลือกเป็นผู้ปกครอง ตำบลแบ่งออกเป็นหมู่บ้าน มีผู้ใหญ่บ้านซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับการเลือกตั้งจากประชาชนในหมู่บ้านเป็นผู้ปกครอง
     ใน ปี พ.ศ. ๒๔๓๗ เป็นปีแรกที่ได้วางแผนงานจัดระเบียบการบริหารมณฑลแบบใหม่เสร็จ กระทรวงมหาดไทยได้จัดตั้งมณฑลเทศาภิบาลขึ้น ๓ มณฑล คือ มณฑลปราจีนบุรี มณฑลนครราชสีมา มณฑลพิษณุโลก (เมืองที่อยู่ในมณฑลนี้ได้แก่ เมืองพิจิตร เมืองพิชัย เมืองสวรรคโลก) และทรง    โปรดเกล้าฯ ให้โอนหัวเมืองทั้งปวง ซึ่งเคยขึ้นกับกระทรวงกลาโหมและกระทรวงต่างประเทศมาขึ้นอยู่กับกระทรวงมหาดไทยกระทรวงเดียว จึงได้รวมหัวเมืองจัดเป็นมณฑลราชบุรีขึ้นอีกมณฑลหนึ่ง
พ.ศ. ๒๔๓๘ ได้รวมหัวเมืองจัดเป็นมณฑลขึ้นอีก ๓ มณฑล คือ มณฑลนครชัยศรี มณฑลนครสวรรค์ และมณฑลกรุงเก่า และได้แก้ไขระเบียบการจัดมณฑลฝ่ายทะเลตะวันตก คือ ตั้งเป็นมณฑลภูเก็ต ให้เข้ารูปลักษณะของมณฑลเทศาภิบาลอีกมณฑลหนึ่ง
     พ.ศ. ๒๔๙๓ ได้รวมหัวเมือง มณฑลเทศาภิบาลขึ้นอีก ๒ มณฑล คือ มณฑลนครศรีธรรมราชและมณฑลชุมพร
     พ.ศ. ๒๔๔๐ ได้รวมหัวเมืองมาลายูตะวันออก เป็นมณฑลไทรบุรี และในปีเดียวกันนั้นเอง ได้ตั้งมณฑลเพชรบูรณ์ขึ้นอีกมณฑลหนึ่ง
     พ.ศ. ๒๔๔๓ ได้เปลี่ยนแปลงสภาพของมณฑลเก่าๆ ที่เหลืออยู่ ๓ มณฑล คือ มณฑลพายัพ มณฑลอุดร และมณฑลอีสาน ให้เป็นมณฑลเทศาภิบาล
     พ.ศ. ๒๔๔๗  ยุบมณฑลเพชรบูรณ์ เพราะเห็นว่าสิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย
     พ.ศ. ๒๔๔๙  จัดตั้งมณฑลปัตตานี และมณฑลจันทบุรี (มีเมืองจันทบุรี ระยอง และตราด)
     พ.ศ. ๒๔๕๐  ตั้งมณฑลเพชรบูรณ์ขึ้นอีกครั้งหนึ่ง
     พ.ศ. ๒๔๕๕ ได้แยกมณฑลอีสานออกเป็น ๒ มณฑล มีชื่อใหม่ว่า มณฑลอุบลและมณฑลร้อยเอ็ด
     พ.ศ. ๒๔๕๘  จัดตั้งมณฑลราษฎร์ขึ้น โดยแยกออกจากมณฑลพายัพ
     ระยะที่ ๖  ยุคปัจจุบัน (หลัง พ.ศ. ๒๔๗๕)
การปรับปรุงระเบียบการปกครองหัวเมืองเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศมาเป็นระบบประชาธิปไตยนั้น ปรากฏตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. ๒๔๗๖ จัดระเบียบราชการบริหารส่วนภูมิภาคออกเป็นจังหวัดและอำเภอ จังหวัดมีฐานะเป็นหน่วยบริหารราชการแผ่นดิน มีข้าหลวงประจำจังหวัดและกรมการจังหวัดเป็นผู้บริหาร เมื่อก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง นอกจากจะแบ่งเขตการปกครองออกเป็นจังหวัดและอำเภอแล้ว ยังแบ่งเขตการปกครองออกเป็นมณฑลด้วย เมื่อได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติระเบียบราชการบริหารแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. ๒๔๗๖ จึงได้ยกเลิกมณฑลเสีย เหตุที่ยกเลิกเนื่องจาก
     ๑. การคมนาคม สื่อสาร สะดวกรวดเร็วกว่าแต่ก่อน สามารถที่จะสั่งการตรวจตราสอดส่องได้ทั่วถึง
     ๒.  เพื่อประหยัดค่าใช่จ่ายในการปกครองประเทศ
     ๓.  เห็นว่าหน่วยมณฑลซ้อนกับหน่วยจังหวัด จังหวัดรายงานกิจการต่อมณฑล มณฑล  รายงานต่อกระทรวงเป็นการชักช้าโดยไม่จำเป็น
๔. รัฐบาลในสมัยเปลี่ยนแปลงการปกครองใหม่ๆ มีนโยบายที่จะให้อำนาจแก่ส่วนภูมิภาคยิ่งขึ้น และการที่ยุบมณฑลก็เพื่อให้จังหวัดมีอำนาจนั่นเอง
ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๙๕ รัฐบาลได้ออกพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน    อีกฉบับหนึ่ง ในส่วนที่เกี่ยวกับจังหวัด มีหลักการเปลี่ยนไปจากเดิมดังนี้.-
     ๑. จังหวัดมีฐานะเป็นนิติบุคคล แต่จังหวัดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยระเบียบบริหารแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. ๒๔๗๖ หามีฐานะเป็นนิติบุคคลไม่
    ๒. อำนาจบริหารในจังหวัด ซึ่งแต่เดิมตกอยู่แก่คณะบุคคล ได้แก่ คณะกรมการจังหวัดนั้น ได้เปลี่ยนแปลงมาอยู่กับบุคคลคนเดียว คือ ผู้ว่าราชการจังหวัด
     ๓. ในฐานะของกรมการจังหวัด ซึ่งเดิมเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินในจังหวัด ได้กลายมาเป็นคณะเจ้าหน้าที่ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการจังหวัด
ต่อมา ได้มีการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดินตามประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๒๑๘ ลงวันที่ ๒๙ กันยายน ๒๕๑๕ โดยจัดระเบียบบริหารราชการส่วนภูมิภาคเป็น จังหวัด และอำเภอ
กล่าวโดยสรุป การปกครองส่วนภูมิภาคในปัจจุบันอาศัยกฎหมาย ๒ ฉบับเป็นแม่บทคือ พระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ. ๒๔๕๗ และประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๒๑๘ ลงวันที่  ๒๙ กันยายน ๒๕๑๕ ซึ่งกำหนดรูปแบบของหน่วยบริหารขอบเขตอำนาจหน้าที่ความรับผิดชอบของ        ผู้บริหารในระดับต่างๆ


*************************************************************************************************************************************************
     ตามศิลาจารึกหลักสามที่พบที่วัดมหาธาตุ ตำบลเมืองเก่าอำเภอเมืองสุโขทัย ได้กล่าวถึงชื่อนี้ว่า น่าจะเป็นกษัตริย์ที่คั่นระหว่างพ่อขุนรามคำแหงมหาราช กับ พญาเลอไท
     ประวัติมหาดไทยส่วนภูมิภาค จังหวัดสุโขทัย. สุโขทัย : สุโทัยการพิมพ์, 2527.

จังหวัดตาก


ประวัติศาสตร์จังหวัดตาก


สมัยก่อนกรุงสุโขทัย
     ตากเป็นเมืองที่สร้างขึ้นก่อนสมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี เมืองเดิมตั้งอยู่บนดอยเล็ก ๆ ลูกหนึ่ง อยู่เหนือที่ว่าการอำเภอบ้านตากในปัจจุบันนี้ไปประมาณ ๔ กิโลเมตร และอยู่ห่างจากแม่น้ำปิงไปทางทิศตะวันตก ๔๐๐ เมตร ที่หมู่บ้านท่าพระธาตุ ตำบลเกาะตะเภาอำเภอบ้านตาก สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงสันนิษฐานว่า เดิมเป็นเมืองที่พวกมอญมาสร้างขึ้นไว้ เพราะอยู่ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำปิงและอยู่ตรงปากน้ำวังทางไปเมืองนครลำปางออกลำน้ำปิง เป็นเส้นทางสำคัญในทางคมนาคมในสมัยนั้น แต่เนื่องจากยังไม่มีผู้ใดเคยทำการสำรวจโดยละเอียด และกรมศิลปากรก็ยังไม่เคยทำการขุดค้น จึงไม่ปรากฏร่องรอยในทางโบราณคดีอันจะแสดงให้เห็นว่าเป็นเมืองของมอญแต่อย่างใด
แต่มีข้อที่น่าสังเกตอีกประการหนึ่งว่า  ถ้าเมืองตากเป็นเมืองที่พวกมอญมาสร้างไว้จริง ก็เป็นเรื่องก่อนสมัยกรุงสุโขทัย เพราะปรากฏว่าในปี พ.ศ. ๑๘๐๐ มอญก็มิได้ครอบครองเมืองนี้แล้ว จะเห็นได้ว่าเมื่อพ่อขุนบางกลางท่าวและพ่อขุนผาเมืองยึดอำนาจจากขอมและประกาศตั้งกรุงสุโขทัยขึ้นเป็นอิสระ เมืองต่าง ๆ ที่มีคนไทยเป็นเจ้าเมืองก็ยอมรวมกับอาณาจักรสุโขทัยทั้งหมด และโดยเฉพาะเมืองตากนี้ปรากฏว่า ได้รวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรสุโขทัยแต่โดยดีตั้งแต่ต้น  ถ้าเป็นเมืองที่มีชนชาติอื่นที่ไม่ใช่ไทยปกครองอยู่ เห็นจะไม่ยินยอมร่วมมือกันโดยง่ายดายเช่นนั้น
นอกจากนี้ในหนังสือประวัติศาสตร์ชาติไทย ของพระบริหารเทพธานี ได้กล่าวถึงความสำคัญของเมืองตากว่า เดิมเคยเป็นเมืองราชธานีของแคว้นเหนือมาก่อน ต่อมาในสมัยพระยากาฬ-     วรรณดิส  ได้ย้ายจากเมืองตากไปครองเมืองละโว้แทน เมืองตากจำถูกทิ้งให้เป็นเมืองร้าง ต่อมาเมื่อพระนางจามเทวี เสด็จขึ้นไปครองเมืองหริภุญไชย ในราว พ.ศ. ๑๒๐๐ พระนางได้บูรณะเมืองตาก ขึ้นมาใหม่อีกครั้งหนึ่ง เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงน่าที่จะช่วยยืนยันว่าเมืองตากเป็นเมืองที่มีมาก่อนสมัยกรุงสุโขทัยได้อีกทางหนึ่ง
สมัยกรุงสุโขทัย
     หลังจากที่พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ ประกาศตั้งกรุงสุโขทัยขึ้นเป็นอิสระ เมื่อ พ.ศ. ๑๘๐๐ จากนั้น ในราว พ.ศ. ๑๘๐๕ ได้เกิดเหตุการณ์สำคัญที่เกี่ยวข้องกับเมืองตากขึ้น ครั้งหนึ่งคือ ขุนสามชนเจ้าเมืองฉอด (อยู่ในอำเภอแม่สอดปัจจุบัน) ยกทัพมาตีเมืองตาก ซึ่งเป็นเมืองชายแดนของกรุงสุโขทัย พ่อขุนศรีอินทราทิตย์จึงยกกองทัพมาช่วยป้องกันเมืองตากและได้ปะทะกันที่เชิงดอย นอกเมืองตากออกไปประมาณสักกิโลเมตรเศษ แต่เนื่องจากภูมิประเทศของเมืองตากเป็นป่าเขาโดยมาก การซุ่มซ่อนพลจึงกระทำได้อย่างสะดวกสบาย ดังปรากฏในศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงว่า เมื่อพ่อขุนศรีอินทรา-ทิตย์ต้อนพลเข้าไปทางซ้ายเพื่อหวังจะโอบล้อมกองทัพของขุนสามชน แต่ขุนสามชนคงรู้ทีจึงขับพลเลี่ยงเข้ามาทางขวาเข้าโอบล้อมกองทัพของพ่อขุนศรีอินทราทิตย์เสียก่อน ไพร่พลในกองทัพของพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ไม่นึกว่าเหตุการณ์จะกลับตรงกันข้ามเช่นนั้น ก็เสียกำลังใจถอยร่นลงมา ขณะนั้นราช-โอรสองค์เล็กของพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ ซึ่งมีพระชนมายุได้ ๑๙ พรรษา ได้ติดตามมาด้วยเห็นว่าถ้าขืนปล่อยให้ไพร่พลในกองทัพถอยร่นลงมาเรื่อยเช่นนั้น ผลสุดท้ายต้องพ่ายแพ้อย่างแน่นอน จึงทรงขับช้างต้อนพลให้เข้าต่อตีกองทัพของขุนสามชนอีกครั้งหนึ่ง แล้วทรงไสช้างบุกเข้าไปจนถึงตัวขุนสามชน ซึ่งกำลังต้อนพลรุกไล่กองทัพของพ่อขุนศรีอินทราทิตย์เข้ามาพ่อขุนรามคำแหงทรงปะทะช้างกับขุนสามชนจนได้กระทำยุทธหัตถีกัน ขุนสามชนสู้ไม่ได้ก็พ่ายหนีไป เมืองตากจึงรอดพ้นจากการรุกรานของ ขุนสามชน และตลอดสมัยของกรุงสุโขทัยไม่ปรากฏในศิลาจารึกหรือจดหมายใด ๆ เกี่ยวกับเรื่องราวของเมืองตากนี้อีกเลย
     เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติในการชนช้างคราวนี้  จึงได้มีการสร้างพระเจดีย์แบบสุโขทัย ซึ่งเรียกว่า พระปรางค์ขึ้น สมเด็จ ฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงสันนิษฐานว่าก่อสร้างในสมัยกรุงสุโขทัย ขนาดพระปรางค์สูงตลอดยอดประมาณ ๑๐ วา แต่ไม่เป็นที่ทราบแน่ชัดว่าใครเป็นผู้สร้าง
สมัยกรุงศรีอยุธยา
     ในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้นไม่มีเหตุการณ์ใด ๆ เกี่ยวกับเมืองตาก จนกระทั่งแผ่นดินสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ปรากฏว่า ทางประเทศพม่ามีกษัตริย์องค์หนึ่ง ทรงพระนามว่าพระเจ้า-ตะเบ็งชเวตี้ กษัตริย์องค์นี้ทรงมีอุปนิสัยกล้าหาญ พอพระราชหฤทัยในการทำศึกสงคราม และได้คู่คิดการสงครามพระองค์หนึ่ง ซึ่งเป็นเชื้อพระวงศ์ทรงพระนามว่าบุเรงนอง ทั้งสองพระองค์นี้ทรงคิดตระเตรียมกำลังที่จะทำสงครามแผ่อาณาจักรให้กว้างขวาง ทรงยกกองทัพไปปราบปรามได้รามัญประเทศและไทยใหญ่ไว้ในอำนาจทั้งสิ้น ครั้นทรงทราบข่าวว่าเกิดจราจลในกรุงศรีอยุธยาเนื่องจากการผลัดแผ่นดินใหม่ พระเจ้าตะเบ็งชเวตี้ ทรงเห็นเป็นทีว่าจะตีเอากรุงศรีอยุธยามาไว้เป็นเมืองขึ้นอีกประเทศหนึ่งได้โดยง่าย จึงโปรดให้กะเกณฑ์กองทัพมาตั้งประชุมพลที่เมืองเมาะตะมะ แล้วเสด็จเป็นจอมทัพยกเข้ามาทางด่านเจดีย์สามองค์ หมายจะตีเอากรุงศรีอยุธยาเป็นเมืองขึ้น แต่เมื่อยกกองทัพมาถึงชานพระนครแล้ว ก็ไม่สามารถจะตีหักเข้าไปได้ ครั้นได้ข่าวว่ามีกองทัพไทยยกลงมาจากหัวเมือง ฝ่ายเหนือจะมาตีกระหนาบก็ตกพระทัยจะเลิกทัพกลับไปทางด่านพระเจดีย์สามองค์ ซึ่งเป็นทางที่ยกเข้ามาแต่เดิมนั้น ก็ทรงเห็นว่าหัวเมืองรายทางที่ผ่านมานั้นยับเยินหมด จะหาเสบียงอาหารเลี้ยงกองทัพได้ยากจึงโปรดให้ยกทัพขึ้นไปทางข้างเหนือ เดินทัพไปออกทางด่านแม่ละเมา แขวงเมืองตาก เพราะทรงเห็นว่ากองทัพของพระองค์มีกำลังมากกว่ากองทัพไทยหลายเท่า คงจะตีหักออกไปได้โดยไม่ยากลำบากเท่าใดนัก แต่กองทัพพม่าก็ถูกกองทัพของพระราเมศวรราชโอรสของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิกับพระมหาธรรมราชาราชบุตรเขยติดตามตีไปทั้งสองทางและฆ่าฟันรี้พลพม่าล้มตายเป็นอันมาก แต่ผลสุดท้ายพม่าวางกลอุบายล้อมจับได้ทั้งพระมหาธรรมราชาและพระราเมศวร สมเด็จพระมหา-จักรพรรดิต้องยอมหย่าทัพ เอาช้างพลายศรีมงคลและพลายมงคลทวีปอันเป็นช้างชนะงา ถวายตอบแทนพระเจ้าหงสาวดีแลกเอาพระมหาธรรมราชากับพระราเมศวรกลับมา  และปล่อยให้กองทัพของ พระเจ้าตะเบ็งชเวตี้ยกกลับไปได้โดยสะดวก
     ก่อนที่จะกล่าวถึงเหตุการณ์ต่อไป จะขอกล่าวถึงทางคมนาคมที่ติดต่อกันในระหว่างประเทศพม่ากับประเทศไทย ซึ่งมีมาแต่ในสมัยโบราณเสียก่อน เพื่อจะได้เข้าใจภูมิประเทศของจังหวัดตากดีขึ้น คือแต่เดิมมีทางคมนาคมสำหรับไปมา ในระหว่างประเทศไทยกับประเทศพม่าอยู่ ๒ ทาง โดยมีทางมาร่วมกันที่เมืองเมาะตะมะ ผู้ที่สัญจรไปมาหรือแม้แต่กองทัพก็ต้องเดินตามทางคมนาคมทั้งสองนี้ มิฉะนั้นจะเดินทางไม่สะดวกเพราะต้องข้ามเทือกเขาบรรทัด ซึ่งเป็นเขาเขื่อนกั้นขวางหน้าอยู่ทางคมนาคมทั้งสองทางนี้ คือสายเหนือออกจากเมืองเมาะตะมะขึ้นไปทางแม่น้ำจนถึงบ้านตะพู (เมือง    แกรง) แล้ว เดินบกมาข้ามแม่น้ำกลีบ แม่น้ำเม้ย แม่น้ำแม่สอด ผ่านเข้ามาทางด่านแม่ละเมา มาลงท่า   แม่น้ำปิง ตรงบ้านระแหง (ที่ตั้งเมืองตากปัจจุบัน) ทางสายนี้เป็นทางคมนาคมกับหัวเมืองฝ่ายเหนือของไทยตลอดขึ้นไปจนถึงเมืองเชียงใหม่ ส่วนทางสายใต้นั้นออกจากเมืองเมาะตะมะไปตามแม่น้ำอัตรัน (เมืองเชียงกราน) จนถึงเมืองสมิแล้วเดินบกมาข้ามแม่น้ำสะกลิกและแม่น้ำแม่กษัตริย์ ข้ามภูเขาเข้าแดนไทยทางด่านพระเจดีย์สามองค์ มาลงลำน้ำแควน้อยที่สามสบ แล้วใช้เรือล่องลงมาทางไทรโยคจนออกแม่น้ำแควใหญ่ที่ลิ้นช้างได้ทางหนึ่ง ถ้าจะเดินบกก็เดินแต่สามสบมาทางเมืองไทรโยคเก่า แล้วตัดข้ามมาลงลำน้ำแควใหญ่ที่เมืองศรีสวัสดิ์ หรือที่ท่ากระดานด่านกรามช้างแล้วเดินเลียบลำน้ำแควใหญ่ลงมาจนถึงเมืองกาญจนบุรีเก่า ซึ่งตั้งอยู่ในทุ่งหญ้าใกล้เขาชนไก่จากเมืองกาญจนบุรีเก่าลงมาเป็นที่ราบจะได้เกวียนเดินทางบกหรือใช้เรือล่องตามลำน้ำลงมาก็สะดวกทั้งสองทาง กองทัพพม่าที่ยกเข้ามาตีกรุงศรี-อยุธยาหรือกรุงรัตนโกสินทร์ก็ยกผ่านเข้ามาทางด่านเจดีย์สามองค์นี้แทบทุกคราว
     การสงครามได้ว่างเว้นมาเป็นระยะเวลา ๑๕ ปี ประเทศพม่าได้เปลี่ยนพระเจ้าแผ่นดินใหม่ พระเจ้าตะเบ็งชเวตี้ซึ่งยกกองทัพเข้ามาตีกรุงศรีอยุธยา เมื่อ พ.ศ. ๒๐๙๑ นั้นพอกลับไปถึงเมือง หงสาวดีได้ไม่นานเท่าใด ก็เกิดสติฟั่นเฟือนไม่สามารถจะว่าราชการบ้านเมืองได้ บุเรงนองซึ่งเป็น   พระมหาอุปราชต้องสำเร็จราชการแทน ในที่สุดพระเจ้าหงสาวดีตะเบ็งชเวตี้ ถูกขุนนางเชื้อชาติมอญคนหนึ่งชื่อ สมิงสอดวุต ทูลลวงให้ไปจับช้างเผือกในป่าใกล้พระนคร แล้วช่วยกันจับพระเจ้าหงสาวดีตะเบ็งชเวตี้ปลงพระชนม์เสีย บุเรงนองซึ่งเป็นพระมหาอุปราชอยู่จึงทำพิธีราชาภิเษกเป็นพระเจ้าหงสาวดี เมื่อ พ.ศ. ๒๐๙๖ และเมื่อเสวยราชสมบัติแล้วไม่นาน พระเจ้ากรุงบุเรงนองก็เริ่มทำสงครามแผ่อาณาจักรเรื่อยมาเป็นเวลา ๑๐ ปี จนได้ประเทศน้อยใหญ่ที่มีอาณาเขตติดกับประเทศพม่าไว้ในอำนาจทั้งสิ้นแล้วพระเจ้าบุเรงนองก็ทรงดำริที่จะยาตรากองทัพอันเกรียงไกรของพระองค์เข้ามาตีกรุงศรีอยุธยา

     ก่อนที่จะยกกองทัพเข้ามา พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองก็หาเหตุอันจะเป็นการจุดชนวนสงครามขึ้นก่อน ด้วยการส่งพระราชสาส์นมาขอช้างเผือกจากสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ๒ เชือก การที่พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองมีพระราโชบายเช่นนี้ก็เพื่อจะหยั่งพระทัยของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิดูว่าจะยอมเป็นเมืองขึ้นแก่กรุงหงสาวดีโดยตรงโดยไม่ต้องรบ หรือว่าจะรบลองดูกำลังกันดูก่อนเพราะถ้าสมเด็จพระจักรพรรดิทรงพระราชทานช้างเผือกไปให้ ก็หมายความว่าทรงยอมอ่อนน้อมต่อพระองค์โดยดี ถ้าไม่พระราชทานก็หมายถึงว่าจะต้องเตรียมรบมีทางเลือกแต่เพียงสองทางเท่านั้น ซึ่งผลที่สุดสมเด็จพระมหาจักรพรรดิก็ทรงเลือกเอาข้างการรบเพื่อรักษาพระเกียรติของพระองค์และของประเทศชาติไว้ แล้วสงครามก็เกิดขึ้นจริง ๆ ในปี พ.ศ. ๒๑๐๖ นั้น
     การสงครามคราวนี้ถึงแม้ว่าเมืองตากจะไม่เป็นสนามรบโดยตรงก็ตาม แต่ก็ได้รับความเดือดร้อนด้วยเนื่องจากเมืองตากอยู่ในเส้นทางที่จะผ่านมาจากเมืองเชียงใหม่ เพราะฉะนั้นกองทัพของพระเจ้าเชียงใหม่ซึ่งในเวลานั้นเป็นฝ่ายพม่าได้คุมกองเรือลำเลียงเสบียงอาหารลงมาบรรจบกับทัพหลวงที่เมืองตาก แล้วก็ลาดตระเวนหาเสบียงอาหารในเขตเมืองตากเพื่อสะสมไว้สำหรับเลี้ยงไพร่พลในกองทัพหลวงต่อไป
     พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองทรงยกกองทัพเข้ามาทางด่านแม่ละเมา แล้วเข้าตีหัวเมืองทางต่าง ๆ เหนือเรื่อยลงมา และได้รบกับเมืองใหญ่ ๆ หลายเมือง เช่น เมืองพิษณุโลก เมืองกำแพงเพชร และเมืองสุโขทัย แต่ไม่ปรากฏว่าเมืองตากได้สู้รบกับกองทัพของพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนอง ทั้งนี้คงจะเนื่องจากเมืองตากเก่าตั้งอยู่เหนือด่านแม่ละเมาขึ้นไปมาก กองทัพพม่ายกเข้ามาทางด่านแม่ละเมาจึงไม่จำเป็นที่จะอ้อมขึ้นไปตีเมืองตากซึ่งอยู่ห่างออกไปตั้ง ๓๐  กิโลเมตรอีก คงเดินทัพตัดตรงเข้ามายังบ้านป่ามะม่วง ซึ่งอยู่ตรงกันข้ามกับบ้านระแหง แล้วเดินทัพไปทางทิศตะวันออกเข้าตีเมืองสุโขทัยและเมืองพิษณุโลกทางหนึ่ง อีกทัพหนึ่งแยกลงไปทางใต้เข้าเมืองกำแพงเพชร และเมืองนครสวรรค์ เมื่อตีได้หัวเมืองใหญ่ ๆ เหล่านี้แล้วก็รวบรวมกำลังกันยกเข้าตีกรุงศรีอยุธยาต่อไป
     เนื่องจากศึกพม่าในคราวนี้เป็นเหตุให้ไทยคิดเห็นว่า ตัวเมืองตากเก่าตั้งอยู่ลึกเข้าไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือมาก กองทัพพม่าซึ่งยกเข้ามาทางด่านแม่ละเมาก็เดินทัพเข้ามาได้อย่างสบาย โดยไม่ต้องเสียกำลังลี้พลเพื่อเข้าตีเมืองตากแต่สักคนเดียว จึงได้ย้ายตัวเมืองลงมาตั้งในที่ซึ่งพม่าเดินทัพผ่าน คือที่บ้านป่ามะม่วง การย้ายเมืองตากมาตั้งที่บ้านป่ามะม่วงนี้ เข้าใจว่ายังไม่ทันย้ายในแผ่นดินสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ เพราะในแผ่นดินนี้ปรากฏในหนังสือพงศาวดารว่ามัวเตรียมการแต่เรื่องป้องกันข้าศึกที่ยกเข้ามาทางใต้เท่านั้น เช่น รื้อกำแพงเมืองเขื่อนขันธ์กันพระนครทั้ง ๔ ทิศออกหมด เพื่อไม่ให้ข้าศึกเข้าอาศัยในเมื่อตีเมืองเหล่านั้นได้ และตั้งเมืองบางเมืองขึ้นใหม่ เช่นเมืองนครไชยศรีกับ
เมืองนนทบุรี ซึ่งเป็นเมืองใกล้พระนครเพื่อจะได้เป็นที่ระดมกำลังสำหรับเรียกคนเข้ารักษาพระนครและจัดหาเสบียงอาหารได้ง่าย
     การย้ายเมืองตากมาอยู่ที่บ้านป่ามะม่วงนี้ คงจะย้ายมาในแผ่นดินพระมหาธรรมราชาภายหลังที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงประกาศอิสรภาพแล้วเป็นแน่ เพราะปรากฏว่าหลังจากนั้น ไทยเราเตรียมรับศึกพม่าอย่างเต็มที่ เนื่องจากสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงตระหนักพระราชหฤทัยดีแล้วว่า ถึงอย่างไรก็ดีก็จะต้องรบรับขับเคี่ยวกับกองทัพพม่าเป็นการใหญ่และก็เป็นจริงสมดั่งพระราชดำริเพราะในแผ่นดินสมเด็จพระมหาธรรมราชา และในแผ่นดินสมเด็จพระนเรศวรมหาราชนั้น ปรากฏว่าไทยกับพม่าได้รบกันเป็นมหาสงครามถึง ๗ ครั้ง
     เมืองตากที่ย้ายมาตั้งใหม่ที่บ้านป่ามะม่วง มิใช่จะเป็นเมืองหน้าด่านสำหรับป้องกันกองทัพพม่า ที่จะยกเข้ามาทางด่านแม่ละเมาเท่านั้น แต่ยังเป็นเมืองที่กองทัพใช้เป็นที่ชุมนุมพล ในเวลาที่จะยกไปตีเมืองเชียงใหม่อีกด้วย เมื่อพระมหากษัตริย์ไทยที่ทรงอานุภาพมาก เช่น สมเด็จพระนเรศวรมหาราช สมเด็จพระนารายณ์มหาราช และสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ซึ่งทรงได้เมืองเชียงใหม่มารวมอยู่ในพระราชอาณาจักรทั้ง ๓ พระองค์นี้ ก็มีปรากฏอยู่ที่เมืองตากนี้ด้วย
     หลังจากแผ่นดินสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ประเทศไทยก็เว้นว่างจากการทำสงครามขับเคี่ยวพม่ามาตลอดระยะเวลาอันยาวนาน ซึ่งประมาณว่าไม่ต่ำกว่า ๑๕๐ ปี ในระยะเวลานี้ชาวเมืองตากก็อยู่กันอย่างสงบสุข จนกระทั่งถึง พ.ศ. ๒๓๐๘ เงาแห่งการสงครามจึงได้เริ่มฉายแสงขึ้นอีกครั้งหนึ่ง การสงครามคราวนี้ทำให้ชาวเมืองตากต้องพลอยเดือนร้อนกันไปแทบทุกครัวเรือน เพราะกองทัพพม่าซึ่งยกมาทางเมืองเชียงใหม่ได้เข้าตีเมืองตากด้วยสงครามคราวนี้น่าจะยกย่องเทิดทูนชาวเมืองตากที่ได้รวมแรงร่วมใจกันต่อสู้กองทัพพม่าแต่เมืองเดียว หัวเมืองเหนืออื่น ๆ แม้จะเป็นเมืองที่ใหญ่กว่า และมีพลเมืองมากกว่าเมืองตากมาก เช่น เมืองสุโขทัย เมืองสวรรคโลก เมืองพิชัย เมืองกำแพงเพชร และเมืองนครสวรรค์ก็หามีเมืองใดต่อสู้กองทัพพม่าแต่อย่างใดไม่ คงปล่อยให้กองทัพพม่าเดินเข้ายึดตัวเมืองได้อย่างสบาย
     สมเด็จ ฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงกล่าวเรื่องราวที่กองทัพพม่าเข้าตีประเทศไทยครั้งนั้นไว้ ในเรื่องไทยรบกับพม่าดังนี้
     "ในพงศาวดารพม่าว่า กองทัพที่ยกมาครั้งนี้มีข้ออาณัติอย่าง ๑ คือถ้าที่ไหนต่อสู้พม่าตีได้ก็เก็บริบทรัพย์สมบัติและจับผู้คนทั้งเด็กผู้ใหญ่ชายหญิงเอาไปเป็นเชลยสงครามไปเมืองพม่า บ้านเรือนทรัพย์สมบัติพม่าไม่ต้องการก็ให้เผาผลาญทำลายเสียสิ้น ถ้าที่ไหนผู้คนอ่อนน้อมยอมเข้าเป็นพวก   พม่าๆ ให้ทำสัตย์แล้วไม่ทำร้าย เป็นแต่กะเกณฑ์เอาสิ่งของที่พม่าต้องการ เช่น เสบียงอาหารและพาหนะเป็นต้นและเรียกเอาคนมาใช้การงานต่าง ๆ เหมือนอย่างเป็นบ่าวของพม่า"
     ดังได้กล่าวมาในตอนต้นแล้ว การสงครามคราวนี้ ปรากฏว่าหัวเมืองรายทาง ๆ เหนือของประเทศไทยไม่มีเมืองใดต่อสู้กองทัพพม่าเลย คงมีแต่เมืองตากแต่เพียงเมืองเดียวเท่านั้น ที่ได้สู้รบกับกองทัพพม่า และเนื่องจากพม่าได้ตั้งกฎเกณฑ์ไว้เช่นนี้แล้วจึงไม่ต้องสงสัยเลยว่าชะตากรรมของเมืองตากจะเป็นอย่างไรต่อไป ทำให้นึกวาดภาพได้ว่า ในขณะที่พม่าเข้าเมืองได้ บ้านเรือนและทรัพย์สมบัติของชาวเมืองตากตลอดจนผู้คนพลเมืองจะเป็นประการใดบ้าง  ย่อมเป็นการแน่นอนเหลือเกินที่จะกล่าวได้ว่า ชาวเมืองตากจะต้องถูกฆ่าฟันล้มตายไปไม่น้อยและบ้านเรือนตลอดจนทรัพย์สินต่าง ๆ ของชาวเมืองก็จะต้องถูกทำลายหรือเผาผลาญไปอย่างไม่มีชิ้นดียิ่งกว่านี้พวกที่รอดตายถ้าหนีเข้าป่าเข้าดงไปไม่ทัน ก็จะถูกพม่าจับไปเป็นเชลย ส่งไปเป็นข้าเป็นทาสยังประเทศพม่าต่อไปด้วยเหตุนี้ เมืองตากจึงกลายเป็นเมืองร้างอย่างสิ้นเชิง และคงอยู่ในสภาพเช่นนี้ต่อมาจนถึงสมัยกรุงธนบุรี


สมัยกรุงธนบุรี
     ดังได้กล่าวถึงเหตุการณ์ตอนปลายสมัยกรุงศรีอยุธยามาแล้วว่า กองทัพพม่าได้ยกทัพมาทางด่านแม่ละเมา โจมตีและทำลายเมืองตากจนกลายเป็นเมืองร้างไปประมาณ ๕ ปี จนกระทั่งถึงสมัยกรุงธนบุรี สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช (พระเจ้ากรุงธนบุรี) กษัตริย์องค์แรกและองค์เดียวในสมัยนี้ได้ทรงจัดการปกครองหัวเมืองเหนือทั้งปวง ภายหลังจากได้ตีเมืองพิษณุโลกและเมืองฝางได้ใน พ.ศ. ๒๓๑๓ แล้ว ได้ทรงแต่งตั้งเจ้าเมืองไปครองเมืองเหนือใหม่หมดทุกเมืองรวมทั้งเมืองตากด้วย
     เมื่อเจ้าเมืองใหม่มาครองเมืองตากแล้ว คงจะพยายามเสริมแต่งค่ายคูและหอรบของเมืองตากให้มั่นคงยิ่งขึ้น แล้วพยายามเกลี้ยกล่อมราษฎรให้เข้ามาตั้งทำมาหากินตามถิ่นที่อยู่ของตนเหมือนอย่างเดิม ในขณะนั้นเข้าใจว่าพลเมืองของเมืองตากคงจะเหลืออยู่ไม่มากนักประมาณว่าคงจะไม่ถึง ๑,๐๐๐ คน เพราะเมืองกำแพงเพชรเองซึ่งเป็นเมืองชั้นโทและเป็นที่มิได้สู้รบกับกองทัพพม่าไม่ได้รับความเสียหายเท่าใดนัก ก็ยังเหลือพลเมืองเพียง ๓,๐๐๐ คน เท่านั้น
     เมืองตากมีเวลาว่างจากการทำศึกสงครามเพียง ๔ ปีเท่านั้น พอถึง พ.ศ. ๒๓๑๗ ก็ต้องเป็นที่ชุมนุมพลของกองทัพไทย เนื่องจากสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชจะทรงยกไปตีเมืองเชียงใหม่อีกครั้งหนึ่ง และในเวลาติด ๆ กันนี้ก็เกิดรบกับกองทัพทหารพม่า ซึ่งติดตามครัวมอญเข้ามาทางด่านแม่ละเมาอีก แต่การรบคราวนี้เป็นการรบย่อยกับทหารพม่าที่ติดตามครัวมอญเข้ามานั้นเมืองตากจึงไม่ได้รับความเสียหายอย่างใด เรื่องราวที่เกี่ยวกับการสงครามในคราวนี้ สมเด็จ ฯ กรมพระยาดำรงราชา-นุภาพทรงกล่าวไว้โดยละเอียดในเรื่องไทย รบพม่าดังนี้.-
     "สงครามคราวนี้เกิดติดต่อจอแจกับที่ไทยไปตีเมืองเชียงใหม่ซึ่งกล่าวมาในตอนก่อนมูลเหตุเกิดแต่เรื่องมอญเป็นกบฏขึ้นในเมืองพม่าดังได้บรรยายมาแล้ว พระเจ้ามังระให้อะแซหวุ่นกี้ ยกกองทัพลงมาจากเมืองอังวะ ๓๕,๐๐๐ พวกมอญกบฏซึ่งขึ้นไปล้อมเมืองร่างกุ้งสู้พม่าไม่ได้ก็ถอยหนี อะแซ-หวุ่นกี้ยกกองทัพพม่าติดตามลงมา พวกมอญกบฏ จึงอพยพครอบครัวพากันออกจากเมืองมอญจะหนีมาอยู่ในเมืองไทย อะแซหวุ่นกี้ให้กองทัพยกตามมาจับครอบครัวมอญที่หนีนั้น พม่าจึงมาเกิดรบขึ้นกับไทย
ครัวมอญที่หนีพม่าเข้าเมืองไทยครั้งนี้ มีหลายพวกและมาหลายทางด้วยกันครัวพวกสมิงสุหร่ายกลั่นเข้ามาทางด่านเมืองตากก่อน สมิงสุหร่ายกลั่นตัวนายได้เฝ้าพระเจ้ากรุงธนบุรี ที่เมืองตากก่อนเสด็จขึ้นไปตีเมืองเชียงใหม่ ทูลให้ทรงทราบ ว่าพวกมอญจะพากันเข้ามาอยู่ในเมืองไทยมาก พระเจ้ากรุงธนบุรีทรงคาดการว่าพม่าเห็นจะยกกองทัพตามครัวมอญเข้ามา จึงตรัสสั่งให้พระยากำแหงวิชิตคุมพล ๒,๐๐๐ ตั้งคอยรับครัวมอญอยู่ที่บ้านระแหง แขวงเมืองต่างทาง ๑ และให้พระยายมราช (แขก) คุมกำลังไปตั้งขัดตาทัพอยู่ที่ท่าดินแดงในลำน้ำไทรโยคคอยรับครัวมอญที่จะเข้ามาทางด่านพระเจดีย์สามองค์อีกทาง ๑ แล้วจึงเสด็จยกกองทัพหลวงขึ้นไปตีเมืองเชียงใหม่ด้วยประมาณการว่า คงจะตีเมืองเชียงใหม่ได้ทันกลับลงมาต่อสู้พม่าที่ยกเข้ามาทางข้างใต้
     ด้วยเหตุนี้พอตีเมืองเชียงใหม่ได้แล้ว ๗ วัน พระเจ้ากรุงธนบุรีก็เสด็จยกกองทัพหลวงกลับลงมา มาถึงนครลำปางก็ได้ทราบว่ามีกองทัพพม่ายกล่วงด่านแม่ละเมาเข้ามาในแดนเมืองตาก จึงรีบเสด็จกลับลงมา พอถึงท่ามืองตากเมื่อ ณ วันพฤหัสบดีเดือน ๓ ขึ้น ๒ ค่ำก็พอกองทัพพม่าที่ยกเข้ามาทางด่านแม่ละเมานั้น มาใกล้จวนจะถึงเมืองตาก ทำนองในเวลานั้น รีบเสด็จลงมาโดยลำลองมีแต่กองทัพสำหรับรักษาพระองค์ กองอื่นยังตามมาไม่ถึงจึงตรัสสั่งให้หลวงมหาเทพ กับจมื่นไวยวรนาถคุมทหาร ๒,๐๐๐ คน ยกไปตีกองทัพพม่ายกไปก็ได้รบในวันนั้นเอง แต่พอค่ำพม่าก็ถอยหนีกลับไป ขณะนั้นกระบวนเรือพระที่นั่งคอยรับเสด็จอยู่ที่ค่ายหลวงบ้านระแหง ใต้เมืองตากลงมาระยะทางที่เดินวัน ๑ ด้วยเดิมกำหนดว่าจะเสด็จกลับทางบกจนถึงบ้านระแหง หาได้คาดว่าจะต้องมารบพุ่งกับข้าศึกที่เมืองตากไม่ครั้นทรงทราบว่าหลวงมหาเทพกับ จมื่นไวยวรนาถ ตีพม่าถอยหนีกลับไปทำนองพระเจ้ากรุง   ธนบุรี จะทรงดำริว่าพม่าที่ถอยหนีไปเป็นแต่กองหน้ากองหลังยังจะตามมาอีกจะวางใจไม่ได้ ถ้าไม่รีบตีให้แตกไปให้หมด ช้าไปพม่าจะรวมกำลังกันยกกลับเข้ามาเป็นกองใหญ่จึงมีรับสั่งให้กองทัพบกสวนทางพม่าลงมาแล้วเสด็จทรงเรือของจมื่นจงกรมวัง รีบล่องลงมาบ้านระแหงในเวลา ๒ ยามค่ำวันนั้น เรือที่ทรงมาโดนตอล่มลง ต้องว่ายน้ำขึ้นหากทรงพระดำเนินมาจนถึงค่ายหลวงที่บ้านระแหง มีรับสั่งให้    พระยากำแหงวิชิต รีบยกกองทัพออกไปก้าวสกัดตัดหลัง กองทัพพม่าที่ยกตามเข้ามาทางด่านแม่ละเมา ให้ถอยหนีไปให้สิ้นเชิงพระเจ้ากรุงธนบุรีประทับรอฟังอยู่ที่บ้านระแหง ๗ วัน และในระหว่างนั้นที่กรุง-    ธนบุรีมีใบบอกขึ้นไปว่า มีครัวมอญเข้ามาทางด่านพระเจดีย์สามองค์เป็นอันมาก ก็เข้าพระทัยว่าคงมีกองทัพพม่ายกติดตามครัวมอญเข้ามาทางนั้นอีก พอได้ทรงทราบว่ากองทัพพระยากำแหงวิชิตตีพม่าที่เข้ามาทางด่านแม่ละเมาถอยหนีกลับไปหมดแล้ว ก็เสด็จยกกองทัพหลวงโดยทางชลมารค ลงมาจากบ้านระแหงเมื่อวันพฤหัสบดี เดือน ๓ ขึ้น ๙ ค่ำ รีบมาทั้งกลางวันและกลางคืน ๕ วันก็ถึงกรุงธนบุรี"
     รุ่งขึ้นอีกปีหนึ่ง คือใน พ.ศ. ๒๓๑๘ เมืองตากก็ถูกศึกใหญ่อีกครั้งหนึ่ง คือเมื่อคราวอะแซ-หวุ่นกี้ตีหัวเมืองเหนือ ได้ยกกองทัพเข้ามาทางด่านแม่ละเมา แต่เจ้าเมืองตากเห็นว่ากำลังไพร่พลของเมืองตากน้อยไม่สามารถจะต่อสู้กับกองทัพของอะแซหวุ่นกี้ได้ ก็พาครัวราษฎรอพยพหลบหนีออกจากเมืองไป กองทัพพม่าจึงยกจากเมืองตากไปทางบ้านด่านลานหอย ตรงไปยังเมืองสุโขทัย และเมื่อคราวที่อะแซหวุ่นกี้ถอยทัพ ก็ถอยผ่านเมืองตากตามไปตามทางเดิม คือทางด่านแม่ละเมาอีกเหมือนกัน ในการสงครามคราวนี้เมืองตากคงจะไม่เสียหายมากมายเท่าใดนัก เพราะไม่ได้สู้รบกับกองทัพพม่า แต่หัวเมืองใหญ่ ๆ ของไทย เช่นเมืองพิษณุโลกและเมืองสุโขทัยนั้นเสียหายมาก
สมัยกรุงรัตนโกสินทร์
     ในปี พ.ศ. ๒๓๒๘ สมัยแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก กองทัพของพม่าจึงเข้าตีประเทศไทยเป็นการใหญ่โดยพระเจ้าปะดุงกษัตริย์พม่า ทรงโปรดให้จัดกองทัพแบ่งออก ๙ ทัพด้วยกัน และให้กองทัพเหล่านี้ยกเข้าตีเมืองไทยทุกทิศทุกทาง ทั้งทางเหนือทางตะวันตกและทางใต้ กองทัพที่ ๙ ของพระเจ้าปะดุงอันมีจอข่องนรทาเป็นแม่ทัพ ได้ยกเข้ามาทางด้านแม่ละเมา เมื่อเข้าตีเมืองตากได้แล้ว ก็ยกข้ามฟากมาตั้งอยู่ที่บ้านระแหง เพื่อรอฟังผลการรบของกองทัพอื่น ๆ ต่อไป แต่เนื่องจากจอข่องนรทาได้ทราบข่าวว่ากองทัพพม่าอีกกองหนึ่ง ซึ่งตั้งอยู่ที่ปากพิงถูกกองทัพไทยตีแตกกลับไปแล้ว และบางทีได้ทราบว่ากองทัพหลวงซึ่งพระเจ้าปะดุง ทรงเป็นจอมพลยกเข้ามาทางด่าน  พระเจดีย์สามองค์ถอยกลับไปแล้วด้วย เฉพาะฉะนั้นเมื่อได้ทราบข่าวว่ากองทัพไทยยกตามขึ้นไปถึงเมืองกำแพงเพชร จึงไม่รอต่อสู้รีบถอยหนีกลับไปด่านแม่ละเมา
     หลังจากสงครามคราวนี้ ก็ไม่มีเหตุการณ์อันใดเกิดขึ้นกับเมืองตากอีก ชาวเมืองตากที่อพยพหลบหนีข้าศึกเข้าป่าเข้าดงไปก็ค่อย ๆ กลับเข้ามาหากินอยู่ในเมืองตากต่อไปตามเดิมอีก จนกระทั่งถึง      รัชกาลที่ ๒ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงพระราชดำริเห็นว่าตัวเมืองเดิมเอาแม่น้ำไว้ข้างหลัง ในเวลาถอยทัพย่อมได้รับความลำบากเนื่องจาก แม่น้ำน้ำกว้างใหญ่ขวางกั้นอยู่ สู้ย้ายเมืองข้ามฟากมาตั้งอยู่อีกฝั่งหนึ่งไม่ได้ เพราะการที่ย้ายมาตั้งฟากนี้จะทำให้มีแม่น้ำขวางหน้าเป็นเสมือนคูเมืองขนาดใหญ่ ทำให้ข้าศึกเข้าตีลำบาก ทั้งการที่จะส่งกองทัพไปช่วย หรือถอยทัพหนีข้าศึกก็จะทำได้สะดวก เพราะฉะนั้นจึงทรงพระกรุณาโปรดให้ย้ายตัวเมืองตากจากที่เดิม มาตั้งใหม่ที่บ้านระแหง ซึ่งอยู่ตรงกันข้ามกับเมืองตาก ที่บ้านป่ามะม่วง ตัวเมืองที่ย้ายมาใหม่นี้ตั้งอยู่ตำบลนี้เรื่อยมา จนกระทั่งถึงทุกวันนี้
     จากประวัติความเป็นมาของจังหวัดตากและเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในสมัยต่าง ๆ ดังได้กล่าวมาแล้ว พอที่จะมองได้ว่าจังหวัดตากในสมัยโบราณนับว่าเป็นเมืองศูนย์กลางการค้าขาย การคมนาคมทางเรือ ระหว่างคนไทยกับมอญ และต่อมาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ยังใช้เป็นเส้นทางคมนาคม
ระหว่างเชียงใหม่ นครสวรรค์ และกรุงเทพฯ เพราะในครั้งนั้นยังไม่มีทางรถไฟ เมื่อเป็นเช่นนี้จึงทำให้ลักษณะการทั้งบ้านเรือนของราษฎรในจังหวัดตากเป็นไปตามความยาวของแม่น้ำ ห่างจากฝั่งออกไปไม่ค่อยมีคนอาศัยอยู่ แต่อย่างไรก็ตามจังหวัดตากในสมัยก่อนก็ยังนับว่าเป็นเมืองที่

     บริบูรณ์และครึกครื้นเมืองหนึ่ง สินค้าต่างเมืองมารวมกันหลายทาง คือ มาจากเมืองเชียงใหม่บ้าง เมืองมะละแหม่งบ้าง ขึ้นไปจากกรุงเทพฯ บ้าง ชาวพื้นเมืองในจังหวัดส่วนมากมีเชื้อสายลาวมากกว่าไทย
ความสำคัญของจังหวัดตากอีกประการหนึ่งคือ เป็นเมืองหน้าด่านที่พม่าจะใช้เป็นเส้นทางเดินทัพ ตัวอย่างเช่น พระเจ้าบุเรงนองของพม่าได้ยกทัพเข้ามาทางด่านแม่ละเมาแขวงเมืองตาก ทำสงครามกับไทยในสมัยแผ่นดินของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ เป็นต้น ยิ่งกว่านั้น จังหวัดตากยังเป็นเมืองที่ชุมนุมทัพเมื่อคราวที่สมเด็จพระนารายณ์มหาราช สมเด็จพระนเรศวรมหาราช เสด็จไปตีเมืองเชียงใหม่ดังได้ทรงสร้างพระเจดีย์ปรากฎไว้เป็นอนุสรณ์ตราบจนทุกวันนี้

การจัดรูปการปกครองเมืองตามระบอบมณฑลเทศาภิบาล
     ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงการจัดระเบียบการปกครองและบริหารราชการขึ้นใหม่ อันเป็นการปูพื้นฐานในรูปการจัดระเบียบการปกครองสมัยใหม่ โดยมีนโยบายรวมหัวเมืองต่างๆ  ให้เข้าเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่ง      อันเดียวอย่างเป็นปึกแผ่นมั่นคง คือเปลี่ยนจากแบบราชาธิราช มาเป็นแบบราชอาณาจักร ดังนั้น เมื่อวันที่ ๒ เมษายน ๒๔๓๕ พระองค์จึงได้ประกาศจัดตั้งกระทรวงขึ้น ๑๒ กระทรวง มีการแบ่งการงานในหน้าที่และความรับผิดชอบของแต่ละกระทรวงให้แน่นอนลงไป และแต่ละกระทรวงให้มีเสนาบดีเป็น   หัวหน้ารับผิดชอบกระทรวงทั้ง ๑๒ กระทรวงที่จัดตั้งขึ้น คือ
            ๑. กระทรวงมหาดไทย มีหน้าที่เกี่ยวกับการปกครองและรักษาความสงบเรียบร้อยภายในหัวเมือง
            ๒. กระทรวงกลาโหม มีหน้าที่ฝ่ายทหารและการป้องกันประเทศ
            ๓. กระทรวงนครบาลมีหน้าที่เกี่ยวกับการตำรวจ และรักษาความสงบเรียบร้อยใน     พระนคร
            ๔. กระทรวงการต่างประเทศ มีหน้าที่เกี่ยวกับกิจการต่างประเทศ
            ๕. กระทรวงพระคลังมหาสมบัติ มีหน้าที่เกี่ยวกับการเก็บภาษีอากร รับจ่าย เก็บ รักษาเงินของแผ่นดินโนวโรรส
            ๖. กระทรวงเกษตรพาณิชย์การ มีหน้าที่เกี่ยวกับการเกษตร และการค้าขาย ป่าไม้ แร่
            ๗. กระทรวงวัง มีหน้าที่เกี่ยวกับกิจการในพระราชวัง และกรมซึ่งใกล้เคียงกับราชการในพระองค์
            ๘. กระทรวงยุติธรรม มีหน้าที่เกี่ยวกับชำระความ อรรถคดี ทั้งแพ่งและอาญา
            ๙. กระทรวงโยธาธิการ มีหน้าที่เกี่ยวกับการก่อสร้าง ทำถนน ขุดคลอง การไปรษณีย์  โทรเลข รถไฟ และการช่างทั้งหลาย
          ๑๐. กระทรวงธรรมการ มีหน้าที่เกี่ยวกับการศึกษา โรงเรียนและการบังคับบัญชา     พระสงฆ์
          ๑๑. กระทรวงมุรธาธร มีหน้าที่เกี่ยวกับการรักษาพระราชลัญจกร รักษาพระราชกำหนด    กฎหมายและหนังสือราชการทั้งปวง
          ๑๒. กระทรวงยุทธนาธิการ มีหน้าที่เกี่ยวกับการจัดทหารบก ทหารเรือ
     แต่ละกระทรวงมีเสนาบดีเป็นหัวหน้าบังคับบัญชา และในการประชุมเสนาบดีของแต่ละกระทรวงเพื่อหารือข้อราชการนั้น พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประธานในที่ประชุมกระทรวงต่างๆ  ที่กล่าวข้างต้นนี้ แต่ละกระทรวงมีกรมกอง ในสังกัดของตนมากน้อยตามความเหมาะสม และได้มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขต่อมาทุกรัชกาล ทั้งนี้ เพื่อความเหมาะสมตามเหตุการณ์ของบ้านเมืองและตามกาลสมัย
สำหรับการปกครองหัวเมืองในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้นได้เป็นไปในทำนองเดียวกับสมัยกรุงศรีอยุธยา แต่เปลี่ยนเรียก ชื่อเสียใหม่ คือ มีการแบ่งการปกครองออกเป็น จังหวัด อำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน และในรัชสมัยของพระองค์นี้ การปกครองหัวเมืองในรูปการแบ่งอำนาจในการปกครองหัวเมืองได้ปรากฏเป็นรูปร่างเด่นชัดขึ้น เมื่อได้มีการตราพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๐ ซึ่งต่อมาได้ยกเลิกและประกาศใช้พระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ. ๒๔๕๓ แทน ซึ่งได้ถือเป็นหลักมาจนกระทั่งทุกวันนี้ จะมีการแก้ไขบ้างก็เพียงบางมาตราเพื่อความเหมาะสมในการปกครองเท่านั้นและได้เปลี่ยนการปกครองหัวเมืองเรียกเป็น การปกครองท้องที่ตามชื่อพระราชบัญญัติ
     อนึ่ง ตั้งแต่รัชสมัยของรัชกาลที่ ๕ เรื่อยมาจนถึงก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นระบอบประชาธิปไตย ได้ทรงดำริจัดตั้งมณฑลและภาคขึ้นโดยรวมหลาย ๆ จังหวัดขึ้นเป็นมณฑล มีข้าหลวงใหญ่หรือข้าหลวงเทศาภิบาลเป็นผู้ปกครองขึ้นตรงต่อพระมหากษัตริย์ และต่อมาได้โอนมาขึ้นอยู่ในสังกัดกระทรวงมหาดไทยตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๖๙ และในปี พ.ศ. ๒๔๕๘ ในรัชสมัยรัชกาลที่ ๖ ได้มีการจัดตั้งภาคขึ้นหลาย ๆ มณฑลรวมกันเป็นภาคและมีอยู่ ๔ ภาค คือ ภาคพายัพ ภาคปักษ์ใต้ ภาคอีสาน และภาคตะวันตก มีอุปราชซึ่งเป็นพระราชวงศ์หรือข้าราชการชั้นผู้ใหญ่เป็นผู้ปกครองขึ้นตรงต่อพระมหากษัตริย์ แต่การจัดรูปการปกครองโดยมีภาคนี้ ได้นำมาใช้เพียง ๑๐ ปี เท่านั้น และได้ยกเลิกไปเมื่อวันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๔๖๘ คงเหลือแต่มณฑล และให้มณฑลต่าง ๆ นี้มาขึ้นกับกระทรวงมหาดไทยในปี ๒๔๖๙ ดังที่กล่าวมาแล้ว สำหรับจำนวนมณฑลนี้มิได้มีจำนวนแน่นอน คงเพิ่มลดกันตลอดมาเพื่อความสะดวกเหมาะสมในการปกครอง จนในที่สุดใน พ.ศ. ๒๔๗๔ ก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครองคงเหลือเพียง ๑๐ มณฑล และได้ยกเลิกไปหลังจากเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว
     อนึ่ง เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๘ ได้มีการรวมหัวเมืองจัดเป็นมณฑลเทศาภิบาลขึ้นอีก ๓ มณฑล คือ มณฑลนครชัยศรี มณฑลนครสวรรค์ และมณฑลกรุงเก่า จังหวัดตากในสมัยนั้นจัดเป็นหัวเมืองที่ขึ้นกับมณฑลนครสวรรค์เรื่อยมา จนกระทั่งได้มีการยกเลิกไป

การจัดรูปการปกครองในสมัยปัจจุบัน
     หลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ ระบอบการ     ปกครองได้เปลี่ยนมาเป็นระบอบประชาธิปไตย หรือปรมัตตาญาสิทธิราชย์ซึ่งหมายความว่า การ     ปกครองโดยมีองค์พระมหากษัตริย์เป็นประมุขอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายสูงสุดของชาติ พระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจทั้ง ๓ ได้แก่ อำนาจนิติบัญญัติ บริหารและตุลาการ โดยทางสภาผู้แทนราษฎร ทางคณะรัฐมนตรีและทางศาลตามลำดับ
     ปัจจุบันนี้การจัดระเบียบการบริหารงานทางการปกครองของประเทศ ได้แบ่งลักษณะการปกครองออกเป็น ๓ ส่วน คือ
          ๑. ส่วนกลาง คือ กระทรวง ทบวง กรมต่าง ๆ และส่วนราชการอื่นที่เทียบเท่า
          ๒. ส่วนภูมิภาค ได้แก่ จังหวัด อำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน ซึ่งเป็นการปกครองในการแบ่งอำนาจในการปกครอง
          ๓. ส่วนท้องถิ่น ได้แก่ เทศบาล สุขาภิบาล องค์การบริหารส่วนจังหวัด องค์การบริหารส่วนตำบล และสภาตำบล และการปกครองท้องถิ่นรูปพิเศษ คือ กรุงเทพมหานครและเมืองพัทยา ตามกฎหมายที่ว่าด้วยการจัดระเบียบการปกครองท้องถิ่นของกรุงเทพมหานครและเมืองพัทยา ซึ่งเป็นการปกครองท้องถิ่นในรูปการกระจายอำนาจในทางปกครอง
     องค์การปกครองท้องถิ่นทุกรูปได้ถูกจัดตั้งโดยอาศัยอำนาจกฎหมาย และมีอำนาจหน้าที่ตามที่กฎหมายที่เกี่ยวข้องได้กำหนดไว้ และมีสภาพเป็นนิติบุคคล เว้นแต่ในรูปสภาตำบล ได้จัดตั้งขึ้นโดยคำสั่งของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๓๒๖ ลงวันที่ ๑๓ ธันวาคม ๒๕๑๕


*************************************************************************************************************************************************
     ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จ ฯ กรมพระยา, อธิบายระยะทางล่องลำน้ำพิงค์ตั้งแต่เชียงใหม่จนถึงปากน้ำโพธิ์ (กรุงเทพฯ :โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร, ๒๔๗๒), หน้า ๑๗
     ตรี  อมาตยกุล, เมืองเหนือและเมืองใต้ (กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์รุ่งเรืองรัตน์, ๒๕๑๓), หน้า ๒๗๔-๒๗๕
     ตรี  อมาตยกุล, อ้างแล้ว หน้า ๒๗๖-๒๗๗
     คือแม่น้ำเมย ที่กั้นแดนประเทศไทยกับประเทศพม่า ที่อำเภอแม่สอดทุกวันนี้
     การย้ายเมืองตากในครั้งนี้ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ทรงสันนิษฐานว่าไว้ในหนังสืออธิบายทางล่องลำน้ำปิง  สาเหตุที่ย้ายเมืองก็เนื่องจากการคมนาคมติดต่อค้าขาย ระหว่างเมืองตากเก่ากับเมืองมอญไม่สะดวก
     ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จ ฯ กรมพระยา, อ้างแล้ว, หน้า ๒๑
     ตรี  อมาตยกุล, อ้างแล้ว  หน้า ๒๗๗-๒๘๘
     ในหนังสือพงศาวดารออกชื่อแต่เจ้าเมืองใหญ่ ๆ เมืองตากเป็นเมืองเล็กจึงไม่มีชื่อเจ้าเมือง แต่ก็กล่าวไว้ว่าดังนี้ "และเมือง น้อย ๆ ทั้งปวงนั้นก็โปรดให้ขุนนางผู้น้อยซึ่งมีความชอบไปครองเมืองทุก ๆ เมือง" ฉะนั้นจึงน่าเชื่อว่าสมเด็จพระเจ้ากรุง ธนบุรีคงจะทรงตั้งเจ้าเมืองมาครองเมืองตากในคราวนี้ด้วย
     ตรี  อมาตยกุล, อ้างแล้ว , หน้า ๒๘๙-๒๙๔
     ซากเมืองตากเก่าที่ตำบลป่ามะม่วงนี้ ยังมีเหลือปรากฏอยู่จนกระทั่งทุกวันนี้
     ชาวเมืองตากยังคงเรียกเมืองตากใหม่นี้ว่า เมืองระแหงอยู่จนกระทั่งทุกวันนี้
     "รายงานตรวจการคณะสงฆ์ จังหวัดกำแพงเพชรและจังหวัดตาก ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญา    พ.ศ.๒๔๕๖", ตากสินมหาราชานุสรณ์, ปีที่ ๒๑, ๒๕๑๔ กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มิตรสยาม, ๒๕๑๓), หน้า ๖๙
     เจริญศุข  ศิลาพันธุ์ "เรียนประวัติการปกครองและการบริหารงานของไทยใน ๓๐ นาที" วารสารตาก, มกราคม, ๒๕๒๖ หน้า ๑๕-๑๖
     เจริญศุข  ศิลาพันธุ์, เพิ่งอ้าง. หน้า ๑๘-๑๙
     ประวัติศาสตร์ส่วนภูมิภาคจังหวัดตาก. กรุงเทพฯ : ศักดิ์ดาการพิมพ์, ๒๕๒๗.