วันพฤหัสบดีที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2555

จังหวัดพังงา


ประวัติศาสตร์จังหวัดพังงา

     การกล่าวถึงประวัติจังหวัดพังงา จะหลีกเลี่ยงไม่กล่าวถึงเรื่องราวประวัติของ "ตะกั่วป่า" เสียก่อนไม่ได้ เนื่องจากปราชญ์ทางประวัติศาสตร์ ยอมรับแล้วว่า "ตะกั่วป่า" ได้เคยเป็นบ้านเมือง  เป็นที่รู้จักกันดีไม่ต่ำกว่า ๒,๐๐๐ ปีมาแล้ว แม้ขณะนี้จะมีฐานะเป็นอำเภอหนึ่งก็ตาม  ส่วนจังหวัดพังงานั้นเพิ่งมาตั้งเป็นบ้านเมืองขึ้นเมื่อ พ.ศ.๒๓๕๒ ในรัชกาลที่ ๒ แห่ง กรุงรัตนโกสินทร์ หรือเมื่อประมาณ ๑๗๖ ปีมานี้เอง
สมัยอาณาจักรศรีวิชัย

     เดิมทีนั้นบนแหลมมลายูรวมทั้งส่วนบนที่เป็นของไทยด้วย ได้เป็นที่อยู่ของพวกพื้นเมืองเดิม อันได้แก่ พวก "เซมัง" และ "ซาไก" มาก่อน  ต่อมามีชนอีกพวกหนึ่งเรียกกันว่า "ชนพูดภาษามอญ - เขมร" อพยพแผ่ลงมาจากทางเหนือเข้ามายึดริมแม่น้ำตอนใกล้ ๆ ชายทะเลเป็นถิ่นฐานเรื่อยลงไปจน ถึงปลายแหลมมลายู ชนพวกนี้ส่วนหนึ่งได้เข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ในลุ่มแม่น้ำสาละวิน เป็นชนชาติมอญ อยู่ในแม่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา เป็นละว้าและปากแม่น้ำโขงเป็นชนเขมร  เฉพาะส่วนที่ลงมาอยู่บนแหลมมลายูนั้นกลายเป็น "พวกมลายูเดิม" แต่ไม่พูดภาษามลายู  ต่อมามีชนพวกพูดภาษามอญ - เขมร ได้อพยพใหญ่ลงมาตามแนวทางเดิมอีกคราวหนึ่ง ในครั้งนี้ชนพูดภาษามอญ - เขมร  ได้เจริญขึ้นมากแล้วได้ทำเรือแพข้ามไปอยู่บนเกาะสุมาตรา ชวาและบอร์เนียว และได้เข้ามาขับไล่เอาพวกมลายูเดิมที่ด้อยความเจริญกว่าให้เข้าไปอยู่ในป่าบ้าง หนีไปอยู่ตามชายทะเลห่างไกลบ้าง กลายเป็นพวก "จากุน" ไป และอยู่ตามชายฝั่งทะเลไทยเรียกว่า "ชาวเล"  หรือ "ชาวน้ำ" ภาษาราชการเรียกว่า "ชาวไทยใหม่"

     ในสมัยใกล้เคียงกัน พวกชาวอินเดียที่มีอารยธรรมสูงได้เริ่มเดินทางเข้ามาติดต่อค้าขาย เนื่องจากชาวอินเดียเหล่านี้มีความฉลาดกว่า มีวัฒนธรรมสูงกว่า จึงได้ถ่ายทอดวัฒนธรรม เช่น ศาสนา ภาษา ขนบธรรมเนียมประเพณี อาหารการกิน ฯลฯ ให้แก่ชาวพื้นเมือง ในที่สุดชาวอินเดียก็ได้เข้าผสมกับชาวพื้นเมือง และมีอำนาจปกครองแหลมมลายูอยู่เป็นเวลาหลายร้อยปี เมื่อเสื่อมอำนาจลงพวกเขมร  (เมืองละโว้) ลงมาชิงได้บ้านเมือง  แต่เขมรปกครองอยู่ได้ไม่นานชนชาติไทยได้เป็นใหญ่ในประเทศสยาม (ณ กรุงสุโขทัย) ก็ขยายอำนาจลงมา ได้แหลมมลายูตอนข้างเหนือไว้เป็นอาณาเขต ตั้งแต่
พ.ศ. ๑๘๐๐ เศษเป็นต้นมา

     พร้อมๆ กันนั้นพวกแคว้นมลายู ซึ่งอยู่บนตอนเหนือของเกาะสุมาตราได้มีอำนาจมากขึ้น จึงได้ข้ามฟากมาตั้ง "อาณาจักรมาลักกา" ขึ้นบนปลายแหลมมลายู แล้วยกทัพขึ้นมาทำสงครามยึดเอาเมืองต่าง ๆ ทางเหนือ ในที่สุดไปปะทะกับอิทธิพลของไทยสุโขทัยตรงสี่จังหวัดภาคใต้ แล้วก็หยุดลงแค่นั้น ชนชาวมลายูที่ข้ามเข้ามาใหม่นี้ได้นำเอาวัฒนธรรมมลายู มีภาษา การนุ่งห่ม ขนบธรรมเนียมประเพณีมาให้แก่บ้านเมืองบนแหลมมลายูที่ตีได้ ต่อมาชาวมลายูบนเกาะสุมาตราได้อพยพเข้ามาอยู่บนแหลมมลายูมากขึ้น ทั้งได้นำเอาศาสนาอิสลามที่ได้ก่อกำเนิดขึ้นในสุมาตราก่อน เข้ามาให้ชนชาวพื้นเมืองเดิมด้วย ทำให้ชนชาวพื้นเมืองเดิมเหล่านั้นค่อยๆ กลายเป็นชาวมลายูไปโดยปริยาย ชนชาวมลายูที่ยกเข้ามาจากสุมาตราเข้ามาอยู่ใหม่นี้เรียกว่า "พวกชาวมลายูใหม่" โดยเหตุนี้เองวัฒนธรรมต่างๆ ของชนชาวมลายูตอนล่าง จึงได้แตกต่างกับชนชาวไทยที่อยู่ตอนบน

     ในสมัยกรุงสุโขทัย พระมหากษัตริย์ไทยได้ส่งกองทัพไปตีและได้เข้าครอบครองดินแดนบนแหลมมลายูทั้งหมดหลายครั้ง บางครั้งได้ข้ามไปปกครองเมืองบางเมืองบนเกาะสุมาตรา ต่อมาเมื่อชาวยุโรปเข้ามามีอิทธิพลจึงได้ถูกชนชาวยุโรปยึดเอาแหลมมลายูตอนล่างไปปกครอง  ในสมัยที่การแล่นเรือข้ามช่องมะละกาไม่ปลอดภัยจากโจรสลัด และต้องใช้เวลาแล่นเรืออ้อมความยาวของแหลมมลายูมากนั้น ชาวอินเดียได้เดินเรือใบมายังชายฝั่งตะวันตกของแหลมมลายู ซึ่งทอดจากเหนือลงมาใต้ขวางทิศทางอยู่ ส่วนหนึ่งได้มาขึ้นจอดที่ท่าเมืองสำคัญเมืองหนึ่งบนฝั่งทะเลด้านนั้น คือท่า "เมืองตักโกลา" หรือ "ตะโกลา" หรือเมือง "ตะกั่วป่า" ในปัจจุบัน ทั้งนี้เพราะในอ่าวหน้าเมืองเป็นที่ทอดสมอจอดเรือหลบมรสุมได้เป็นอย่างดีทุกฤดูกาล นอกจากนั้นสามารถขนถ่ายสินค้าเดินทางบก เพื่อข้ามไปลงเรือซึ่งคอยรับอยู่ในอ่าวบ้านดอนอีกฟากหนึ่งของแหลมมลายูใกล้มาก ทั้งนี้เพราะได้อาศัยลำแม่น้ำตะกั่วป่าเป็นทางลำเลียงสินค้าด้วยเรือเล็กขึ้นไปทางต้นน้ำได้ไกลมาก จนกระทั่งน้ำตื้นมากเรือเล็กไปไม่ไหวแล้ว จึงได้ลำเลียงสินค้าขึ้นหลังช้างหรือวัวต่างม้าต่างเดินบกข้ามสันเขาราวๆ   ๕-๖ ไมล์ ก็จะถึงต้นน้ำคีรีรัฐ ถ่ายสินค้าลงเรือล่องลงไปตามลำน้ำคีรีรัฐจนถึงปากแม่น้ำ ถ่ายของขึ้นเรือใหญ่แล่นออกทะเลไป หรือถ่ายของขึ้นเมืองไชยา  ซึ่งเป็นเมืองใหญ่อุดมสมบูรณ์ มีผู้คนมากอยู่ในอ่าวบ้านดอนก็ได้ ก็โดยเหตุที่เป็นเส้นทางเดินแวะพักเช่นนี้เอง  จึงพบว่า บริเวณเมืองไชยาและเมือง     ตักโกลา มีโบราณวัตถุที่แสดงว่ามีชนชาวอินเดีย และชนชาติอื่นๆ เคยเดินทางผ่านและเคยมาพักอยู่มาก

สมัยกรุงรัตนโกสินทร์
     ในปลายปี พ.ศ. ๒๓๕๑ พระเจ้าปะดุงกษัตริย์พม่าพิจารณาเห็นว่าเมืองไทยกำลังอ่อนกำลังลงเพราะได้สิ้นแม่ทัพนายกองที่เข้มแข็งไปหลายคน เช่น กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท เป็นต้น   ทั้งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ก็ทรงพระชรามากแล้ว ควรจะถือโอกาสไปตีเมืองไทยล้างความอับอายที่ได้พ่ายแพ้มาแล้วหลายหน จึงให้อะเติงหวุ่นเป็นแม่ทัพ เกณฑ์คนเตรียมยกทัพมาตีเมืองไทย แต่การเกณฑ์คนเข้ากองทัพมีอุปสรรค  เสร็จไม่ทันจึงให้ยับยั้งการมาตีเมืองไทยไว้และปล่อยคนเกณฑ์  ในขณะที่ยังปลดปล่อยคนยังไม่หมดนั้นก็พอทราบว่าเมืองไทยเปลี่ยนรัชกาลใหม่  ความกลัวพระบารมีพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าก็หมดไป อะเติงหวุ่นจึงขอยกกองทัพที่เหลือมาตีหัวเมืองปักษ์ใต้ด้านฝั่งทะเลตะวันตก  เพื่อกวาดผู้คนและเก็บทรัพย์ได้พอคุ้มกับทุนรอนที่ได้ลงไปแล้ว  โดยแบ่งกำลังออกเป็น ๒ กองทัพ ยกมาทางเรือมาตีเมืองถลางกองทัพหนึ่ง อีกกองทัพหนึ่งให้เดินมาตีเมืองระนอง กระบุรี และชุมพร  ทางกรุงเทพฯ ได้ข่าวศึกล่วงหน้าสองเดือน จึงโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงเสนานุรักษ์ กรมพระราชวังบวรเป็นแม่ทัพใหญ่มีกำลัง ๔ หน่วย คือ พระยาทศโยธากับพระยาราชประสิทธิ์เป็นแม่ทัพไปเกณฑ์กองทัพเมืองไชยา ยกข้ามแหลมมลายูไปรักษาเมืองถลางไว้ก่อนหน่วยหนึ่ง เจ้าพระยายมราช (น้อย) เป็นแม่ทัพหลวงกับพระยาท้ายน้ำแม่ทัพหน้ารีบลงไปเกณฑ์กำลังเมืองนครศรีธรรมราชยกไปช่วยเมืองถลางหน่วยหนึ่ง ให้พระยาจ่าแสนยากร (บัว) เป็นแม่ทัพยกกำลังจากกรุงเทพฯ  ๕,๐๐๐  ไปเป็นกำลังส่วนกลางคอยช่วยเหลือทัพอื่นหน่วยหนึ่ง และเจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษ์มนตรีได้เสด็จไปรวมพลจัดกองทัพอยู่ที่เมืองเพชรบุรี ด้วยเข้าใจว่ากองทัพพม่าจะยกมาทางด่านเจดีย์สามองค์  แต่เมื่อไม่มีวี่แววพม่ามาทางนั้น  ก็ยกกำลังไปรวมกับกองทัพใหญ่  ซึ่งกรมพระราชวังบวรยกจากพระนครโดยทางเรือถึงเป็นเพชรบุรี เคลื่อนทัพบกตรงไปเมืองชุมพร ในการทัพคราวนี้นายนรินทร์ธิเบศร์  (อิน)  ได้ไปในกองทัพด้วย ได้แต่งโคลงนิราศไพเราะเป็นที่นิยมยกย่องของบรรดากวีไว้เรื่องหนึ่ง ชื่อ  "นิราศนรินทร์ "

     จะเห็นว่า การทัพคราวนี้ได้แบ่งกำลังออกเป็น ๒ ส่วน คือ ส่วนที่ไปป้องกันเมืองถลางได้เกณฑ์กำลังจากหัวเมืองปักษใต้ ทัพส่วนที่ไปป้องกันหัวเมืองอื่นๆ ได้เกณฑ์กำลังหัวเมืองชั้นใน  กองทัพของพม่าที่ยกมาทางเรือตีได้เมืองตะกั่วป่า ตะกั่วทุ่ง  ซึ่งพลเมืองน้อยได้อย่างง่ายดาย เพราะพอได้ข่าวว่ากองทัพพม่ายกมาผู้คนก็อพยพครอบครัวเข้าป่าไปหมด ไม่มีการต่อสู้  จากนั้น กองทัพส่วนนี้ของพม่าได้ยกขึ้นเกาะภูเก็ตล้อมเมืองถลางไว้ ล้อมอยู่เดือนกว่าก็ตีเมืองไม่ได้  เพราะพระยาถลางป้องกันแข็งแรงนัก จึงได้คิดอุบายทำทีว่าลงเรือกลับไปแล้ว แต่ไปซุ่มคอยทีอยู่ที่เกาะยาว พระยาถลางตกหลุมพรางปล่อยผู้คนออกจากเมืองไปทำมาหากิน พม่าได้ทีจึงจู่โจมเข้าล้อมเมืองถลางใหม่ คราวนี้ก็ล้อมเมืองภูเก็ตไว้ด้วย  กองทัพไทยที่จะยกมาช่วยป้องกันเมืองถลาง เกณฑ์กองทัพได้แล้วยกข้ามแหลมมาถึงเมืองชายฝั่งตะวันตก แต่หาเรือลำเลียงกำลังส่วนใหญ่ข้ามฟากไปยังฝั่งเกาะภูเก็ตไม่ได้ คงได้แต่เก็บเอาเรือชาวบ้านบรรทุกกำลังส่วนหนึ่งล่วงหน้าไปได้ แต่ขณะที่เรือกำลังข้ามฟากไปนั้น ได้ปะทะเข้ากับเรือพม่าที่ออกมาลาดตระเวนหาเสบียง จึงเกิดรบกันขึ้น บังเอิญเรือแม่ทัพไทยเกิดระเบิดขึ้นตัวแม่ทัพถึงแก่ความตาย ขบวนเรือที่เหลือจึงแล่นหลบเข้าอ่าวเมืองกระบี่ไป กองทัพพม่าก็ยังคงล้อมเมืองถลางและเมืองภูเก็ตอยู่ตามเดิม
     ฝ่ายกองทัพพม่าที่ยกมาทางบกนั้นตีได้เมืองมะลิวัน เมืองระนอง และเมืองกระบุรี แล้วยกกำลังข้ามเข้ามาทางฝั่งตะวันออกตีเมืองชุมพรอีกเมืองหนึ่ง แต่ยังไม่ทันจะตีเมืองอื่นต่อไป ก็ถูกกองทัพไทยส่วนที่ยกมาทางบกเพื่อป้องกันหัวเมืองปักษ์ใต้ตีแตกไปและปราบปรามข้าศึกลงไปจนถึงเมืองตะกั่วป่า ครั้นพม่าแตกหนีไปหมดแล้ว ทัพหลวงก็ไปพักพลรอฟังข่าวทางเมืองถลางอยู่ที่เมืองชุมพร
     ข่าวกองทัพใหญ่ของไทยยกกำลังลงไปช่วยเมืองถลางนี้รู้ไปถึงกองทัพพม่าที่ล้อมเมืองถลางและเมืองภูเก็ตอยู่ จึงเร่งตีเมืองถลางแตก จับผู้คนและเก็บกวาดทรัพย์สมบัติไปรวมไว้ที่ค่ายแล้วให้เผาเมืองเสีย  ขณะนั้นก็พอดีกองทัพไทยยกมาใกล้จะถึงเกาะชะรอยพม่าจะได้ข่าวอยู่แล้ว ครั้นคืนวันหนึ่งเกิดลมกล้าพม่าอยู่ที่เมืองถลางได้ยินเสียงคลื่นกระทบฝั่ง สำคัญว่าเสียงปืนกองทัพไทย แม่ทัพพม่า  ตกใจรีบสั่งให้อพยพผู้คนขนทรัพย์สิ่งของลงเรือหนีไปโดยด่วน พม่ายังไปไม่หมดกองทัพไทยถึงจึงเข้า ตีพม่าส่วนที่เหลือได้ผู้คนและข้าวของกลับคืนมาเป็นอันมาก

     เมื่อมีชัยชนะพม่าแล้วกรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ทรงพระราชดำริว่าเมืองถลางพม่าก็เผาเสียแล้ว  จะกลับตั้งขึ้นมาใหม่ก็ไม่เป็นที่ไว้ใจได้   ด้วยกำลังที่รักษาบ้านเมืองอ่อนแอลงกว่าแต่ก่อน หากว่ากองทัพพม่าจู่โจมมาอีกก็จะรักษาไว้ไม่ได้ หัวเมืองต่างๆ  จะยกไปช่วยก็ไม่ทันการณ์  เพราะหาเรือไม่ได้  จึงโปรดให้รวบรวมผู้คนพลเมืองถลางที่เหลืออยู่  อพยพข้ามฟากมาตั้งภูมิลำเนาที่ "ตำบลกราภูงา" ซึ่งตั้งอยู่บนปากแม่น้ำพังงา แขวงเมืองตะกั่วทุ่ง และจัดการปกครองขึ้นเป็นบ้านเมืองในรัชกาลที่ ๒ นี้เอง ดังปรากฏอยู่ในทำเนียบข้าราชการนครศรีธรรมราชครั้งรัชกาลที่ ๒ ซึ่งกำหนดขึ้นใน จ.ศ.๑๑๗๑ (๒๓๕๔) ได้ออกชื่อเมืองพังงาด้วย แต่ขณะนั้นเรียกว่า  "เมืองภูงา" และเป็นการยืนยันว่า ในครั้งนั้นเมืองพังงาขึ้นกับเมืองนครศรีธรรมราช

     ต่อมาถึงรัชกาลที่ ๓ ได้เกิดปัญหาการเมืองขึ้นในเมืองไทร คือ เชื้อสายเจ้าพระยาไทรบุรีเดิมได้รับการยุยงจากอังกฤษที่ปีนัง   ยกกำลังเข้าตีเมืองไทรได้ เจ้าเมืองอันได้แก่พระยาไทรบุรีและพระยาเสนานุชิต บุตรพระยานคร  ซึ่งรักษาเมืองมาแต่รัชกาลที่ ๒   ต้องหนีมาอยู่ที่เมืองพัทลุง จึงโปรดเกล้าฯ ให้พระยาศรีพิพัฒนรัตนราชโกษายกทัพไปปราบ แต่พอไปถึงก็ทราบว่าเจ้าพระยานครกลับจากกรุงเทพฯ มาถึงก่อน เกณฑ์ทัพเมืองนครและเมืองพัทลุงให้พระยาไทรบุรีและพระยาเสนานุชิต และ วิชิตสรไกรไปตีได้เมืองไทรกลับคืนมาแล้วจึงไม่ต้องไปตี   แต่ก็พอได้ข่าวว่าพระยากลันตันกับ พระยาบาโงย  ซึ่งมีตนกูประสากับบุตรด้วยวิวาทถึงกับสู้รบกัน  จึงได้ให้คนไปเชิญทั้งสามคนมาระงับข้อวิวาทที่เมืองสงขลา ทีแรกก็ไม่มีใครมา ต่อเมื่อให้พระยาไชยาคุมกำลังลงไปขู่ทั้งสามจึงยอมมาเมืองสงขลา แล้วก็ตกลงเลิกรบทำหนังสือสัญญาให้ไว้ต่อกันได้สำเร็จ จากเหตุการณ์คราวนี้เป็นบทเรียนให้เห็นว่าการใช้ข้าราชการไทยลงไปปกครองเมืองที่ประชาชนเป็นชาวมุสลิมดังที่ทำมาแล้วนั้นไม่มีทางที่จะราบรื่นไปได้พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงใช้วิธีการแบ่งการปกครองออกเป็นส่วนย่อยๆ ดังที่รัชกาลที่ ๑ ได้ทรงใช้กับเมืองปัตตานีได้ผลดีมาแล้ว คือ แบ่งพื้นที่เมืองไทรออกเป็น ๔ เมืองเล็ก แล้วแต่งตั้งให้ชนชาวมลายูที่มีใจสวามิภักษ์ต่อแผ่นดินไทยเป็นเจ้าเมืองใน พ.ศ. ๒๓๘๓

     เมื่อเสร็จจากระงับเหตุทะเลาะวิวาทระหว่างเจ้าเมืองในมลายูคราวนี้แล้ว พระบาทสมเด็จ    พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว  ทรงมีพระราชดำริจะทรงปรับปรุงหัวเมืองชายทะเลฝั่งตะวันตกที่ถูกพม่าทำลายยับเยินมาแล้วนั้น ให้กลับฟื้นคืนดีขึ้นมาใหม่ และมีความเข้มแข็งป้องกันตนเองได้ด้วย จึงโปรดเกล้าฯ  ให้พระยาไทร (เลื่อนมาจากพระยาภักดีบริรักษ์แสง)  เป็นผู้ว่าราชการเมืองพังงา พระยาเสนานุชิต(ปลัดเมืองไทรเดิมและได้เลื่อนขึ้นเป็นพระยาแล้ว) เป็นผู้ว่าราชการเมืองตะกั่วป่า และให้พระยาตะกั่วทุ่ง (ถิน) เป็นผู้ว่าราชการเมืองตะกั่วทุ่ง ส่วนเมืองถลางนั้นยังมีความสำคัญอยู่ โปรดเกล้าฯ ให้แบ่ง  ชาวเมืองถลางที่หนีไปอยู่เมืองพังงากลับไปตั้งเมืองถลางขึ้นอีก แต่ตั้งเมืองใหม่ด้านตะวันออกของเกาะเมืองเหล่านี้ขึ้นตรงต่อกรุงเทพฯ

     ในสมัยรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงแปลงนามของผู้ว่าราชการเก่าที่ว่า "พระตะกั่วทุ่งบางขลี" เสียใหม่เป็น "พระบริสุทธิ์โลหภูมินทราธิบดี" ทั้งทรงตั้ง "พระบริสุทธิ์โลหการ" ตำแหน่งผู้ช่วยอากรดีบุกขึ้นในเมืองตะกั่วทุ่งอีกตำแหน่งหนึ่ง  และพร้อมกันนั้นได้ทรงแปลงนามผู้ว่าราชการเมืองตะกั่วป่าที่ว่า "พระยศภักดีศรีพิไชยสงคราม" เป็น "พระเสนานุชิตสิทธิสาตรามหาสงครามสยามรัฐภักดีพิริยพาห" หลวงปลัด แปลงใหม่ว่า "พระวิชิตภักดีศรีสุริยสงคราม" "หลวงนุรักษ์โยธา"    ผู้ช่วย แปลงว่า "พระเรืองฤทธิ์รักษาราช" และทรงตั้ง "พระสุนทรภักดี" ตำแหน่งผู้ช่วยราชการในอากรดีบุกเมืองตะกั่วป่าขึ้นใหม่  ต่อมาเมืองตะกั่วทุ่งได้ยุบเป็นอำเภอขึ้นกับเมืองพังงา เมื่อได้มีการจัดรวม  "เมือง"  ในบริเวณเดียวกันจัดเป็น "มณฑล" เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๗ ในรัชกาลที่ ๕ เมืองต่างๆ ที่ขึ้นอยู่ในมณฑลภูเก็ตมีเพียง ๖ เมือง คือ ภูเก็ต ตรัง กระบี่ ตะกั่วป่า พังงา และระนอง

     ครั้นถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ ใน พ.ศ. ๒๔๗๔ ฐานะของเศรษฐกิจภายในประเทศไทยกำลังอยู่ในลักษณะที่ทรุดโทรมตกต่ำอย่างน่ากลัว จึงได้มีการตัดทอน  รายจ่ายของประเทศในด้านต่างๆ ลงมามากมาย  สมัยนั้นมณฑลภูเก็ตแบ่งการปกครองเป็น ๗ จังหวัด  (ขณะนั้นเปลี่ยนเรียก "เมือง" เป็น "จังหวัด มาตั้งแต่รัชกาลที่ ๖ แล้ว")  คือ ภูเก็ต ระนอง  ตะกั่วป่า พังงา กระบี่ ตรัง และสตูล (เดิมสตูลขึ้นกับเมืองไทรบุรี แต่หลังจากได้มีการปักปันเขตแดนระหว่างไทยกับอังกฤษ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๒ แล้ว เมืองไทรบุรีตกเป็นของอังกฤษ  จึงโปรดให้สตูลไปรวมอยู่ในมณฑลภูเก็ตเมือง ๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๕๓) รัฐบาลต้องการยุบเสียจังหวัดหนึ่งให้เหลือเพียง ๖ จังหวัด  จังหวัดที่อยู่ในเกณฑ์ที่ต้องพิจารณายุบฐานะมีจังหวัดตะกั่วป่าและพังงา ครั้นถึงวันนัดสมุหเทศาภิบาลประชุมผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้ว่าราชการจังหวัดตะกั่วป่าไปเข้าประชุมไม่ทัน เนื่องจากการคมนาคมไม่สะดวก จังหวัดตะกั่วป่าจึงถูกยุบลงเป็น "อำเภอ" และให้ขึ้นอยู่กับจังหวัดพังงา หลังจากนั้นอีก ๑ ปี มณฑลภูเก็ตก็ถูกยุบอีกให้จังหวัดต่างๆ ขึ้นตรงกับกระทรวงมหาดไทยจนถึงปัจจุบันนี้



*************************************************************************************************
     เก็บความจากคณิต  เลขะกุล, "พังงาในด้านประวัติศาสตร์" ,อนุสาร อ.ส.ท. (ปีที่ ๘ ฉบับที่ ๑๑ มิถุนายน  ๒๕๑๑),หน้า ๒๙-๓๑, หน้า ๕๓-๕๕.
     ประวัติมหาดไทยส่วนภูมิภาคจังหวัดพังงา. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ ดี.แอล.เอส,  ๒๕๒๘. 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น