ประวัติศาสตร์จังหวัดกระบี่
ดินแดนบริเวณจังหวัดกระบี่ในยุคโบราณ เรื่องราวของดินแดนบริเวณจังหวัดกระบี่และดินแดนอื่นๆ ทั้งสองฟากฝั่งทะเลเป็นเรื่อง ที่น่าศึกษาเป็นอย่างยิ่ง จากการค้นพบเครื่องมือยุคหินเป็นจำนวนมากกระจัดกระจายอยู่ทั่วไป ก็แสดงว่าถิ่นนี้เคยมีมนุษย์อาศัยกันมานานแล้วเมื่อหลายพันปีหรือหมื่นปี เครื่องมือหินที่พบบนแหลมมลายูทั้งหมดปรากฏว่าเป็นสิ่งที่ทำด้วยน้ำมือของคนสมัยหินจริงๆ ส่วนมากที่พบจะเป็นขวานหิน ซึ่งชาวบ้านเรียกว่า "ขวานฟ้า"
สุด แสงวิเชียร กล่าวว่า "คนไทยมีความเชื่อว่าขวานฟ้าเป็นของศักดิ์สิทธิ์ ใช้รักษาโรคได้ เช่น พวกลมเพลมพัด ถ้าเอาขวานฟ้ามากดที่บวมจะทำให้ที่บวมยุบ ใช้ฝนกับน้ำเป็นยากินแก้ปวดท้อง ชาวภาคเหนือเอาไว้ใส่ในยุ้งบอกว่าข้าวจะไม่พร่อง ถ้าเอาตากปนไว้กับข้าวเปลือกเชื่อว่าไก่ป่าจะไม่ลงมากินข้าว ชาวภาคใต้เชื่อว่าถ้าเอาขวานฟ้าแช่ในน้ำที่จะเอาไปรดวัวชน วัวจะชนะ ในภาคกลางแถวกาญจนบุรีชาวบ้านแช่ไว้ในโอ่งน้ำกินบอกว่าจะทำให้น้ำเย็นน่ากิน บางคนบอกว่าเอาไว้ป้องกัน ฟ้าผ่า บางคนเอาผูกไว้ที่บั้นเอว หมอแผนโบราณใช้ไล่ผี โดยเอาไว้ใต้ที่นอนผู้ป่วย ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเชื่อว่าขวานหินขัดเป็นขวานของพระยาแถนที่อยู่บนฟ้า”
ในจังหวัดกระบี่มีพบทั่วไปทั้งอำเภอเมือง อำเภออ่าวลึก อำเภอคลองท่อม นอกจากนี้แล้วสิ่งที่น่าศึกษาอีกประการหนึ่ง คือ ภาพเขียนสีบนผนังถ้ำ เช่น ที่ถ้ำผีหัวโต ที่อำเภออ่าวลึก ภาพเขียนสีในถ้ำไวกิ้งเกาะพีพี อำเภอเมือง ที่น่าสนใจคือ ภาพที่ถ้ำผีหัวโต ซึ่งมีทั้งรูปคนที่มีเพียงเส้นที่ขีดเป็นแขนขา และรูปมือที่ทาสีแล้วทาบลงไปบนพื้นผนัง บางภาพก็มีสภาพสมบูรณ์ทั้งภาพคน ภาพปลา ภาพนก รูปเขียนสีเหล่านี้นอกจากจะบอกให้เราทราบลักษณะศิลปในสมัยแรกเริ่มในประเทศไทยแล้ว เรายังจะทราบชีวิตความเป็นอยู่ การอพยพและอื่นๆ อีกด้วย เช่น ความสัมพันธ์ระหว่างขวานฟ้ากับภาพเขียนสีบนผนังถ้ำน่าจะเป็นยุคสมัยเดียวกัน และเป็นที่เชื่อถือกันว่า มนุษย์ในสมัยยุคหินนั้นอาศัยริมทะเลซึ่งมีอาหารอุดมกว่าบนดอนที่ไกลทะเล
ชาติพันธุ์มนุษย์บริเวณนี้ก่อนอินเดียเข้ามา
ดินแดนภาคใต้ของประเทศไทยตลอดแหลมมลายูก่อนที่จะมีอารยธรรมอื่นๆ เข้ามานั้น ได้เป็นที่อาศัยของมนุษย์ถึง 4 จำพวก คือ
" ๑. จำพวกที่ ๑ เรียกว่า กาฮาซี จำพวกนี้ผิวเนื้อดำ ตาโปนขาว ผมหยิก ร่างกายสูง ใบหน้าบานๆ ฟันแหลม ชอบกินเนื้อสัตว์และเนื้อคน มีนิสัยดุร้ายมาก ซึ่งไทยเราเรียกว่า ยักษ์
๒. จำพวกที่ ๒ เรียกว่า ซาไก ผมหยิก ผิวดำ ตาขาวโปน ริมผีปากหนา จำพวกนี้ไม่ดุร้าย อยู่แห่งใดชุมนุมกันเป็นหมู่ ทำพะเพิงเป็นที่อาศัย
๓. จำพวกที่ ๓ เรียกว่า เซียมัง คล้ายกันกับพวกซาไก แต่พวกนี้ชอบอยู่บนเขาสูง
๔. จำพวกที่ ๔ เรียกว่า โอรังลาโวต (ชาวน้ำ) อาศัยอยู่ตามเกาะและชายทะเล มีเรือเป็นพาหนะเที่ยวเร่ร่อนอยู่ไม่เป็นที่"
ทั้ง ๔ กลุ่มนี้ที่สำคัญได้แก่ กลุ่มชาวน้ำ ซึ่งมีความเกี่ยวพันชาวมลายูและไทยอย่างลึกซึ้ง พระยาสมันตรัฐบุรินทร์ ให้ความเห็นเกี่ยวกับพวกนี้ว่า
"พวกชาติมลายูนี้ได้ตรวจดูตามพงศาวดารและประวัติศาสตร์ในภาษามลายูต่างๆ หลายเล่มก็ไม่ได้ความว่ามลายูสืบมาจากชาติใดแน่ เป็นแต่ความสันนิษฐานของผู้เขียนประวัติเหล่านี้ทั้งนั้น แต่อย่างไรก็ดีความว่า ชาติมลายูนี้มาจากโอรังลาโวต คือ ชาวน้ำเป็นที่แน่นอนผสมกับพวกต่างๆ ตามความสันนิษฐานของข้าพเจ้าได้ตรวจหลักฐานมาแล้วนั้น ชาติมลายูนี้มาจากชาวน้ำผสมกับชาติไทย เพราะเหตุว่าการที่มนุษย์มาผสมกับชาวน้ำนี้ก็ได้มีชาติไทยทางเมืองละโคว์ ชุมพร ไชยา ได้รุกรานลงมาก่อนชาติอื่นๆ มารวมผสมด้วย จริงอยู่มลายูได้ชื่อว่า มลายู จากการข้ามฟากของชาติยะวานั้น ก็นับว่าเป็นการได้ชื่อเมื่อภายหลัง แต่ชาติไทยลงมาก่อนราวประมาณ ๑๐๐๐ ปี"
ในบริเวณจังหวัดกระบี่ยังมีกลุ่มชาวน้ำอาศัยอยู่ทั่วไปตามเกาะแก่งริมฝั่งทะเล เช่น เกาะ ลันตา (ปูเลาส่าตั๊ก) เกาะพีพี (ปูเลาปิอะปี) เกาะศรีบอยา (ปูเลาพาย้า) เป็นต้น จากข้อความดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าชนชาติไทยได้อพยพมาอยู่ในดินแดนตลอดแหลมมลายูมาเป็นเวลาช้านานก่อนอินเดียเข้ามา เมื่อชาวอินเดียได้เข้ามาสู่ดินแดนเหล่านี้แล้วจึงเกิดชุมชนเมืองขึ้นอีกรูปแบบหนึ่งที่มีวัฒนธรรมอินเดียเข้ามาประสมประสาน ซึ่งภายหลังกลายเป็นอาณาจักรใหญ่ๆ มีเมืองสำคัญมากมายปรากฏในแผนที่โบราณ จดหมายเหตุของพ่อค้าและนักแสวงโชคชาวต่างชาติบันทึกไว้
ในตำแหน่งพิกัดของเมืองโบราณต่างๆ เท่าที่ปรากฏบนแผนที่ของปโตเลมี มีตำแหน่งที่น่าสนใจเกี่ยวข้องอยู่กับดินแดนบริเวณเมืองกระบี่ คือ ควนลูกปัดและเขาชวาปราบ ในเขตอำเภอคลองท่อมในปัจจุบัน หลักฐานที่หลงเหลืออยู่ก็ไม่แตกต่างจากหลักฐานที่ปรากฏที่ตำบลทุ่งตึก หรือที่เชื่อกันว่า "เมืองตะโกลา" เช่นเดียวกัน นักศึกษาทางโบราณคดีควรที่จะสนใจศึกษา บางทีอาจจะพบหลักฐานเมืองสำคัญบางชื่อที่เรายังไม่สามารถหาตำแหน่งที่ถูกต้องอยู่ก็อาจเป็นได้
สมัยก่อนกรุงศรีอยุธยา
ชุมชนคลองท่อม
เนื่องจากในบริเวณอำเภอคลองท่อมปัจจุบันได้มีการขุดพบลูกปัด ตลอดจนเครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ ในบริเวณควนลูกปัด จากหลักฐานที่ได้ทำให้คิดว่าบริเวณนี้น่าจะเป็นแหล่งเมืองโบราณ แห่งหนึ่ง แต่ข้อยุติที่กำลังแสวงหาคือ ผู้ตั้งชุมชนแห่งนี้ได้แก่พวกใดมาตั้งหลักแหล่งตั้งแต่สมัยใด
ในบริเวณควนลูกปัดนี้ได้พบหลักฐานอย่างอื่นอยู่ด้วย เช่น เครื่องมือหิน เครื่องปั้นดินเผา เครื่องประดับที่ทำจากหินและดินเผาแต่ชำรุดเป็นส่วนใหญ่ นอกจากนี้แล้วยังพบรูปสัตว์ต่างๆ เช่น ช้าง ม้า วัว ควาย ลิง ไก่ เต่า ฯลฯ บางรูปก็ไม่สามารถวินิจฉัยได้ว่าเป็นรูปอะไร รูปสัตว์เหล่านี้อาจจะเป็นวัฒนธรรมด้านลัทธิศาสนาก็ได้ ส่วนรูปคนนั้นพบรูปหน้าตรงบ้าง หน้าตะแคงบ้าง เรียกกันทั่วไปว่า "อินเดียนแดง" แต่ท่านผู้รู้บางท่านกล่าวว่าเป็นรูป "พระสุริยเทพ" สมัยเมื่อ ๖-๗ พันปีมาแล้วของ อียิปต์ ท่านพระครูอาทรสังวรกิจ เจ้าอาวาสวัดคลองท่อมให้ข้อสังเกตว่าน่าจะเป็นอินเดียรุ่นเก่าก่อน ลูกปัดบางเม็ดมีลวดลายแปลกๆ เช่น คล้ายเครื่องหมายสวัสดิกะ นอกจากนี้แล้วยังพบตัวอักษรแต่ยังไม่ทราบว่าเป็นภาษาใดแน่ หอยสังข์ทำด้วยทองคำ กำไลมือและเท้า แต่ส่วนมากชำรุดทั้งสิ้น ที่อยู่ในสภาพดีคือลูกปัดเท่านั้น
นายมานิต วัลลิโภดม นักโบราณคดีคนหนึ่งได้ให้ความเห็นว่า "คลองท่อมเป็นลำน้ำเกิดจากเขาลูกหนึ่งทางตะวันออกเฉียงใต้ ใกล้แดนจังหวัดตรัง ยาวประมาณ ๒๕ กิโลเมตร ปากน้ำออกมหาสมุทรอินเดีย แถวปากน้ำมีเกาะที่น่าสนใจกล่าวชื่อคือ เกาะ นกคุ้ม เกาะศรีบอยา เกาะฮั้ง (หัง) ถนนเพชรเกษมตัดข้ามคลองท่อม ริมถนนมีวัดชื่อ วัดคลองท่อม พระครูอาทรสังวรกิจ (สวาทกันตสำโร) เป็นเจ้าอาวาส ที่ริมคลองท่อมข้างหลังวัดมีบริเวณสถานที่หนึ่งเรียกว่า ควนลูกปัด….เป็นหลักฐานที่สำคัญจุดหนึ่งเกี่ยวกับหลักฐานเรื่องชาวกรีก + โรมัน เข้ามาติดต่อค้าขายที่ปลายแหลมทอง โดยสภาพทางภูมิศาสตร์แคว้นเสียม - ชวกะ หรือสุวรรณทวีป เป็นดินแดนอยู่ระหว่างมหาสมุทรอินเดียกับทะเลจีนใต้ เป็นที่รู้จักแก่ชาวอินเดียมาก่อนพุทธกาล ศิลป- วัฒนธรรมใดๆ แม้แต่การค้าขายของอินเดียย่อมจะต้องมาตั้งหลักแหล่งบนผืนแผ่นดินนี้ก่อน แล้วจึงแผ่กระจายไปยังดินแดนตะวันออกเฉียงเหนือ… การขุดค้นโบราณวัตถุสถานบางแห่ง เช่น บ้านเชียง อำเภอหนองหาน อุดรธานี พบลูกปัดทำด้วยหินและแก้วหล่อ นักโบราณวิทยาลงความเห็นกันว่าเป็นของอียิปต์บ้าง กรีกหรือโรมันบ้าง มีสถานที่แห่งหนึ่งเรียกว่า ควนลูกปัด อยู่ข้างวัดคลองท่อม อำเภอคลองท่อม จังหวัดกระบี่ พบลูกปัดสีต่างๆ ทั้งดีและแตกมากมาย… สิ่งที่น่าสนใจมากคือ เบ้าดินเผาชำรุด ๒ - ๓ เบ้า อันเป็นหลักฐานแสดงว่า ได้มีการหล่อหลอมลูกปัดแก้วมีสีและขนาดต่างๆ ณ ควนลูกปัดนี้เอง แล้วส่งไปจำหน่ายยังเมืองต่างๆ ลูกปัดเม็ดใดหล่อหลอมแตกร้าวเป็นของเสียก็ทิ้งไปในที่ใกล้ๆ โรงงาน"
การที่นักโบราณคดีให้ความเห็นไปทางอียิปต์ก็เพราะว่า ลักษณะของลูกปัดคลองท่อมเหมือนกับลูกปัดที่เก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งขุดได้จากประเทศอียิปต์ สำหรับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยกับอียิปต์โบราณนั้น กาญจนาคพันธุ์ เขียนเล่าไว้ในหนังสือภูมิศาสตร์ วัดโพธิ์ว่า
"ขึ้นวงศ์ที่ ๑๘ อียิปต์เจริญมากราว ๓๔๖๒ ปีมาแล้ว มีพระราชินีองค์หนึ่งชื่อ หัตเซปสุต หรือ หาตเษปเสตได้ครองเมือง… โปรดให้จัดนายพานิช คุมกระบวนสำเภาออกค้าขายย่านทะเลแดง ขากลับได้นำเอาพวกไม้หอมต่างๆ ยางไม้ต่างๆ เครื่องเทศบรรทุกสำเภามาเต็มๆ ชาวอียิปต์เคยเข้ามาค้าขายกับพวกทมิฬอินเดียใต้ ตั้งแต่สมัยดึกดำบรรพ์ พวกไม้หอม ยางไม้ เครื่องเทศนั้นปรากฏมาแต่โบราณดึกดำบรรพ์ว่ามีอุดมอยู่ทางแหลมอินโดจีนบ้านเรา เมื่ออียิปต์ลงสำเภามาค้าขายถึงอินเดียใต้ ก็ทำให้เชื่อว่าอียิปต์จะต้องมาถึงแหลมอินโดจีน และคงต้องติดต่อสัมพันธ์กับไทยสมัยไทยละว้าที่เป็นใหญ่อยู่ในแหลมอินโดจีน อย่างน้อยก็ตั้งแต่สมัยพระนางหัตเซปสุตนี้มาเป็นแน่" นอกจากนี้ยังมีนิยายของอียิปต์หลายเรื่องที่เหมือนกับของไทยเรา เช่น เรื่องสองพี่น้อง "อะนูปูกับบายตี" เหมือนเรื่องหลวิชัย - คาวี ของเรา เรื่องกลาสีเรือแตกคล้ายเรื่องขุนสิงหลสาคร ในพงศาวดารเหนือ เรื่อง "สัตนี" คล้ายเรื่องสังข์ทองของเรามาก ความเหมือนระหว่างอียิปต์กับไทยตั้งแต่นิยาย นิทาน เกี่ยวโยงไปถึงภาษา ถ้อยคำ ขนบธรรมเนียมประเพณีต่างๆ อย่างน่าประหลาดอัศจรรย์ แสดงว่า อียิปต์กับไทยจะต้องได้ติดต่อกันทางทะเลจนมีความสัมพันธ์สนิทสนมสมัยหนึ่งในยุคดึกดำบรรพ์ราว ๓๐๐๐ ปีมาแล้ว
จากหลักฐานการพบเครื่องมือเบ้าหินลูกปัด เศษลูกปัดที่แตก ก้อนหินสีต่างๆ ลูกปัดชำรุด ที่ถอดจากเบ้าทิ้งไว้ จนจับกันเป็นพืดก็ยังมี แสดงว่าควนลูกปัดเป็นแหล่งผลิตแน่นอน ย่านคลองท่อมแต่เดิมคงจะกว้างขวางกว่าปัจจุบันมาก เรือสินค้าจะต้องผ่านไปมาสะดวก ปัญหาอยู่ที่ว่าผู้มาตั้งหลักแหล่งอยู่ ณ ที่นี้เป็นชาติใดอินเดียหรืออียิปต์ เพราะว่าทั้งสองชาติมีความสัมพันธ์กับไทยมาแต่โบราณกาล อินเดียอยู่ใกล้ไทยมากมีโอกาสมากกว่าในการถ่ายทอดวัฒนธรรม เรือสินค้าจากคลองท่อมย่อมออกทะเลได้ทั้ง ๒ ด้าน เพราะย่านนี้เคยมีการชุดพบซากเรือโบราณ สมอเรือ คุณเยี่ยมยง สังขยุทธิ์ สุรกิจบรรหาร นักค้นคว้าทางโบราณคดีคนหนึ่งของภาคใต้ได้ให้ความเห็นไว้ว่า
"แหลมไทแผ่นดินนี้เป็นแหล่งย่านค้าขายของพ่อค้า และเป็นที่ท่องเที่ยวเผชิญโชคจากอินเดียและในย่านอาหรับได้ไปมาหาสู่ถึงกันอยู่แล้ว และทางด้านตะวันออกก็มีจีน ญวน ไปมาติดต่อถึงกันอยู่ ที่ทราบได้เพราะได้พบหัตถกรรมโบราณวัตถุของชาตินั้นๆ มีอายุสมัยก่อนพุทธกาล
การศึกษาจากธรณีวิทยา ดินแดนบริเวณนี้มีลำน้ำใหญ่จากอ่าวบ้านดอนไปทะลุจังหวัดกระบี่ได้ ในสมัยก่อนที่ลำน้ำนี้ไม่ตื้นเขิน ทางทะเลตะวันตกมีร่องรอยลำน้ำเก่าอยู่ ๓ สาย
- สายที่ ๑ ตามลำคลองกระบี่น้อย ไปออกคลองอีปันกับแม่น้ำหลวง (ตาปี) ออกอ่าวบ้านดอนได้
- สายที่ ๒ เข้าตามคลองปากาไส ออกคลองอีปัน และแม่น้ำหลวงได้เหมือนกัน
- สายที่ ๓ ตามสายคลองท่อมออกคลองสินปุน ไปตามแม่น้ำหลวงเหมือนสายที่ ๑,๒ ต่อมาลำน้ำตื้นเขิน ทำให้บริเวณปลายคลองอีปัน คลองกระบี่น้อย กับคลองปากาไส เป็นดินดอนขึ้น เป็นการปิดกั้นให้ลำน้ำที่กล่าวแล้วตัดขาดจากกัน หมู่บ้านที่ตั้งอยู่บริเวณยอดน้ำปากคลองมีชื่อว่า บ้านปากด่านอยู่ทุกวันนี้ สายคลองท่อมก็อยู่ในทำนองเดียวกับบริเวณปากคลองท่อมกับคลองสินปุน ลำน้ำขาดออกจากกันที่บริเวณเขาชวาปราบที่นี่มีซากเมืองเก่าอยู่ คำว่าชวาปราบมาจากคำสันสกฤตว่า "ทางน้ำสื่อสาร"
ชื่อเมืองคลองท่อมเดิมจะเรียกว่าอย่างไรไม่สามารถทราบได้ ในบรรดาเมืองเท่าที่ปรากฏในแผนที่เก่าๆ คัมภีร์และบันทึกการเดินทางของชาติต่างๆ จะรวมเมืองคลองท่อมเข้าไปด้วยหรือไม่ เช่น ข้อความที่ปรากฏในคัมภีร์มหานิเทศในมิลินทปัญหา ในจดหมายเหตุ ปโตเลมี จดหมายเหตุของจีนและอาหรับ เป็นต้น ชื่อเมืองๆ หนึ่งที่เป็นที่ยอมรับกันทั่วโลก คือ ในแผนที่ปโตเลมี คือ เมืองตะกั่วป่า หรือ ตะโกลา นั้น พิกัดในแผนที่ก็ไม่เป็นที่แน่นอนนักเพียงแต่บอกว่าอยู่ใต้ภูเก็ตลงไป อาจจะเป็นทุ่งตึก คลองท่อม หรือเมืองตรังก็อาจเป็นได้
อย่างไรก็ตาม ความผูกพันของการสร้างเมืองที่คลองท่อมนี้มีจดหมายเหตุตำนานเมืองนครศรีธรรมราชที่น่าสนใจอยู่ ๒ ฉบับ คือ ฉบับที่พระเสนานุชิตพบที่บ้านทุ่งตึก อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา และฉบับที่พระพิไชยเดชะพบที่วัดเวียงสระ อำเภอเวียงสระ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ข้อความบางตอนคล้ายคลึงกัน เล่าว่า
"ผู้สร้างเมืองตะกั่วป่าเป็นพราหมณ์ชาวอินเดียชื่อ พระยาศรีธรรมโศกราช (พระนามเดิมชื่อ พราหมณ์มาลี) มีพระอนุชาพระนามว่า พราหมณ์มาลา เป็นที่พระยาอุปราชอพยพลงเรือมาขึ้นที่บ้าน ทุ่งตึก เมื่อพุทธศักราช ๑๐๐๖ สร้างเมืองตะกั่วป่าขึ้นแต่ยังไม่ทันสำเร็จ…. ก็ถูกข้าศึกรุกรานตีเมืองแตกต้องอพยพหนีข้ามเขาสกมาทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ได้ตั้งเมืองชั่วคราวที่บ้านน้ำรอบให้นามเมืองใหม่ว่า "เมืองธาราวดี" แต่ปรากฏว่าเนื่องจากพื้นภูมิประเทศอยู่ในระหว่างภูเขาห้วยธารป่าดง ประกอบกับพวกชาวอินเดียผู้อพยพไปอยู่ได้ไม่นานเกิดผิดน้ำผิดอากาศ เกิดไข้ห่า (อหิวาตกโรค) ขึ้นในหมู่ผู้อพยพอย่างรุนแรง จำเป็นต้องรื้อถอนอพยพไปทางตะวันตกเฉียงใต้ ไปตั้งเมืองชั่วคราวขึ้นอีก ที่เชิงเขาชวาปราบ แต่ภูมิประเทศแถบเขาชวาปราบก็คล้ายกับที่เมืองธาราวดีอีก ไข้ห่าจึงยังไม่สงบต้องเลื่อนต่อไปหาชัยภูมิใหม่ ไปได้ที่บ้านเวียงสระ ได้ตั้งมั่นที่นั่นอีกหนหนึ่งแต่อยู่ไม่ได้หลายปีเพราะโรคภัยไข้เจ็บ… ต้องรื้อถอนไปทางฝั่งทะเลตะวันออกไปพบหาดทรายแก้วกว้างใหญ่… ทำเลดีกว่า ที่ตั้งมาแล้ว มีชัยภูมิดีควรแก่การตั้งราชธานี จึงตั้งมั่นที่นั่น… กลายเป็นบ้านเมืองสำคัญใหญ่โตเรียกว่า เมืองนครศรีธรรมราช มาจนตราบเท่าทุกวันนี้"
ในตำนานเมืองนครศรีธรรมราชเล่าไว้ข้อความคล้ายๆ กัน ความว่า "ครั้นต่อมาถึงกาลกำหนดที่ทำนายไว้ ให้บังเกิดไข้ห่าขึ้นที่เมืองหงษาวดี ผู้คนล้มตายมาก พระเจ้า ศรีธรรมโศกราชผู้ครองเมืองกับน้องชายชื่อ ธรนนท์ พาญาติวงศ์และไพร่พลสามหมื่นคนกับพระพุทธ คัมเภียร พระพุทธสาครผู้เป็นอาจารย์ เดินทางอพยพมาเจ็ดเดือนเศษถึงเขาชวาปราบ ก็ตั้งอยู่ ณ ที่นั้นแล้วให้สร้างวัดเวียงสระถวายแก่พระอาจารย์ทั้งสอง…"
ท่านพระครูอาทรสังวรกิจ เจ้าอาวาสวัดคลองท่อมได้เล่าว่าบริเวณควนลูกปัดนี้มีตำนานพื้นบ้านเล่ากันมาว่า "เดิมบริเวณนี้เป็นเมือง เจ้าเมืองชื่อ ขุนสาแหระ บ้านเมืองเต็มไปด้วยความสุขสมบูรณ์ พรั่งพร้อมด้วยทรัพย์สินเงินทอง ไม่มีบุตรชายที่จะสืบสกุลต่อไป มีแต่ลูกสาวคนสวยเพียงคนเดียว ขุนสาแหระรักและหวงลูกสาวคนนี้มาก พยายามอบรมสั่งสอนให้อยู่ในขนบธรรมเนียมที่ดีงามแต่ในที่สุดลูกสาวก็ทำให้พ่อแม่เสียใจเป็นอย่างมาก เพราะนางลอบไปได้เสียกับมหาดเล็กภายในวังขุนสาแหระ ผู้เป็นพ่อโกรธมาก ถึงกับจับเอาบุคคลทั้งสองขังไว้ใต้อุโมงค์ ด้วยความโกรธแค้นขุนสาแหระสั่งให้จุดไฟเผาเมืองเสียด้วย ทรัพย์สินต่างๆ ที่นำไปไม่ได้ให้ทุบทำลายให้หมดสิ้น ไม่ต้องการให้เหลือไว้สำหรับใครอีกต่อไป คนรุ่นหลังเก็บได้ก็เป็นเพียงชิ้นส่วนเท่านั้น เมื่อเห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างมอดไหม้ไปกับ พระเพลิงแล้ว ขุนสาแหระก็ชักชวนบริวารอพยพต่อไปทางทิศตะวันออก แต่ก็ไม่ปรากฏว่าไปตั้งเมืองใหม่ ที่ใด"
ปัญหาที่น่าศึกษาต่อไปคือ บริเวณเชิงเขาชวาปราบคือบริเวณใด ในปัจจุบันเขาชวาปราบกับควนลูกปัดอยู่ห่างกันประมาณ ๑๖ - ๒๐ กิโลเมตร แต่ในสมัยก่อนลำคลองคงจะกว้างขวางมาก เรือใหญ่ๆ คงจะผ่านไปมาสะดวก
นายประทุม ชุ่มเพ็งพันธ์ ได้ให้ความเห็นในเรื่องนี้ว่า เขาชวาปราบกับควนลูกปัดมีความสัมพันธ์กันด้วยเหตุผล ๓ ประการ คือ
"๑. เขาชวาปราบอยู่ใกล้กับเมืองคลองท่อมมากกว่า การเดินทางติดต่อทางบกทำได้ไม่ยาก และมีคลองสินปุนเป็นเส้นทางน้ำสำคัญที่สามารถเดินทางติดต่อกับเมืองเวียงสระ ฉวาง ลานสกา และนครศรีธรรมราชได้สะดวก
๒. ตามตำนานท้องถิ่นของเมืองคลองท่อมที่กล่าวว่า เจ้าเมืองคลองท่อมมีลูกสาวสวยคนโปรดคนหนึ่ง ลูกสาวเกิดมีชู้จึงเสียใจ โกรธมาก ได้ฆ่าลูกสาวและชายชู้แล้วฝังรวมกับทรัพย์สมบัติมหาศาลไว้ที่ใต้ควนลูกปัด (ที่ตั้งเมืองหรือเมืองท่า) เผาบ้านเมืองพินาศแล้วจึงอพยพเดินทางหายสาบสูญไปทางทิศตะวันออกซึ่งอาจเป็นการอพยพมาอยู่เขาชวาปราบก็ได้ บนเขาชวาปราบเป็นที่ราบเรียบโล่งเตียน เชื่อกันว่าพวกชวาเป็นผู้มาถากถางปรับที่คล้ายกับจะตั้งเมืองหรือทำอะไรสักอย่าง มีผู้พบเศษกระเบื้องถ้วยชามบ้าง
๓. จากคลองท่อมมีเส้นทางคมนาคมติดต่อกับเมืองที่ตั้งอยู่ฝั่งทะเลตะวันออกได้ คือเดินบกไปลงคลองสินปุน (ถ้าไม่ข้ามคลองลัดผ่านย่านทุ่งใหญ่ ไปทุ่งสงหรือฉวาง) แล้วล่องไปตามลำน้ำไปเวียงสระได้อย่างสะดวกมาก จากเวียงสระจึงไปฝั่งทะเลตะวันออก เช่น สิชล ท่าศาลา และนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นที่ราบชายฝั่งทะเลยาวเหยียด เป็นแหล่งที่ตั้งชุมชนโบราณตลอดชายฝั่งทะเล
ด้วยเหตุผลเหล่านี้จึงเชื่อว่าเมืองคลองท่อมน่าจะมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับเมืองเวียงสระ โดยเมืองคลองท่อมทำหน้าที่เป็นท่าเรือ เป็นประตู (GATEWAY) ทางฝั่งทะเลตะวันตก เพื่อนำไปสู่เมืองเวียงสระและพุนพิน ที่ปากแม่น้ำตาปี (แม่น้ำหลวง)"
การล่มสลายของเมืองคลองท่อมที่ควนลูกปัด จะเป็นไปด้วยสาเหตุข้อใดไม่มีใครทราบ แต่จากหลักฐานต่างๆ ที่พบในบริเวณนี้บ่งบอกให้ทราบว่า เมืองนี้มิได้ร้างไปตามกาลเวลา แต่เป็นการถูกทำลายด้วยสาเหตุใดสาเหตุหนึ่งเป็นแน่ จากข้อสังเกต
๑. ถ้าขุดดินลึกลงไปมากๆ สภาพดินคล้ายกับถูกเผาหรือถูกเพลิงไหม้มาก่อน
๒. วัตถุต่างๆ ที่ขุดพบไม่ว่าจะเป็นลูกปัด แก้วสี เครื่องดินเผา เครื่องประดับ จะหาส่วนที่สมบูรณ์ได้ยาก แม้แต่ขวานหินที่พบที่ควนลูกปัดจะหักชำรุดเกือบทั้งสิ้น คล้ายกับว่าเจ้าของเดิมทุบทำลายก่อนอพยพหนีข้าศึก บ้านเมืองก็เผาผลาญเสียหมดสิ้นมิให้ใครเอาไปใช้ประโยชน์ได้อีก ข้อน่าสังเกตบางหลุมที่ขุดพบชิ้นส่วนกำไลขนาดใหญ่จำนวนมาก แต่ไม่สามารถนำมาต่อกันเข้าได้เลย ถ้าจะนำชิ้นส่วนมาต่อกันได้ก็มักจะเป็นชิ้นส่วนซึ่งได้จากหลุมที่อยู่ห่างไกลออกไป เหมือนกับว่าเมื่อทุบทำลายแล้วนำไปทิ้งคนละทิศคนละทาง
ท่านพระครูอาทรสังวรกิจให้ความเห็นเรื่องชื่อ "คลองท่อม" ว่าน่าจะมาจากชื่อ "คลองทุ่ม (ทิ้ง)" หมายถึง บ้านเมืองที่ทิ้งร้างเสียหรือทุ่มบ้านทุ่มเมือง คลองท่อมเป็นแม่น้ำสายใหญ่ไหลผ่านควนลูกปัด ลำคลองคดเคี้ยวมากมีวังน้ำวนอยู่ ๒ แห่ง คือ วังแก้มซอนกับวังผี วังแก้มซอนน้ำลึกมาก เคยพบซากเรือโบราณเมื่อปี ๒๕๐๑ ชื่อวังนี้แต่เดิมอาจเป็นวังแกล้งซ่อนก็เป็นได้ คือ ซ่อนสมบัติทรัพย์สินเงินทองเอาไว้ ส่วนวังผีก็เป็นวังน้ำลึก เล่ากันว่าถ้าจับสัตว์น้ำจากวังนี้ไปกินเป็นอาหารจะเกิดอาเพศเหตุการณ์ต่างๆ ในวังทั้งสองมีวัตถุโบราณจมอยู่มาก เรือบรรทุกสมบัติอาจล่มลง ณ ที่นี้ก็เป็นได้ วังผีจึงเปรียบเสมือน "ปู่โสมเฝ้าทรัพย์" นั่นเอง ซึ่งทรัพย์สมบัติเหล่านั้นยังหลงเหลือมาจนกระทั่งทุกวันนี้
ปัจจุบันคลองท่อมกำลังจะถูกทอดทิ้งเช่นกับอดีต วัตถุโบราณที่หลงเหลือกำลังถูกทำลายครั้งสุดท้าย และในครั้งนี้จะไม่มีอะไรเหลือไว้ให้นักศึกษาค้นคว้าอีกเลยเพราะลูกหลานไทยกำลังขายอดีตของตนไปสู่มือพ่อค้า แม้แต่ "ปู่โสมเฝ้าทรัพย์" ก็ไม่สามารถจะพิทักษ์ทรัพย์สินเหล่านี้ไว้ได้
กระบี่ในอาณาจักรนครศรีธรรมราช
ชุมชนนครศรีธรรมราช ณ หาดทรายแก้วจะมีมาตั้งแต่เมื่อใดไม่ปรากฏหลักฐานเด่นชัด ทราบแต่เพียงในตำนานเมืองนครศรีธรรมราชว่า พระยาศรีธรรมโศกราชเป็นผู้สร้างเมืองนี้และปรากฏชื่อในคัมภีร์มหานิเทศติสสเมตเตยยสูตร เรียกเมืองนี้ว่า "ตามพรลิงค์" หรือ ตมพลิงคม" ในจดหมายเหตุจีนของหลวงจีนอี้จิง เรียกว่า "ตั้งมาหลิง"
เมื่อได้จัดการปกครองมั่นคงแล้ว ขยายอาณาเขตออกไปอย่างกว้างขวางไปโดยรอบ ดังปรากฏในปูมโหรว่า มีเมือง 12 นักษัตร ใช้รูปสัตว์ต่างๆ เป็นตราประจำเมืองขึ้นต่อนครศรีธรรมราชโดยตรง คือ
๑. เมืองสายบุรี ตราหนู
๒. เมืองปัตตานี ตราวัว
๓. เมืองกะลันตัน ตราเสือ
๔. เมืองปะหัง ตรากระต่าย
๕. เมืองไทรบุรี ตรางูใหญ่
๖. เมืองพัทลุง ตรางูเล็ก
๗. เมืองตรัง ตราม้า
๘. เมืองชุมพร ตราแพะ
๙. เมืองบันไทยสมอ ตราลิง
๑๐. เมืองสะอุเลา (สงขลา) ตราไก่
๑๑. เมืองตะกั่วป่า,ถลาง ตราหมา
๑๒. เมืองกระ (บุรี) ตราหมู
นักค้นคว้าทางโบราณคดีให้ความเห็นว่า เมืองกระบี่นั้นมิได้เป็นเมืองใหม่เลย มีสภาพเป็นบ้านเมืองแล้วตั้งแต่ พ.ศ.๙๐๐ เป็นย่านปากน้ำสำคัญไปสู่สุราษฎร์ธานีได้ และเมืองกระบี่ในสมัย มหาอาณาจักรดินแดง ก็เป็นเมือง ๑๒ นักษัตร ชื่อว่า "บันไทยสมอ" หรือ "ปันท้ายหมอ" ใช้ตราลิง คำว่า "กระบี่" ไม่ใช่คำใหม่แต่มีมานานแล้ว เช่น คลองกระบี่ใหญ่ กระบี่น้อย เมืองปากาไส คำว่า "ปากา" แปลว่า "กระบี่" คือ ดาบ
การได้ชื่อว่า "บันไทยสมอ" นั้นเป็นคำเรียกเพี้ยนมาจากชื่อบ้านเมืองที่ตั้งขึ้นจากสภาพ
ความเป็นอยู่ของท้องถิ่นภาษาไทยปักษ์ใต้ ในจังหวัดกระบี่มีบ้านหนึ่งชื่อ "บ้านไสไทย" คำว่า "ไส" เป็นคำเรียกชื่อแหล่งบ้าน ที่อยู่ ที่ทำกิน ซึ่งหักร้างถางพงในการเพาะปลูกหรือทำไร่มาแล้ว ต่อจากบ้าน ไสไทยมีบึงใหญ่เรียกกันว่า "หนองเล" ต่อจากนั้นไปเรียกว่า "บ้านในสระ" คำว่า "สมอ" คือ น้ำเต็ม ปริ่มสระ ทั้งนี้เป็นคำไทยปักษ์ใต้ บ้าน (ไส) ไทยส(ระ)มอ เห็นว่า บ้านเป็น "บัน" เพราะพูดเสียงห้วนไป แล้ว "ไส" ขาดตกไป เป็น "บันไทย" และ "บัน" คือ เมืองที่อยู่, ที่สำนัก เมื่อเป็น บันไทยสมอ คือ "บ้านไทยที่มีสระน้ำมอปริ่ม"
การที่นักค้นคว้าเหล่านี้ให้ความเห็นว่ากระบี่เป็นบ้านเมืองแล้วมาตั้งแต่ พ.ศ.๙๐๐ นั้น คงจะพิจารณาจากหลักฐานต่างๆ ที่ค้นพบ เช่น หลักฐานจากควนลูกปัดก็ดี พระพุทธรูป พระพิมพ์ รูปปฏิมากรรมอื่นๆ ที่พบตามถ้ำต่างๆ ในจังหวัดกระบี่มีมากมาย ชาวกระบี่หลายท่านที่ค้นพบรูปปฏิมากรรมต่างๆ ที่นำมาเก็บรักษาไว้เป็นส่วนตัว ที่พบมากได้แก่ รูปฤาษีสร้างด้วยโลหะ ส่วนพระพิมพ์นั้นมักจะเป็นพระพิมพ์ดินดิบเป็นแบบคุปตะ ก็เข้าเค้ากับหลักฐานที่ว่า ในศตวรรษที่ ๔ แห่ง คริสตกาล (ราว พ.ศ. ๙๐๐) งานออกแสวงหาดินแดนเพื่อตั้งบ้านเมืองของชาติอินเดียได้เป็นไปอย่างกว้างขวางทั่วดินแดนสุวรรณภูมิ
ในราว พ.ศ. ๑๐๐๐ เป็นที่เชื่อได้ว่า พวกอินเดียทางบริเวณปากน้ำคงคาได้มายังสุวรรณทวีป เพราะปรากฏว่าพระพุทธรูปแบบคุปตะมีอยู่ทั่วไปตลอดแหลมมลายู เกิดอาณาจักรต่างๆ ขึ้นมามากมาย พวกนี้ได้นำเอานักบวช ช่างปฏิมากรรมมาด้วย อันเป็นเหตุให้เกิดพระพุทธรูป เทวรูป และ รูปปฏิมากรรมอื่นๆ ส่วนสภาพเมืองเล็กๆ ในสมัยก่อนคงไม่มีสิ่งก่อสร้างที่ถาวร นอกจากใช้วัสดุพื้นเมือง จึงไม่ค่อยจะเหลือหลักฐานอะไรมากมายในด้านการก่อสร้าง
บทบาททางการเมืองของกระบี่ในประวัติศาสตร์ไม่มีอะไรมากนัก ทั้งนี้เพราะผนวกอยู่กับอาณาจักรนครศรีธรรมราชมาตลอดจนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ จากการแสวงหาดินแดนของชาวอินเดีย ซึ่งต่อมาทำให้อาณาจักรนครศรีธรรมราชต้องประสบศึกใหญ่ที่ต้องเดือดร้อนกันทั่วไป คือ เมื่อราเชนทร์โจฬะกษัตริย์อินเดียใต้ยกทัพมาตีแหลมไทเมื่อ พ.ศ. ๑๕๖๗ อาณาจักรไทยทางใต้ คือ อาณาจักรตามพรลิงค์หรือเมืองนครศรีธรรมราชต้องตกเป็นประเทศราชของเป็นเวลาถึง ๒๐ ปี กล่าวกันว่าในด้านฝั่งทะเลตะวันตกนี้ พวกอินเดียได้ยึดเอาเกาะศรีบอยาและเขาชวาปราบเป็นแหล่งที่ตั้ง ฐานทัพ เพราะเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญที่จะเข้าโจมตีเมืองที่อยู่ใกล้เคียงได้สะดวก นครศรีธรรมราชได้หลุดพ้นจากอำนาจการปกครองของอินเดียเมื่อ พ.ศ. ๑๕๘๗ ในสมัยอาณาจักรศรีวิชัยเรืองอำนาจนครศรีธรรมราชก็เป็นรัฐของอาณาจักรศรีวิชัย เมื่อศรีวิชัยเสื่อมอาณาจักรนครศรีธรรมราชก็เป็นอิสระจนกระทั่งถึงสมัยไทยรวมไทย
พระภัทรศีลสังวร (ช่วง อตถเวที) นักค้นคว้าทางโบราณคดีเมืองใต้อีกท่านหนึ่งให้ความเห็นเรื่องการรวมชาติไทยไว้ว่า
"เริ่มด้วยอาณาจักรอู่ทองตีอาณาจักรศิริธรรมพ่าย อาณาจักรสุโขทัยตีอาณาจักรอู่ทองพ่าย อาณาจักรศิริธรรมไม่ยอมอ่อนน้อม อาณาจักรสุโขทัยรวมกำลังอู่ทองยกลงมาตีอาณาจักรศิริธรรมพ่าย พ.ศ. ๑๘๒๓ ท่านบัณฑิตแต่งประวัติศาสตร์ไทยไม่เคยรู้เรื่องไทยใต้ ก็จับเอาเหตุที่พ่อขุนรามคำแหงกรีฑาทัพลงมาตีอาณาจักรศิริธรรมได้ตอนนี้ว่า คนไทยลงมาครอบครองแหลมไทยตอนใต้ในระยะเวลากาลนี้เสีย ก่อนจากนี้คนที่อยู่ในแหลมไทยตอนใต้เป็นแขกอินเดีย มอญ เขมร มลายู เขาครอบครองอยู่ เป็นอันว่าสุดแล้วแต่ท่านบัณฑิตจะเดาสวดเอา ตามที่จริงที่ถูกนั้นตอนระยะกาล พ.ศ.๑๘๒๓ เป็นเวลาที่ชนเผ่าเชื้อชาติไทยเกิดความรู้สึกว่าจะต้องรวมพวกตั้งเป็นประเทศชาติเพื่อความทรงอยู่ ดังที่เราทุกคนรับมรดกคือประเทศชาติอยู่บัดนี้ คนไทยได้มีอยู่ประจำถิ่นในแหลมไทยตอนใต้มาเป็นพันๆ ปีแล้ว ผู้แต่งประวัติศาสตร์ไทยถ้าเทียบกับการเล่นการพนันแล้ว แพ้จนกระทั่งกะถึงยกตายายให้เพื่อนหมด ตอนระยะกาลนี้เป็นเวลาที่ไทย ๓ เส้า คือ อาณาจักรสุโขทัย อาณาจักรอู่ทอง อาณาจักรศิริธรรม รวมกันเป็นเอกภาพ คือ เป็นไทยพวกเดียวกัน…"
สมัยกรุงศรีอยุธยา
ดังกล่าวมาแล้วว่าดินแดนที่เป็นจังหวัดกระบี่ในปัจจุบันขึ้นอยู่กับอาณาจักรนครศรีธรรมราช หรือ "ตามพรลิงค์" ซึ่งอาณาจักรเขตกว้างขวางทั้งสองฟากฝั่งทะเล ดังนี้
"ทิศเหนือจดเมืองมลิวัลย์ในจังหวัดมะริดของประเทศพม่าและจังหวัดชุมพร
ทิศตะวันออก จดทะเลอ่าวไทย
ทิศตะวันตก จดช่องมะละกาและทะเลอันดามัน
ทิศใต้จดเมืองปัตตานี (ลังกาสุกะ) และเมืองไทรบุรี (เกดาห์)"
อาณาเขตของนครศรีธรรมราชนี้ไม่แน่นอนตายตัว เปลี่ยนแปลงไปตามยุคตามสมัย บทบาททางการเมืองของกระบี่ในยุคกรุงศรีอยุธยานั้นไม่มี เพราะจะเป็นบทบาทของเมืองนครศรีธรรมราชในสมัยพระรามาธิบดี ที่ ๑ นครศรีธรรมราชอยู่ในฐานะ "เมืองประเทศราช" หรือ "เมืองพระยามหานคร" ต้องส่งเครื่องราชบรรณาการไปยังกรุงศรีอยุธยา ประชากรของหัวเมืองปักษ์ใต้ครั้งนั้นก็คงจะไม่มากมายนักเพราะปรากฏว่าในสมัยพระราเมศวรได้มีการกวาดต้อนครัวเรือนทางเชียงใหม่มาไว้ที่เมืองนครศรีธรรมราชและหัวเมืองใกล้เคียง
ในสมัยพระบรมไตรโลกนาถ นครศรีธรรมราชได้เปลี่ยนฐานะจากหัวเมืองพระยามหานครมาเป็นหัวเมืองเอก ให้เจ้าเมืองได้รับบรรดาศักดิ์เป็นเจ้าพระยานครศรีธรรมราช จากความไม่สงบทางการเมืองทำให้เมืองนครศรีธรรมราชเป็นกบฏต่อกรุงศรีอยุธยา ๒ ครั้ง คือ ในสมัยพระเจ้าปราสาททองและสมัยพระเพทราชาเมื่อทางอยุธยาปราบนครศรีธรรมราชได้ก็ไม่สู้จะวางใจเมืองนครมากนัก เจ้าเมืองนครจึงถูกลดฐานะลงมาเป็น "ผู้รั้งเมือง" อยู่ระยะหนึ่ง ต่อมาสมัยพระเจ้าบรมโกษฐ์ทรงเล็งเห็นว่าเมืองนครเป็นเมืองใหญ่ที่มีบทบาทควบคุมหัวเมืองทางปักษ์ใต้อยู่ เห็นควรแต่งตั้งระหว่างเมืองนครกับกรุงศรีอยุธยามาสิ้นสุดลงเมื่อเสียกรุงครั้งที่ ๒ เจ้าเมืองนครก็ตั้งตัวเป็นใหญ่ในนาม "ชุมนุม เจ้านครศรีธรรมราช"
เมืองกระบี่ในยุคนี้เป็นเพียงชุมชนเล็กๆ ที่มีประชาชนอาศัยอยู่กระจัดกระจายทั่วไป พื้นที่ส่วนใหญ่ยังเป็นป่าดงที่เต็มไปด้วยสิงสาราสัตว์อยู่มากมาย รวมอยู่ในอาณาเขตเมืองนครศรีธรรมราช
สมัยกรุงธนบุรี
เมื่อพระเจ้ากรุงธนบุรีกู้อิสรภาพและตั้งกรุงธนบุรีเป็นเมืองหลวงแล้ว ได้ยกทัพไปปราบปรามชุมนุมต่างๆ ทั้งตั้งตัวเป็นใหญ่ และโปรดเกล้าฯ ให้พระยาจักรี (แขก), พระยายมราช, พระยาศรีพิพัฒน์, พระยาเพชรบุรี ยกทัพมาตีชุมนุมเจ้านครด้วยเกรงว่าจะเกิดความยุ่งยากภายหลัง เพราะภาคใต้พรักพร้อมไปด้วยผู้คนและเสบียงอาหาร และอาณาเขตติดทะเลพอจะหาอาวุธได้ง่าย เมื่อปราบเมืองนครได้แล้วโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าหลานเธอเจ้านราสุริวงค์มาครองตำแหน่งและยกฐานะเมืองนครเป็นประเทศราชมีอำนาจปกครองหัวเมืองมลายูและหัวเมืองชายทะเลหน้านอกทั้งหมด
เมื่อเจ้านราสุริวงค์ถึงแก่พิลาลัยแล้ว พระเจ้ากรุงธนจึงแต่งตั้งให้เจ้าพระยานคร (หนู) ซึ่งเข้ามารับราชการในกรุงธนบุรีให้ไปครองนครตามเดิม ความสัมพันธ์ระหว่างเมืองนครกับกรุงธนบุรีเป็นไปอย่างราบรื่นจนสิ้นสมัย
กระบี่ในสมัยนี้ก็ยังเป็นชุมนุมย่อยๆ อยู่เช่นเดิมผนวกอยู่กับเมืองนครศรีธรรมราชตลอดมา เมืองกระบี่ที่มีอาณาเขตเป็นของตนเองจริงๆ ก็ในราวสมัยพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ที่ชุมชนแห่งนี้มี ผู้คนเข้ามาอาศัยมากขึ้นและกลายเป็นแขวงเมืองปกาสัย ดังจะได้กล่าวต่อไป
กระบี่สมัยกรุงรัตนโกสินทร์
แขวงเมืองปกาไส
ตามประวัติกล่าวว่าเมืองกระบี่แต่เดิมเรียกว่า "เมืองกาไส" หรือ "แขวงเมืองปกาไส" ขึ้นต่อเมืองนครศรีธรรมราช แขวงเมืองปกาไสนี้เกิดเป็นชุมชนขึ้นจากเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช โปรดให้พระปลัดเมืองมาตั้งเพนียดจับช้างเพื่อส่งไปเมืองนคร กระบี่ในสมัยนั้นคงจะเต็มไปด้วยป่าทึกอุดมไปด้วยสัตว์ป่านานาชนิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งช้างซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมาก ช้างนอกจากจะจับมาเพื่อใช้งานแล้วยังส่งไปจำหน่ายต่างประเทศอีกด้วย ท่าเรือที่สำคัญในการส่งช้างไปขายต่างประเทศ ได้แก่ เมืองตรัง
นายมานิต วัลลิโภดม กล่าวถึงเส้นทางสายนี้ไว้ว่า "เรือสินค้าย่อมขึ้นล่องตามลำน้ำถึงเมืองตรังยุคแรกหรือยุคกรุงธานีได้สะดวกสบาย จากนั้นขนถ่ายสินค้าขึ้นบกแล้วลำเลียงไปด้วยกำลังสัตว์ เช่น ช้าง หรือล้อเลื่อนเดินทางไปยังหมู่บ้าน (ทะ) เล ในอำเภอทุ่งสง แล้วขนถ่ายลงเรือที่คลองสินปูนล่องเข้าแม่น้ำหลวงไปยังอ่าวบ้านดอน นำขึ้นบรรทุกเรือสำเภาที่ค้าขายทางทะเลจีนและโดยทำนองเดียวกันขนถ่ายจากอ่าวบ้านดอนไปปากน้ำตรังทางมหาสมุทรอินเดีย หากไม่ลงเรือที่คลองสินปูนจะลำเลียงทางบกผ่านทุ่งสง - ร่อนพิบูลย์ ไปชายฝั่ง เปริเมาลาอันภายหลังต่อมาเป็นที่ตั้งเมืองนครศรีธรรมราชก็ได้ ทางสายนี้ข้าพเจ้าเรียกว่า "เส้นทางเจ้าพระยานครค้าช้าง" ก็เป็นที่รู้จักกันดี…"
เส้นทางอีกสายหนึ่งที่เชื่อกันว่าเป็นทางค้าขายโบราณ ได้แก่ บริเวณอำเภออ่าวลึกไปออกแม่น้ำตาปีได้เช่นกัน ทางนี้แต่เดิมเรียกกันว่า "ปากพนม" ท้องที่ปากพนมนั้น ในหนังสือประชุมพงศาวดาร เล่ม ๒ กล่าวว่า
"ท้องที่ปากพนมข้างฝ่ายใต้ลงไปต่อกับเมืองกาญจนดิฐเทียมคลองบางจาก ปากคลองบางจากลงไปข้างใต้น้ำเป็นที่เมืองกาญจนดิฐ อำเภอขวัญ คลองบางจากระยะกับบ้านวังตาขุนไปหน่อยหนึ่งฝ่ายข้างเหนือน้ำตามลำคลองศกขึ้นไปเพียงคลองขนายฤาษี ปลายคลองขนายฤาษีไปจดภูเขาศก ปลายภูเขาศกข้างหัวนอนเป็นที่เมืองตะกั่วป่า อำเภอขุนภักดีคงคา ปากภูเขาศกข้างใต้สตีนเป็น ที่พนม.."
บริเวณดังกล่าวนี้เป็นส่วนหนึ่งของอำเภอปากลาว จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งต่อมาเมื่อมีการปักปันเขตจังหวัดเป็นที่แน่นอนภายหลังได้รวมเอาท้องที่ปากลาวบางส่วนมาขึ้นกับจังหวัดกระบี่ คือ อำเภออ่าวลึกและอำเภอปลายพระยาในปัจจุบัน แต่เดิมเรือที่แล่นจะมาจอดที่บ้านปากลาว แล้วตรงไปยังบ้านปากพนมซึ่งเป็นจุดรวมของคลอง ๒ สาย คือ คลองลึกและคลองพนม ข้ามลำคลองผ่านไปหลายตำบลล่องไปตามแม่น้ำพุมดวงไปออกแม่น้ำตาปีที่อ่าวบ้านดอน เส้นทางตัดข้ามแหลมมลายูสายนี้อาจเดินบกได้โดยสะดวกตลอด เพราะเป็นเส้นทางเดินกันมาก่อน การเดินทัพข้ามแหลมและการเดินทางไปตรวจราชการหัวเมืองฝ่ายใต้ของเจ้านายฝ่ายปกครองสมัยก่อนก็ใช้เส้นทางนี้
สำหรับเจ้าพระยานครที่มีชื่อเสียงมากในเรื่องการปกครอง การทูตและการค้าของเมืองนครนั้น ได้แก่ เจ้าพระยานครศรีธรรมราช (น้อย) ซึ่งปกครองเมืองนครประมาณปี พ.ศ.๒๓๕๔ ตรงกับสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย สันนิษฐานว่าชุมชนของพระปลัดเมืองที่มาตั้งเพนียดจับช้างคงจะเกิดขึ้นในช่วงระยะนี้ กิจการค้าช้างของเจ้าพระยานครฯ คงจะก้าวหน้ามาก เพราะสามารถต่อเรือขนาดใหญ่ได้ ตามประวัติกล่าวว่า
"เจ้าพระยานครศรีธรรมราช (น้อย) มีความเชี่ยวชาญในการต่อเรือมาก คือ ได้ต่อเรือกำปั่นหลวงสำหรับบรรทุกช้างไปขายต่างประเทศ ทำให้ประเทศชาติมีรายได้มาก และที่สำคัญคือ ได้ต่อเรือรบขนาดย่อมไปจนถึงเรือรบขนาดใหญ่ที่ต้องใช้กรรเชียง ๒ ชั้น เรือรบที่ต่อก็มีขนาดใหญ่กว่าที่เคยปรากฏมาก่อน เจ้าพระยานคร (น้อย) ได้ต่อเรือรบและเรือลาดตระเวนเหล่านี้ที่เมืองตรังและเมืองสตูลเมื่อ พ.ศ.๒๓๕๒ - ๒๓๕๔ ครั้งหนึ่ง อีกครั้งหนึ่งใน พ.ศ.๒๓๖๔ - ๒๓๖๖ ได้ต่อเรือรบถึง ๑๕๐ ลำ.."
คณะของพระปลัดได้มาตั้งเพนียดจับช้างอยู่เป็นเวลานาน ผู้คนก็อพยพตามเข้าไปตั้งหลักแหล่งหักร้างถางพงมากขึ้นจนกลายเป็นชุมชนใหญ่ ซึ่งต่อมาได้ยกฐานะขึ้นเมืองน้อยๆ เรียกว่า "แขวงเมืองกาไส" หรือ "ปกาไส"
จากปกาไสถึงกระบี่
ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๑๕ ตรงกับสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพิจารณาเห็นว่าแขวงเมืองปกาไสมีผู้คนมากขึ้น มีความเจริญพอสมควรที่จะยกฐานะเป็นเมืองได้ จึงโปรดฯ ให้ยกเป็นเมืองหรือจังหวัด ชื่อว่า "กระบี่" ในครั้งแรกมี ๔ อำเภอ คือ
๑. อำเภอปากลาว (เดิมขึ้นอยู่กับจังหวัดสุราษฎร์ธานี ปัจจุบันอยู่ในเขตตำบลนาเหนือ
อำเภออ่าวลึก)
๒. อำเภอคลองพน
๓. อำเภอเกาะลันตา
๔. อำเภอเมือง
ซึ่งอำเภอนี้ต่อมาได้เปลี่ยนแปลงอีกครั้งหนึ่ง คือ จากอำเภอปากลาว เป็นอำเภออ่าวลึก จากอำเภอคลองพนเป็นอำเภอคลองท่อม ตั้งศาลากลางซึ่งเป็นที่ทำการรัฐบาลที่บ้านตลาดเก่า ตำบลกระบี่ใหญ่ แต่โดยฐานะของเมืองยังคงเป็นเมืองออกขึ้นอยู่กับเมืองนครศรีธรรมราช โดยมีหลวงเทพเสนาเป็น เจ้าเมืองคนแรก ต่อมาอีก ๓ ปี คือ พ.ศ.๒๔๑๘ โปรดฯ ให้เมืองกระบี่เป็นเมืองจัตวาขึ้นตรงต่อกรุงเทพมหานคร
ในปี พ.ศ.๒๔๔๓ พระยาคงคาธาราธิบดี ครั้งยังมีบรรดาศักดิ์เป็น "พระพนธิพยุหสงคราม" ได้ย้ายเมืองมาตั้ง ณ ตำบลปากน้ำ คือ ตัวจังหวัดในปัจจุบัน ความเจริญเติบโตของเมืองเป็นไปอย่างล่าช้ามาก จะเป็นด้วยมีทรัพยากรน้อยไปก็เป็นได้ สมเด็จพระมหาธีรราชเจ้าได้ทรงพระราชนิพนธ์ไว้ในจดหมายเหตุเมื่อคราวเสด็จประพาสเมืองกระบี่ เมื่อ พ.ศ.๒๔๕๒ ตอนหนึ่งว่า
"ครั้นเวลา ๔ โมงเศษ เรือทอดสมอที่หน้าจวน พระแก้วโกรพ ผู้ว่าราชการเมืองกระบี่ได้ลงไปเฝ้าในเรือ เชิญเสด็จขึ้นบก เสด็จไปขึ้นที่ตะพานเจ้าฟ้า ซึ่งสมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนลพบุรีราเมศวร์ได้ประทานนามไว้ข้าราชการเฝ้าแล้ว ได้เลยเสด็จทอดพระเนตรสถานที่ราชการต่างๆ ซึ่งทำเป็นที่ใช้ ชั่วคราวทั้งสิ้น เรือนจำตามบรรดาที่เคยเห็นมาแล้วยังไม่เห็นแห่งใดที่รูปร่างเป็นคุกน้อยเท่าเรือนจำที่เมืองกระบี่นี้เลย อย่าว่าแต่กำแพงแม้แต่รั้วก็ไม่มีล้อม แต่ถึงเช่นนั้นก็เห็นจะไม่ทำให้ผู้ที่ต้องไปถูกขังอยู่ในนั้นรู้สึกเป็นคุกน้อยลงเลย ที่ตั้งเมืองอยู่เดี๋ยวนี้เรียกว่า ตำบลบ้านปากน้ำ เมืองอยู่บนเนินริมน้ำ ที่อยู่ข้างจะแจ้งอยู่สักหน่อย ตลาดก็เหี่ยวเหลือที่จะเหี่ยว…"
คำว่า "กระบี่"
ตราประจำจังหวัดของกระบี่เป็นรูปภูเขาและมีดาบไขว้ ตามความหมาย "กระบี่" คือ ดาบ แต่อย่างไรก็ตามชื่อบ้านนามเมืองเกือบทุกแห่งมักจะมีแหล่งที่มา หรือไม่ก็มักจะมีนิทานปรัมปราของพื้นเมืองเข้ามาประกอบอยู่เสมอ ผู้แต่งอาจจะแต่งขึ้นภายหลังเพื่อให้สอดคล้องกับสถานที่ก็เป็นได้ สำหรับสถานที่ในจังหวัดกระบี่ก็มีตำนานเก่าเล่ากันอยู่มากมาย จึงของยกเอานิทานท้องถิ่นที่มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับชื่อกระบี่มาบันทึกลงไว้สัก ๒ เรื่อง ดังนี้
ตำนานอ่าวพระนาง
กาลครั้งหนึ่งยังมีหมู่บ้านใหญ่ ๒ หมู่บ้าน ตั้งอยู่ริมฝั่งทะเล บ้านหนึ่งมีหัวหน้าชื่อ ตายมดึง เมียชื่อ ยายรำพึง อีกบ้านหนึ่งหัวหน้าชื่อ ตาวาปราบ เมียชื่อ บามัย มีลูกชายชื่อ "บุญ" ทั้งสองหมู่บ้านเป็นอริต่อกัน ยายรำพึงนั้นอยากจะได้ลูกสาวไว้เชยชมสักคนหนึ่ง จึงไปบนบานศาลกล่าว ร้อนถึงพญานาคผู้เป็นเจ้ารักษาทองทะเลมาบันดาลให้ยายรำพึงมีลูกสาวได้สมปรารถนา แต่มีข้อแม้ว่าเมื่อนางเป็นสาวแล้วจะต้องให้แต่งงานกับลูกชายของตนซึ่งมักแปลงกายเป็นมนุษย์ขึ้นมาท่องเที่ยวอยู่เสมอ สองตายายก็รับสัญญา หลังจากนั้นไม่นานยายรำพึง ก็ได้ลูกสาวสมใจให้ชื่อว่า "นาง" ต่อมาเมื่อลูกๆ โตขึ้นเป็นหนุ่มสาว บุญซึ่งเป็นลูกชายของตาวาปราบก็ไปรักชอบกับ "นาง" อ้อนวอนให้ตาวาปราบไปขอคืนดีกับตายมดึง และขอให้ "นาง" ได้แต่งงานกับ "บุญ" ด้วยความรักลูก ตาวาปราบยอมลดทิฐิไปขอนาง ลูกสาวตายมดึง ฝ่ายตายมดึงก็อยากจะให้ลูกสาวแต่งงานเป็นฝั่งเป็นฝาไปเสียที จึงตกลงยกลูกสาวให้ โดยลืมสัญญาที่ให้ไว้กับพญานาค
เมื่อวันแต่งงานมาถึงฝ่ายเจ้าบ่าวก็จัดกระบวนขันหมากยาวเหยียดมาทางชายทะเล นำโดยตาวาปราบสะพายดาบไว้บนบ่าทั้งซ้ายขวาเล่มหนึ่งใหญ่เล่มหนึ่งเล็ก ในขณะที่งานกำลังดำเนินไปด้วยความสนุกสนานนั้น เหตุการณ์ที่ไม่มีใครคาดคิดก็เกิดขึ้น พญานาคที่แปลงกายมาเป็นมนุษย์ก็เข้าแย่งชิงเจ้าสาว เกิดวิวาทฆ่าฟันกันขึ้น ตายมดึงเห็นท่าไม่ดีก็พานางหนีไป ตาวาปราบเห็นเข้าก็โกรธ จึงดึงดาบเล่มใหญ่ขว้างไปหมายจะฆ่าตายมดึงแต่ไม่ถูก ดาบไปตกอยู่ ณ ที่แห่งหนึ่งจึงดึงดาบเล่มเล็กขว้างไปอีก ปรากฏว่าพลาดไปตกอยู่ในที่อีกแห่งหนึ่ง
หลังจากที่มีการฆ่าฟันกันอย่างดุเดือดนั้น ร้อนถึงพระฤาษีซึ่งบำเพ็ญตบะอยู่ในถ้ำออกมาห้ามปรามแต่ไม่มีใครเชื่อฟังพระฤาษีโกรธมาก จึงสาปให้ทุกสิ่งทุกอย่างกลายเป็นหิน ไม่ว่าจะเป็นผู้คน เครื่องใช้ บ้านเรือนก็กลายเป็นภูเขา เป็นถ้ำ เป็นเกาะแก่งในทะเลทั้งสิ้น เช่น บ้านเจ้าสาวกลายเป็น ภูเขาที่อ่าวพระนาง เรือนหอกลายเป็นถ้ำ เรียกว่า ถ้ำพระนาง ข้าวเหนียวกวนที่นำมาเลี้ยงกันหกเรี่ยราดกลายเป็นเปลือกหอยทับถมในทะเลต่อมากลายเป็น สุสานหอย ฝ่ายพญานาคพยายามกระเสือกกระสนลงทะเลแต่ไปไม่ถึงกลายเป็นหินทางด้านเหนือชาวบ้านเรียกว่า หงอนนาค บริเวณที่พญานาคกลิ้งเกลือกกลายเป็นหนองน้ำขนาดใหญ่ ชาวบ้านเรียกว่าหนองทะเล
นับจากนั้นเนิ่นนานเมื่อชาวบ้านมาตั้งถิ่นฐานเป็นแขวงเมืองปกาสัย สร้างบ้านแปลงเมืองเป็นชุมชนใหญ่ขึ้น ชาวบ้านได้ขุดพบดาบโบราณใหญ่เล่มหนึ่งและนำมามอบให้เจ้าเมือง ต่อมาไม่นานชาวบ้านอีกแห่งหนึ่งก็ขุดพบดาบเล่มเล็กได้นำมามอบให้เจ้าเมืองเช่นเดียวกัน เจ้าเมืองพิจารณาเห็นว่าเป็นดาบสำคัญสมควรที่จะเก็บไว้คู่บ้านคู่เมือง ขณะนั้นยังสร้างเมืองไม่เสร็จเรียบร้อย จึงนำดาบทั้งคู่ไปเก็บไว้ที่ถ้ำเขาขนาบน้ำหน้าเมือง โดยเอาวางไขว้กันไว้ลักษณะนี้ จึงเป็นสัญลักษณ์ของตราประจำเมืองมาจนทุกวันนี้
ตำนานอ่าวพระนางมีเล่าแตกต่างไปจากนี้ก็มี คือ เล่าไปในทำนองเทพนิยาย ดังนี้
ณ บริเวณอ่าวพระนางนี้มีปราสาทหลังใหญ่ตั้งตระหง่านอยู่เหนือขุนเขางดงามประหนึ่งแดนสวรรค์ ผู้ปกครองได้แก่พระนางผู้เลอโฉม จากความงามของนางนี้เองนำความกังวลใจมาสู่เทพย-ดาเกาะพีพีซึ่งเป็นพระเชษฐามากว่า จากความงามของน้องสาวอาจนำมาซึ่งอันตรายได้ จึงเตือนสติพระนางอยู่เป็นนิจ แต่นางหาได้เชื่อฟังไม่ เทพเจ้าพีพีก็เดินทางกลับไป
เมื่อเทพยดาผู้พี่กลับไปแล้ว พระนางก็นึกถึงเหตุการณ์ที่ผ่านมา เทพยดาประเด๊ะเป็น ผู้หนึ่งที่มีความเสน่หาในพระนาง ปรารถนาจะได้พระนางไปเป็นคู่ แต่นางปฏิเสธ ทำให้เทพยดาประเด๊ะโกรธมาก และลั่นวาจาไว้ว่า ถ้าพระนางไม่รักเราก็จะรักใครไม่ได้เช่นกัน เราจะฆ่าทุกคนที่ได้พระนางไป ท่านประเด๊ะกลับไปพร้อมกับพระนางคิดไปถึงเทพยดาเกาะปูที่ต้องการซื้อความรักจากพระนางด้วยทรัพย์สมบัติมหาศาล แต่พระนางปฏิเสธไปอีกราย และแล้ววันหนึ่งเทพยดาเกาะหัวขวานก็มาเยือน พร้อมกับเจ้งความประสงค์ว่า เขาก็มีความต้องการพระนางเช่นเดียวกัน พร้อมกับยื่นคำขาดว่า ถ้าเขาต้องการสิ่งใดจะต้องได้ พระนางปฏิเสธทำให้เทพยดาหัวขวานโกรธมาก ตรงเข้ายื้อยุดฉุดพระนางจะเอาไปให้จงได้ ในขณะนั้นเอง เทพยดาเกาะนางนาคก็ปรากฏตัวขึ้นตรงเข้าขัดขวางและต่อสู้กันขึ้น ในที่สุดท่านหัวขวานก็พ่ายแพ้ไป จากความหวังดีของเทพยดาเกาะนางนาคนี่เองทำให้พระนางไม่สามารถปฏิเสธได้เหมือนรายอื่นๆ ดังนั้น ในโอกาสต่อมาสำเภาขบวนขันหมากจากเกาะนางนาคก็เดินทางมุ่งมายังปราสาทของพระนางแต่ในขณะเดียวกันสำเภาจากเทพยดาผู้ผิดหวังทั้งสามก็มุ่งหน้ามาด้วยในทิศทางอันเดียวกันเข้าสกัดทำลายสำเภาขันหมาก จึงเกิดการต่อสู้กันอย่างดุเดือด เบื้องหลังการต่อสู้ครั้งนี้ปรากฏว่าทุกสิ่งทุกอย่างพินาศลงโดยสิ้นเชิง ทะเลอ่าวพระนางแดงฉานไปด้วยเลือด น้ำพัดพาเอาร่างเทพยดาทั้ง ๔ ไปใกล้ปราสาทที่อยู่ของพระนางได้กลายเป็นเกาะเล็กเกาะน้อยล้อมอ่าวไว้ เครื่องขันหมากน้ำได้พัดพาไปเกิดเป็นเกาะขันหมาก ฝ่ายพระนางเมื่อสูญสิ้นทุกสิ่งทุกอย่างไปแล้ว ก็กลั้นใจตายกลายเป็นอ่าว ปราสาทของพระนางก็กลายเป็นถ้ำพระนาง ส่วนเทพยดาพีพีก็เกิดความเสียใจที่เหตุการณ์มาลงเอยเช่นนี้ น้องสาวก็สิ้นชีวิตลงก็เลยกลั้นใจตายตามไปอีกคน กลายเป็นเกาะพีพีซึ่งอยู่ไม่ห่างไกลมากนัก
ตำนานเขาขนาบน้ำ กาลครั้งหนึ่ง ณ เมืองแห่งหนึ่ง เจ้าเมืองมีธิดาสาวผู้โฉมงามเป็นที่หมายปองของบรรดาหนุ่มๆ ทั้งหลายทุกชาติทุกภาษา และแล้ววันหนึ่งเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น เมื่อชายหนุ่มมนุษย์และยักษ์ผู้หลงใหลในธิดาเจ้าเมืองเกิดมาประจันหน้ากัน ทั้งๆ ที่อยู่คนละฝั่งแม่น้ำ แต่ทั้งสองฝ่ายต่างก็สำแดงฤทธิ์เดชเข้าห้ำหั่นกัน แต่ในที่สุดก็ไม่มีใครที่ได้ธิดาเจ้าเมืองไปครอง ในขณะที่ทั้งสองฝ่ายขว้างอาวุธคือ กระบี่เข้าหากันและทั้งสองฝ่ายต่างก็ถูกอาวุธด้วยกันทั้งคู่ ดาบของยักษ์ซึ่งโตมากก็ตกอยู่ ณ ที่ต่อสู้ ส่วนดาบของมนุษย์ซึ่งเล็กกว่าได้ปลิวไปตกยังอีกตำบลหนึ่ง ศพของทั้งสองได้กลายเป็นหินอยู่คนละฝั่งน้ำ คือ เขาขนาบน้ำในปัจจุบัน สถานที่ดาบเล่มโตตกอยู่คือ ตำบลกระบี่ใหญ่ สถานที่ดาบเล่มเล็กปลิวไปตกอยู่ คือ ตำบลกระบี่น้อยนั่นเอง
สำหรับคำว่า "กระบี่" มีผู้ให้ความเห็นแตกต่างกันไปหลายนัย ซึ่งพอจะสรุปได้ดังนี้
ประมาณปี พ.ศ. ๒๔๑๕ ชาวบ้านได้ขุดพบกระบี่โบราณที่บ้านนาหลวง ตำบลปกาสัย หลวงเทพเสนาซึ่งเป็นเจ้าเมืองในขณะนั้นได้นำทูลเกล้าถวายสมเด็จพระปิยมหาราชเจ้า และทรงพอพระราชหฤทัยมาก เมื่อยกฐานะแขวงเมืองปกาสัยขึ้นเป็นเมืองแล้ว จึงพระราชทานนามเมืองนี้ว่า "เมืองกระบี่" คุณเยี่ยมยง สังขยุทธ์ สุรกิจบรรหาร ผู้สนใจทางโบราณคดีเมืองใต้ก็ให้ความเห็นว่า แขวงเมืองปากาไสนี้ในตำนานพระบรมธาตุนครศรีธรรมราช ว่า "เมืองไส" ก็เรียก คงคัดลอกตก "ปากา" ไป และคำว่า "ปากาไส" ก็แปลว่า เมืองกระบี่ คำว่า "ปากา" แปลว่า กระบี่ คือ ดาบ บ้างก็ว่าคำว่า "กระบี่" มาจากภาษามลายู ซึ่งเป็นชื่อต้นไม้ชนิดหนึ่ง คือ "ต้นหลุมพี" มลายูเรียกว่า "กะลูบี" หรือ "คอโลบี" หรือ "กะรอบี" ต้นหลุ่มพีเป็นพืชในตระกูลสละหรือระกำ ซึ่งมีอยู่มากในอาณาเขตจังหวัดนี้ และในจังหวัดกระบี่ก็มีชาวไทยมุสลิมอาศัยอยู่จำนวนมากเช่นเดียวกัน ชื่อหมู่บ้าน ตำบลอีกหลายแห่งยังคงเป็นภาษามลายู ภายหลังก็เพี้ยนมาเป็น "กระบี่" บางท่านก็ว่า คำว่า "กระบี่" เกิดจากการผิดเพี้ยนของตัวเขียนว่า "กระบี่น่าจะมาจากคำว่า "กระบือ" เพราะว่าแต่เดิมนั้น การสะกดกระบือเขาเขียนว่า "กระบื" ไม่มีตัว ออ.ตาม เมื่อเขียนไปนานๆ เข้าก็กลายเป็น "กระบี่" ได้ เนื่องจากคนในสมัยก่อนนั้นยังมีการพัฒนาด้านการเขียนน้อยอยู่ ทั้งนี้ เพราะในเขตที่เป็นจังหวัดกระบี่มีกระบือมากจนเป็นที่นิยมของจังหวัดใกล้เคียงที่จะมาซื้อกระบือจากจังหวัดกระบี่ ในปัจจุบันกระบือก็ยังมีสถิติสูง (ปี ๒๕๑๙ มีประมาณ ๒๕,๘๐๗ ตัว) จึงเข้าใจว่าที่ได้ตั้งชื่อจังหวัดกระบี่ น่าจะมาจากคำว่า "กระบื" ก็ได้…"
เรื่องกระบือมีมากในจังหวัดกระบี่นั้นเห็นจะเป็นความจริง เคยปรากฏว่าเมื่อคราวที่สร้างวัดแก้วโกรวารามเสร็จแล้วไม่นาน จะหาพระภิกษุมาดำรงตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดมิได้ เพราะสภาพความเป็นอยู่ลำบากมาก ในที่สุดทางจังหวัดได้นิมนต์พระครูธรรมวุธวิศิษฐ์จากจังหวัดภูเก็ตมาเป็นเจ้าคณะจังหวัด โดยจังหวัดได้จัดนิตยภัตรถวายเป็นพิเศษเดือนละ ๓๐ บาท ถวายข้าวสารเดือนละ ๑ กระสอบ น้ำมันก๊าดเดือนละ ๑ ปีบ ปลาแห้ง ปลาเค็ม เดือนละ ๑ กระสอบ โดยผู้ว่าราชการจังหวัดได้โอนเงินค่าทำตั๋วกระบือมาใช้ในการนี้ทั้งได้จัดสร้างเกวียนและกระบือให้วัดด้วยเพื่อใช้บรรทุกของเหล่านี้จากศาลากลางจังหวัดมาวัดทุกๆ เดือน ต่อมาปลายปี ๒๔๗๕ พระทวีธุระประศาสตร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดคนที่ ๑๑ ได้พิจารณาว่า การนำเงินภาษีอากรค่าตั๋วกระบือไปบำรุงวัดนั้นทำให้สะพานกระบือชำรุด ไม่มีเงินบูรณะซ่อมแซม จึงโอนเงินนี้กลับมาบำรุงสะพานกระบือเสีย
คำว่า "กระบี่" มีคำแปลอีกอย่างที่น่าสนใจคือ ในความหมายที่แปลว่า "ลิง" ถ้าหากว่า ดินแดนเมืองกระบี่ก่อนแขวงเมืองปกาไสเป็นที่ตั้งของเมืองในนาม "เมืองบันไทยเสมอ" ๑ ใน ๑๒ เมืองนักษัตรขึ้นต่อเมืองนครศรีธรรมราชจริงแล้ว เมืองบันไทยสมอใช้ตราลิงเป็นตราประจำเมือง โดยถือเอาความหมายแห่งเมืองหน้าด่านปราการ เพราะลิงในสมัยก่อนถือกันว่ามีความองอาจกล้าหาญเทียบเท่าทหารกองหน้า เช่น บรรดาลิงแห่งกองทัพพระราม เป็นต้น และในสภาพความเป็นจริงของเมืองกระบี่เมื่อไม่กี่ปีมานี้ ถ้าสืบถามคนเฒ่าคนแก่ของเมืองนี้ดู ก็ได้ความว่าลิงอยู่มากจริง แม้แต่บริเวณเกาะกลางหน้าเมืองกระบี่ก็เพิ่งจะหมดไปเมื่อไม่กี่ปีนี้เอง แต่ปัจจุบันนี้เราแปลงความหมายของ "กระบี่" ว่า "ดาบ" ตามตราประจำจังหวัด
การจัดรูปการปกครองตามระบอบมณฑลเทศาภิบาล
การเทศาภิบาล เป็นระบบการปกครองอันสำคัญที่สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงนำมาใช้ปรับปรุงระเบียบบริหารราชการแผ่นดินในส่วนภูมิภาค โดยจัดส่งข้าราชการจากส่วนกลางออกไปบริหารราชการในท้องถิ่นต่างๆ เป็นการรวมอำนาจเข้ามาไว้ส่วนกลาง ทำให้ระบบการปกครองแบบประเพณีระบบกินเมืองที่ปฏิบัติมาแต่เดิมหมดไป
การปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาล คือ การรวมจังหวัดตั้งแต่ ๒ จังหวัดขึ้นไป โดยถือเอาความสะดวกในการปกครองตรวจตราบัญชาการของสมุหเทศาภิบาล ซึ่งเป็นข้าราชการชั้นสูงเป็นผู้บังคับบัญชา ต่างพระเนตรพระกรรณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นการแบ่งภาระของรัฐบาลกลางในส่วนภูมิภาคจึงแบ่งส่วนราชการปกครองเป็นมณฑล จังหวัด อำเภอ ตำบลและหมู่บ้าน ให้เป็นส่วนสัดอันนำมาซึ่งความเป็นระเบียบเรียบร้อยที่จะบำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่อาณาประชาราษฎร์
สมุหเทศาภิบาลมีหน้าที่รับข้อเสนอและสั่งราชการแก่ผู้ว่าราชการจังหวัด ถ้าหากว่าเป็นเรื่องที่เกินอำนาจก็จะเสนอเข้าไปยังส่วนกลางอีกครั้งหนึ่ง ระบบการปกครองแบบนี้จึงเป็นการรวมอำนาจไปไว้ส่วนกลาง การจัดระบบการปกครองแบบนี้ได้เริ่มมาตั้งแต่ ปี ๒๔๓๗ แต่ความจริงแล้ว การจัดระเบียบการปกครองแบบเทศาภิบาลนี้ได้มีการรวมหัวเมืองเข้าเป็นมณฑลมาก่อนเหมือนกัน ราว พ.ศ. ๒๔๓๕ แต่มิได้มีฐานะเหมือนมณฑลเทศาภิบาลแท้จริงมีอยู่ ๖ มณฑล คือ
๑. มณฑลลาวเฉียง ๒. มณฑลลาวพวน
๓. มณฑลลาวกาว ๔. มณฑลเขมร
๕. มณฑลลาวกลาง ๖. มณฑลภูเก็ต
พ.ศ. ๒๔๓๗ ได้จัดตั้งมณฑลเทศาภิบาลขึ้นใหม่ ๓ มณฑล และแก้ไขระเบียบการปกครองที่มีอยู่ก่อนแล้ว ๑ มณฑล คือ
๑. มณฑลพิษณุโลก ๒. มณฑลปราจีน
๓. มณฑลราชบุรี ๔. มณฑลนครราชสีมา (เดิมคือ มณฑลลาวกลาง)
พ.ศ. ๒๔๓๘ ได้ตั้งมณฑลขึ้นใหม่อีก ๓ มณฑล แก้ไขระเบียบการปกครองที่มีอยู่ก่อนแล้ว ๑ มณฑล คือ
๑. มณฑลนครชัยศรี ๒. มณฑลนครสวรรค์
๓. มณฑลกรุงเก่า (ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็นมณฑลอยุธยา) ๔. มณฑลภูเก็ต
พ.ศ.๒๔๓๙ จัดตั้งใหม่ ๒ มณฑล และแก้ไขระเบียบการปกครองที่มีอยู่แล้ว ๑ มณฑล รวม ๓ มณฑล คือ
๑. มณฑลนครศรีธรรมราช ๒. มณฑลชุมพร
๓. มณฑลบูรพา (เดิมคือ มณฑลเขมร)
พ.ศ. ๒๔๔๐ ได้รวมหัวเมืองไทยปนมลายูฝ่ายตะวันตกและประเทศราชเข้าเป็นอีกมณฑลหนึ่ง คือ มณฑลไทรบุรี
พ.ศ. ๒๔๔๒ จัดตั้งมณฑลเพชรบูรณ์
พ.ศ. ๒๔๔๓ แก้ไขการปกครองมณฑลที่มีอยู่เดิม ๓ มณฑล คือ
๑. มณฑลพายัพ (เดิม คือ มณฑลลาวเฉียง)
๒. มณฑลอีสาน (เดิม คือ มณฑลลาวกาว)
๓. มณฑลอุดร (เดิม คือ มณฑลลาวพวน)
พ.ศ. ๒๔๔๙ จัดตั้ง ๒ มณฑล คือ
๑. มณฑลจันทบุรี ๒. มณฑลปัตตานี
พ.ศ.๒๔๕๕ จัดตั้งมณฑลร้อยเอ็ดและมณฑลอุบล โดยแบ่งท้องที่จากมณฑลอีสานแต่เดิม
พ.ศ.๒๔๕๘ จัดตั้งมณฑลมหาราษฎร์ โดยแบ่งท้องที่จากมณฑลพายัพแต่เดิม
การปกครองโดยลักษณะมณฑลเทศาภิบาลได้ดำเนินมาเกือบ ๒๐ ปี ได้มีการปรับปรุงระบบการปกครองอีกครั้งหนึ่ง ทั้งนี้ เนื่องจากการขยายตัวของภาวการณ์ทั้งปวงเจริญขึ้นตามลำดับ เหลือกำลังของเจ้าหน้าที่ในกระทรวงที่มีอยู่จะอำนวยผลประโยชน์ให้รวดเร็วได้ จะขยายกำลังข้าราชการก็ได้รับงบประมาณในขีดจำกัด กระทรวงมหาดไทยจึงดำเนินวิธีการรวมมณฑลที่ใกล้เคียงกันตั้งเป็นภาคขึ้น สำหรับบริหารราชการระหว่างมณฑลกับกระทรวง โดยมีข้าราชการชั้นสูงตำแหน่งอุปราชประจำภาคบัญชาการ และมักจะทรงพระกรุณาแต่งตั้งสมุหเทศาภิบาลที่มีความสามารถให้เป็นอุปราชอีกตำแหน่งหนึ่ง
กระทรวงมหาดไทยได้รับพระบรมราชานุญาตจัดตั้งมณฑลภาคขึ้น ดังนี้
พ.ศ. ๒๔๕๘ ตั้ง ๒ ภาค คือ
๑. ภาคพายัพ รวมมณฑลพายัพ กับ มณฑลมหาราษฎร์
๒. ภาคตะวันตก มณฑลนครชัยศรี กับ มณฑลราชบุรี
พ.ศ. ๒๔๕๙ ตั้งภาคปักษ์ใต้มีมณฑลนครศรีธรรมราช มณฑลปัตตานี มณฑลสุราษฎร์ (มณฑลชุมพรแต่เดิม)
พ.ศ. ๒๔๖๕ ตั้งมณฑลภาคอีสาน มีมณฑลอุดร มณฑลอุบล มณฑลร้อยเอ็ด
พ.ศ. ๒๔๖๙ สมัยรัชกาลที่ ๗ ได้มีประกาศกระแสพระบรมราชโองการให้ยกเลิกตำแหน่งอุปราชประจำภาคทั้งหมดเป็นสมุหเทศาภิบาลตามเดิม การปกครองก็มีเพียงชั้นมณฑลและบางมณฑลก็ถูกยกเลิกไปที่เหลือต่อมารวม ๑๐ มณฑล ก็ถูกยกเลิกโดยพระราชบัญญัติว่าด้วยระเบียบราชการบริหารแห่งราชอาณาจักรไทยในสมัย พ.ศ. ๒๔๗๖ เป็นอันหมดสมัยเทศาภิบาล
เมืองกระบี่สมัยมณฑลเทศาภิบาล
จังหวัดกระบี่ได้รวมเข้าอยู่ในมณฑลภูเก็ตซึ่งเป็นมณฑลที่รวมมาก่อน พ.ศ. ๒๔๓๗ การรวมหัวเมืองเข้าเป็นมณฑลครั้งนั้น การปกครองยังไม่เป็นรูปแบบมณฑลเทศาภิบาล เพราะอำนาจการปกครองยังขึ้นอยู่กับกระทรวงกลาโหม มีอยู่ ๖ เมืองด้วยกัน ซึ่งเรียกกันแต่เดิมว่า "หัวเมืองฝ่ายทะเลตะวันตก" คือ
๑. เมืองภูเก็ต ๒. เมืองกระบี่
๓. เมืองตรัง ๔. เมืองตะกั่วป่า
๕. เมืองพังงา ๖. เมืองระนอง
ต่อมาปี พ.ศ.๒๔๓๘ ได้แก้ไขระเบียบและลักษณะการปกครองมาเป็นมณฑลเทศาภิบาลอย่างถูกต้อง โดยหัวเมืองทั้งหมดจากกระทรวงกลาโหมมาขึ้นกระทรวงมหาดไทยในปี พ.ศ. ๒๔๓๘
พ.ศ. ๒๔๕๒ ได้มีประกาศแยกการปกครองจังหวัดสตูลมาจากมณฑลไทรบุรี ซึ่งตกไปอยู่ในอำนาจการปกครองของอังกฤษมาขึ้นกับมณฑลภูเก็ต
พ.ศ. ๒๔๖๘ ได้ประกาศโอนจังหวัดสตูลไปขึ้นกับมณฑลนครศรีธรรมราชอีกครั้งหนึ่ง ทั้งนี้เพราะการติดต่อกับมณฑลนครศรีธรรมราชสะดวกกว่า
พ.ศ. ๒๔๗๔ ได้มีประกาศยุบจังหวัดตะกั่วป่าลงเป็นอำเภอขึ้นต่อจังหวัดพังงา มณฑลภูเก็ตจึงมีเพียง ๕ เมือง คือ
๑. เมืองภูเก็ต ๒. เมืองกระบี่
๓. เมืองตรัง ๔. เมืองพังงา
๕. เมืองระนอง
สมัยที่มีการรวมมณฑลเข้าเป็นมณฑลภาคนั้น ภาคปักษ์ใต้มี ๓ มณฑล คือ มณฑลนครศรีธรรมราช มณฑลปัตตานี มณฑลสุราษฎร์ ตั้งที่บัญชาการภาคที่จังหวัดสงขลา โดยมีสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงลพบุรีราเมศว์ เป็นอุปราช แต่มณฑลภูเก็ตยังมิได้เข้ารวมกับมณฑลภาคปักษ์ใต้ จนกระทั่งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ประกาศยกเลิกระบบมณฑลภาคเสียก่อน ในปี พ.ศ. ๒๔๖๙ ดังกล่าวแล้ว
ในช่วงระยะการบริหารราชการตามระบบมณฑลเทศาภิบาลภูเก็ต มีรายนามสมุหเทศาภิ-บาล ซึ่งบัญชาการหัวเมืองในมณฑลนี้ คือ
๑. พระยาทิพโกษา (โต โชติกเสถียร)
๒. พระยาวิสูตรสาครดิฐ (สาย โชติกเสถียร)
๓. พระวรสิทธิเสวีรัตน์ (ไต้ฮัก ภัทรนาวิก)
๔. พระยารัษฎานุประดิษฐ์ (คอซิมบี๊ ณ ระนอง)
๕. พลโท พระยาวิชิตวงศ์วุฒิไกร (ม.ร.ว.สิทธิ์ สุทัศน์)
๖. พระยาสุรินทรราชา (นกยูง วิเศษกุล)
๗. หม่อมเจ้าสฤษดิเดช ชยางกูร
๘. พระยาศรีเสนา (ฮะ สมบัติศิริ)
การจัดรูปการปกครองในสมัยปัจจุบัน
การปรับปรุงระเบียบการปกครองหัวเมืองเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศมาเป็นระบอบประชาธิปไตยนั้น ปรากฏตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. ๒๔๗๖ จัดระเบียบราชการบริหารส่วนภูมิภาคออกเป็นจังหวัดและอำเภอ จังหวัดมีฐานะเป็นหน่วยบริหารราชการแผ่นดิน มีข้าหลวงประจำจังหวัดและกรมการจังหวัดเป็นผู้บริหาร เมื่อก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง นอกจากจะแบ่งเขตการปกครองออกเป็นจังหวัดและอำเภอแล้วยังแบ่งเขตการปกครองออกเป็นมณฑลอีกด้วย เมื่อได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติระเบียบราชการบริหารแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. ๒๔๗๖ จึงได้ยกเลิกมณฑลเสีย เหตุที่ยกเลิกมณฑลน่าจะเนื่องจาก
๑. การคมนาคมสื่อสารสื่อสารสะดวกรวดเร็วขึ้นกว่าแต่ก่อน สามารถที่จะสั่งการและตรวจตราสอดส่องได้ทั่วถึง
๒. เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายของประเทศให้น้อยลง
๓. เห็นว่าหน่วยมณฑลซ้อนกับหน่วยจังหวัด จังหวัดรายงานกิจการต่อมณฑล มณฑล รายงานต่อกระทรวง เป็นการชักช้าโดยไม่จำเป็น
๔. รัฐบาลในสมัยเปลี่ยนแปลงการปกครองใหม่ๆ มีนโยบายที่จะให้อำนาจแก่ส่วนภูมิภาคยิ่งขึ้นและการที่ยุบมณฑลก็เพื่อให้จังหวัดมีอำนาจนั่นเอง
ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๙๕ รัฐบาลได้ออกพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดินอีกฉบับหนึ่งในส่วนที่เกี่ยวกับจังหวัดมีหลักการเปลี่ยนแปลงจากเดิม ดังนี้
๑. จังหวัดมีฐานะเป็นนิติบุคคล แต่จังหวัดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยระเบียบบริหารแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. ๒๔๗๖ หามีฐานะเป็นนิติบุคคลไม่
๒. อำนาจบริหารในจังหวัด ซึ่งแต่เดิมตกอยู่แก่คณะบุคคล ได้แก่ คณะกรรมการจังหวัดนั้น ได้เปลี่ยนแปลงมาอยู่กับบุคคลคนเดียว คือ ผู้ว่าราชการจังหวัด
๓. ในฐานะของคณะกรรมการจังหวัด ซึ่งแต่เดิมเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินในจังหวัดได้กลายเป็นคณะเจ้าหน้าที่ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการจังหวัด
ต่อมาได้มีการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน ตามนัยประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๒๑๘ ลงวันที่ ๒๙ กันยายน ๒๕๑๕ โดยจัดระเบียบบริหารราชการส่วน ภูมิภาคเป็น
๑. จังหวัด
๒. อำเภอ
จังหวัดนั้นให้รวมท้องที่หลายๆ อำเภอขึ้นเป็นจังหวัด มีฐานะเป็นนิติบุคคล การตั้ง ยุบ และเปลี่ยนแปลงเขตจังหวัดให้ตราเป็นพระราชบัญญัติ และให้คณะกรรมการจังหวัดเป็นที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการจังหวัดในการบริหารราชการแผ่นดินในจังหวัดนั้น
*************************************************************************************************
สุด แสงวิเชียร "ความหมายของคำก่อนประวัติศาสตร์" อดีต (กรุงเทพฯ. โรงพิมพ์พิฆเณศ, ๒๕๑๗ หน้า ๓๙-๒๔๐
มานิต วัลลิโภดม, สุวรรณภูมิอยู่ที่ไหน (กรุงเทพฯ, สำนักพิมพ์การเวก ๒๕๒๑) หน้า ๓๗
มานิต วัลลิโภดม, เล่มเดิม หน้า ๓๙ - ๔๐
มานิต วัลลิโภดม, เล่มเดิม หน้า ๔๖ - ๔๗
มานิต วัลลิโภดม, เล่มเดิม หน้า ๑๐๖ - ๑๐๗
กาญจนาคพันธุ์, “ภาพยิบเซ็ดอ่าน” ภูมิศาสตร์วัดโพธิ์ (กรุงเทพฯ รวมศาสน์, ๒๕๑๖) หน้า ๔๕๑ - ๔๕๒
เก็บความจาก กาญจนาคพันธุ์, เล่มเดิม หน้า ๔๕๒ - ๔๕๔
เยี่ยมยง สังขยุทธิ์ สุรกิจบรรหาร “ชื่อบ้านและชื่อเมืองและถ้อยคำสำเนียงไทยปักษ์ใต้” “รำลึกชาติได้”
หน้า ๙๓ - ๙๔
อยู่ปลายคลองสินปุ่น อำเภอคลองท่อม จังหวัดกระบี่
ประทุม ชุ่มเพ็งพันธ์ “เมืองคลองท่อม” เมืองท่าสำคัญบนแหลมมลายู วารสารศิลปากร ฉบับที่ ๓ ปีที่ ๒๕ กรกฎาคม ๒๕๒๔ หน้า ๗๒ - ๗๓
จากบันทึกพิมพ์ดีดของท่านพระครูอาทรสังวรกิจ เจ้าอาวาสวัดคลองท่อม เรื่อง ควนลูกปัด
ประทุม ชุ่มเพ็งพันธ์ “วารสารศิลปากร” ปีที่ ๒๕ ฉบับที่ ๓ หน้า ๗๔
คำว่ามหาอาณาจักรดินแดง หรือ ตามพรลิงค์ ธรรมธาส พานิช ให้ความเห็นว่า หมายถึงคำไทยว่า “ไข่แดง” คนไทยภาคใต้ตั้งชื่อเด็กเล่นๆ ว่า นายไข่, นายไข่แดง, นายไข่ดำ, และไม่ถือว่าเป็นคำหยาบ นายไข่แดงเมื่อขึ้นเสวยราชย์จึงมีพระนามว่า “ท้าวไข่แดง” และกลายเป็นชื่อนครนี้ตั้งแต่ราว พ.ศ. ๙๐๐ - ๑๘๐๐ คือ ประมาณ พันปี
เยี่ยมยง สังขยุทธิ์ สุรกิจบรรหาร, “ชื่อบ้านชื่อเมืองและถ้อยคำสำเนียงภาษาไทยปักษ์ใต้ “รำลึกชาติได้ หน้า ๑๔๕ - ๑๔๖
ภัทรศีลสังวร, พระ รำลึกชาติได้ (พิมพ์แจกในการบำเพ็ญกุศลฉลองอายุครบ ๖๐ ปี ๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๐๖) หน้า ๔๔ - ๔๕
ประทุม ชุ่มเพ็งพันธ์ “อาณาจักรนครศรีธรรมราช” โบราณคดี ฉบับที่ ๓ ปีที่ ๖ พฤษภาคม ๒๕๑๙ หน้า ๔๗ - ๔๘
มานิต วัลลิโภดม, สุวรรณภูมิอยู่ที่ไหน หน้า ๔๘ - ๔๙
คุรุสภา, ประชุมพงศาวดาร เล่ม ๒ (กรุงเทพฯ ศึกษาภัณฑ์พาณิชย์, ๒๕๐๖) หน้า ๒๖๑
วิเชียร ณ นคร และคณะ, นครศรีธรรมราช (กรุงเทพฯ โรงพิมพ์อักษรสัมพันธ์, ๒๕๒๑) หน้า ๓๖๓ - ๓๖๔
สังเกตคำว่าปกาไส มีการเขียนลักลั่นกันหลายแบบ เป็นต้นว่า ปกาไส ปกาสัย ปากาสัย หรือ ปกาไสย นั้น เพราะผู้เขียนได้คงตัวสะกดไว้ตามต้นฉบับเดิมที่ได้คัดลอกข้อความมาทุกประการ แต่คำที่ใช้เขียนเป็นภาษาราชการในปัจจุบันนั้น สะกดว่า ปกาสัย เป็นตำบลขึ้นอยู่กับอำเภอเมืองกระบี่
อุปดิส อุคคเสโน, พระมหา “ประวัติแรกเริ่มสร้างจังหวัดกระบี่และวัดแก้วโกรวาราม” ที่ระลึกครบรอบ ๖๓ ปี นายสินธุ ประทีป ณ ถลาง ๒๒ กันยายน ๒๕๒๒ หน้า ๑๕ อ้างจดหมายเหตุประพาสหัวเมืองภาคใต้ของ ร.๕ และของ ร.๖ ครั้งดำรงพระยศเป็นพระบรมโอรสาธิราช
ศึกษานิเทศก์จังหวัดกระบี่, หน่วยเอกสารประกอบการสอนวิชาสังคมศึกษา จังหวัดกระบี่ (เอกสารโรเนียว)
ประวัติมหาดไทยส่วนภูมิภาคจังหวัดจังหวัดกระบี่. กรุงเทพ : โรงพิมพ์ ดี แอล เอส กรุงเทพฯ, ๒๕๒๘.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น